หลังจากติดตามลุ้นผลการหยั่งเสียงขั้นต้นในแต่ละรัฐมานานหลายเดือน ในที่สุด ฮิลลารี คลินตัน ตัวเต็งจากพรรคเดโมแครต ก็สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการเป็นผู้หญิงคนแรกที่สามารถคว้าโอกาสลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในนามพรรคการเมืองใหญ่ หลังจากที่เธอเก็บตัวแทนผู้ออกเสียงได้เกินครึ่งหนึ่งในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้แทนพรรคเดโมแครตในการประชุมใหญ่ของพรรคเดือนกรกฎาคม
ในการหยั่งเสียงไพรแมรีพร้อมกัน 6 รัฐเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา ปรากฏว่า คลินตัน สามารถเก็บชัยชนะได้ถึง 4 รัฐ ได้แก่ นิวเจอร์ซีย์ นิวเม็กซิโก เซาท์ดาโกตา รวมถึงรัฐใหญ่อย่างแคลิฟอร์เนีย ในขณะที่ ส.ว. เบอร์นี แซนเดอร์ส คู่แข่งของเธอ ชนะในอีก 2 รัฐที่เหลือ คือ นอร์ทดาโกตา และมอนทานา
ผลจากการหยั่งเสียง “ซูเปอร์ทิวสเดย์” ครั้งล่าสุดทำให้ คลินตัน มีชัยชนะอย่างเด็ดขาดเหนือ แซนเดอร์ส แม้ว่าอีกฝ่ายจะยังไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ง่ายๆ ก็ตาม
เมื่อ 8 ปีก่อน คลินตันเคยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้แก่ บารัค โอบามา ในศึกไพรแมรี ซึ่งครั้งนั้นเธอได้เอ่ยคำพูดอันเป็นที่กล่าวขวัญว่า เธอไม่สามารถที่จะ “ทุบเพดานกระจกซึ่งอยู่สูงที่สุดและแข็งแกร่งที่สุดให้แตกกระจายไปได้” แต่วันนี้เธอกลับมาทวงสถานะผู้แทนพรรคเดโมแครตได้สำเร็จตามที่หวัง โดยรอการโหวตรับรองอย่างเป็นทางการจากที่ประชุมใหญ่ของพรรคเท่านั้น
คลินตัน ได้ออกมาประกาศชัยชนะในค่ำคืนวันอังคาร (7) ระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยที่เขตบรุกลินในนครนิวยอร์ก หลังทราบผลการนับคะแนนว่าเธอเป็นฝ่ายชนะ ส.ว.แซนเดอร์ส ที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งทำให้จำนวนผู้แทนออกเสียงของเธอยิ่งพุ่งสูงลิ่ว
คลินตัน ยกย่องการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีในอเมริกาว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เธอสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถคว้าตำแหน่งผู้แทนพรรคใหญ่ลงชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ
“ขอบคุณทุกๆ ท่าน เราได้ก้าวมาสู่หมุดหมายที่สำคัญแล้ว” คลินตัน ระบุ
ก่อนหน้านั้น สื่อยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อย่างสำนักข่าวเอพี และฝ่ายข่าวของเครือข่ายโทรทัศน์เอ็นบีซี (เอ็นบีซี นิวส์) ได้พร้อมใจกันรายงานเมื่อวันจันทร์ (6) ว่า คลินตันสามารถรวบรวมตัวแทนผู้ออกเสียงได้ถึง 2,383 คน หรือเกินครึ่งหนึ่งของจำนวนตัวแทนทั้งหมด 4,765 คน ซึ่งมากเพียงพอแล้วที่จะทำให้เธอได้รับการเสนอชื่อจากที่ประชุมใหญ่ของพรรคให้เป็นผู้แทนลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในวันที่ 8 พ.ย.
ทีมหาเสียงของ แซนเดอร์ส ออกมาตอบโต้เรื่องนี้ โดยยืนยันว่าไม่มีใครมีสิทธิ์ประกาศ “ล็อก” ตำแหน่งผู้แทนเดโมแครตจนกว่าจะถึงการประชุมใหญ่ของพรรค เนื่องจากยังมีผู้แทนออกเสียงพิเศษ (super delegates) ซึ่งได้แก่บรรดาผู้นำพรรค วุฒิสมาชิก ส.ส. และผู้ว่าการรัฐ ที่จะใช้สิทธิ์โหวตหนุนผู้สมัครคนใดก็ได้ในวันดังกล่าว
แซนเดอร์ส ยืนยันว่า ตนเองมีศักยภาพสูงกว่า คลินตัน ในการที่จะลงสนามฟาดฟันกับ “โดนัลด์ ทรัมป์” ว่าที่ผู้แทนของพรรครีพับลิกัน และเชื่อว่าจะสามารถโน้มน้าวผู้แทนออกเสียงพิเศษให้มาลงคะแนนสนับสนุนมากพอที่จะคว้าตำแหน่งผู้แทนพรรคได้
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า คลินตัน ได้รับการประกาศสนับสนุนจากผู้แทนพิเศษในพรรคแล้วถึง 561 คน ในขณะที่ แซนเดอร์ส มีอยู่เพียง 47 คน และเมื่อดูจากผลการหยั่งเสียงใน 6 รัฐสุดท้ายที่ คลินตัน เก็บชัยชนะได้ถึง 4 รัฐ โดยเฉพาะรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งมีประชากรหนาแน่นที่สุด โอกาสที่ แซนเดอร์ส จะหวังพึ่งคะแนนจากผู้แทนออกเสียงพิเศษเพื่อพลิกชนะ คลินตัน ในนาทีสุดท้าย ก็แทบจะไม่มีทางเป็นไปได้เลย
แม้ คลินตัน จะประสบความสำเร็จในการชิงตำแหน่งผู้แทนพรรคแล้ว แต่ยังมีภารกิจที่ท้าทายรอคอยเธออยู่ นั่นก็คือการสร้างความปรองดองภายในพรรค และทำให้ฐานเสียงของ แซนเดอร์ส ยอมหันมาสนับสนุนเธอให้ได้
“ศึกไพรแมรีในวันนี้ไม่ใช่เพื่อชิงผู้แทนพรรคอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการแสดงอำนาจต่อรอง ก่อนที่จะมีการเจรจาสงบศึก” เดวิด แอเซลร็อด อดีตที่ปรึกษายุทธศาสตร์ของประธานาธิบดี บารัค โอบามา เขียนลงในทวิตเตอร์เมื่อวันอังคาร (7)
หลายฝ่ายกำลังเฝ้าจับตาดูว่า แซนเดอร์ส ซึ่งพลาดตำแหน่งผู้แทนเดโมแครตแน่นอนแล้วจะมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อคลินตัน เขาจะยอมก้มหน้าลงจากเวทีไปอย่างสง่างาม หรือจะดึงดันสู้ต่อจนถึงวันประชุมใหญ่ของพรรค อย่างที่เคยประกาศเอาไว้?
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2008 ตอนที่ คลินตัน พ่ายศึกไพรแมรีแก่ บารัค โอบามา เธอได้แสดงสปิริตด้วยการเชิญชวนผู้สนับสนุนให้ “ทุ่มเทพลัง ความเข้มแข็ง และทำทุกอย่างที่เราจะทำได้ เพื่อช่วย บารัค โอบามา ให้ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา”
คลินตัน กำลังถูกสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ซักฟอกเรื่องที่เธอใช้อีเมลส่วนตัวรับส่งข้อมูลขณะเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งถือว่าผิดกฎของรัฐบาล และเป็นคดีอื้อฉาวที่ทำให้ภาพลักษณ์ของเธอมัวหมองไปมาก นอกจากนี้ เธอยังถูกมองว่าเป็นพวกกลับกลอกและไม่จริงใจ จากการออกมาคัดค้านข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership - TPP) ของ โอบามา ทั้งที่เธอเองก็เคยมีส่วนร่วมผลักดันข้อตกลงนี้สมัยที่ยังเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ
“ลำพัง คลินตัน คนเดียวไม่อาจทำสำเร็จได้... ชาวอเมริกันส่วนน้อยที่หนุนหลัง แซนเดอร์ส ยังตั้งป้อมรังเกียจเธออยู่ เพราะฉะนั้นเขาเองก็จะต้องช่วยพูดสนับสนุน คลินตัน อย่างกระตือรือร้น จึงจะสำเร็จ” ลาร์รี ซาบาโต นักวิเคราะห์การเมืองจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย ระบุ
ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่ยังคาดว่า โอบามา จะต้องรับบท “ผู้ไกล่เกลี่ย” เพื่อยุติความแตกแยกภายในพรรค หลังจากที่ทราบแน่ชัดว่าใครจะได้เป็นผู้แทนเดโมแครต
จอช เออร์เนสต์ โฆษกทำเนียบขาว ระบุว่า โอบามา ได้โทรศัพท์พูดคุยกับทั้ง คลินตัน และ แซนเดอร์ส เมื่อวันอังคาร (7) โดยแสดงความยินดีกับอดีตรัฐมนตรีหญิงที่มีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้แทนเดโมแครตแล้ว และจะเปิดโอกาสให้ แซนเดอร์ส เข้าพบในวันพฤหัสบดี (9) ตามการร้องขอของเจ้าตัวด้วย
โอบามา ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการคัดเลือกผู้แทนของเดโมแครตอย่างระมัดระวัง โดยชี้ว่า คลินตัน และ แซนเดอร์ส มีสไตล์การหาเสียงเป็นของตัวเอง แต่ “แก่น” แนวคิดของทั้งคู่ไม่ได้แตกต่างกันนัก
“พวกเขาเป็นคนดีมากทั้งคู่ ผมรู้จักพวกเขาดี” โอบามา กล่าวระหว่างเดินทางเยือนญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ก่อน
โอบามา และ คลินตัน มีคุณสมบัติร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง คือเปิดโอกาสให้ชาวอเมริกันได้เขียนประวัติศาสตร์การเมืองหน้าใหม่ โดย โอบามา นั้นเป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกันคนแรกที่สามารถก้าวไปถึงบัลลังก์ทำเนียบขาว และเวลานี้ คลินตัน ก็อาจเป็นสตรีคนแรกที่ได้ก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เช่นกัน