xs
xsm
sm
md
lg

‘สหรัฐฯ-จีน’กำลัง ‘วางสนุก’ ใส่กันขณะต่างคนต่าง ‘ฝัน’ จะทำให้ตนเอง ‘ยิ่งใหญ่อีกครั้ง’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: จอห์น เฟฟเฟอร์

Making China Great Again
By John Feffer
04/05/2016

สหรัฐฯและจีนต่างฝ่ายต่างมี “ความฝัน” ที่จะทำให้ประเทศชาติของตน “กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” ทว่าเมื่อไปถึงจุดหนึ่งในอนาคต พวกเขาอาจค้นพบว่าจากการที่ต่างแยกห่างจากกันในการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามความฝันนั้น พวกเขาก็กำลัง “วางสนุก” เข้าใส่กันอย่างชนิดแก้ไขอะไรไม่ได้เสียแล้ว

รอบสุดท้ายของการแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมเปี้ยนโลก ซึ่งมีขึ้นเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมนี้ที่เมืองเชฟฟิลด์ เมืองที่ผู้คนต้องทำงานต่อสู้ดิ้นรนหนักในตอนเหนือของเขตปกครองอังกฤษ, สหราชอาณาจักร และบางทีอาจจะเป็นที่รู้จักกันดีที่สุดจากการเป็นฉากซึ่งเกิดเหตุการณ์เรื่องราวในภาพยนตร์เรื่อง “The Full Monty”

เชฟฟิลด์เป็นอดีตศูนย์กลางทางอุตสาหกรรม ซึ่งได้ถูกกระแสโลกาภิวัตน์ “วางสนุก” เสียจนย่ำแย่ กระทั่งพวกคนงานเหล็กกล้าที่ถูกปลดออกจากงานในภาพยนตร์ปี 1997 ซึ่งโด่งดังเปรี้ยงป้างเรื่องนั้น ต้องตัดสินใจหันไปเป็นชายเต้นระบำเปลื้องผ้า เพื่อหาเงินมาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง หลังจากเวลาผ่านพ้นไป 20 ปี อุตสาหกรรมเหล็กกล้าของเชฟฟิลด์ก็ยังคงปลดยังคงลดตำแหน่งงานกันอยู่ สาเหตุใหญ่ประการหนึ่งเนื่องจากเหล็กกล้านำเข้าราคาถูกกว่าที่ส่งมาจากประเทศจีน[1]

อย่างไรก็ตาม ภาคส่วนทางเศรษฐกิจนี้กำลังสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ขึ้นมาบ้างจำนวนหนึ่ง เนื่องจากการลงทุนที่กำลังมาจาก ... ประเทศจีน ทั้งนี้เมื่อปีที่แล้ว ซีไอเอสดีไอ กรุ๊ป (CISDI Group) กลุ่มกิจการอุตสาหกรรมการผลิตรายใหญ่รายหนึ่งของจีน ตกลงเลือกเอาเมืองเชฟฟิลด์ เป็นสำนักงานใหญ่ของตนประจำพื้นที่สองฟากฝั่งแอตแลนติก ด้วยเหตุนี้ จีนจึงปรากฏตัวขึ้นมา ทั้งในฐานะผู้ร้ายและในฐานะผู้ช่วยชีวิตของเมืองเชฟฟิลด์

กลับมาพูดกันต่อถึงเรื่องสนุกเกอร์ กีฬาในร่มประเภทนี้คิดประดิษฐ์ขึ้นมาโดยกองทหารของสมเด็จพระราชินีในอินเดียเมื่อช่วงสิ้นสุดศตวรรษที่ 19 แล้วมันก็กลายเป็นเครื่องฆ่าเวลาซึ่งเป็นที่นิยมชมชอบจนแทบขาดไม่ได้ของชาวสหราชอาณาจักร ตัวผมเองรู้จักกับกีฬาประเภทนี้ตอนไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยอีสต์แองเกลีย (University of East Anglia) เมื่อหลายๆ ปีก่อน และก็รู้สึกตกหลุมรักมันขึ้นมาในทันที

โดยพื้นฐานแล้วมันก็เป็นเกมบิลเลียดแบบที่มีหลุมอยู่ 6 หลุมนั้นเอง แต่เล่นบนโต๊ะที่มีขนาดใหญ่กว่าและหลุมก็มีขนาดเล็กกว่า สนุกเกอร์มีลูกกลมสีแดง 15 ลูก และลูกกลมสีต่างๆ อีก 6 ลูก คุณจะต้องแทงลูกสีขาวของคุณไปทำให้ลูกสีแดงและลูกสีอื่นๆ ตกลงไปในหลุม และทำแต้มสะสมจากแต่ละลูกที่คุณแทงลง โดยที่ลูกแต่ละสีจะมีค่าคะแนนไม่เท่ากัน มันเป็นกีฬาอันละเอียดประณีตที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดรวดร้าวทั้งทางกายและทางใจ และผู้เล่นชั้นดีคือผู้ที่เก่งกาจสามารถในการ “วางสนุก” คู่แข่งของพวกเขา ซึ่งหมายถึงการแทงลูกให้อยู่ในตำแหน่งที่กลายเป็นกับดัก เพื่อให้คู่แข่งตกอยู่ในฐานะที่จะแทงต่อได้ลำบาก

โรงละคร ครูซิเบิล เธียเตอร์ (Crucible Theater) ในเมืองเชฟฟิลด์ ถูกใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันสนุกเกอร์ชิงแชมเปี้ยนโลกตลอดระยะเวลา 40 ปีหลังมานี้ ย้อนหลังกลับไปไกลจนกระทั่งถึงเมื่อปี 1927 ผู้ชนะรายการนี้ล้วนแต่เป็นผู้เล่นซึ่งมาจากชาติในเครือจักรภพอังกฤษทั้งสิ้น[2] ส่วนใหญ่ที่สุดแล้วคือคนอังกฤษ โดยมีชาวสกอตแซมเข้ามาอยู่บ้าง แชมป์ที่จากเวลส์และจากออสเตรเลียก็มีเป็นกระเซ็นกระสาย นอกจากนั้นยังมีผู้เล่นจากแคนาดาและไอร์แลนด์ซึ่งคว้าแชมเปี้ยนไปได้ชาติละ 1 สมัย ขณะเดียวกัน คู่แข่งขันซึ่งเข้ามาชิงชัยกันในรอบสุดท้ายทั้งหมดก็ล้วนมาจากพวกประเทศเครือจักรภพเช่นเดียวกัน

จนกระทั่งมาถึงปีนี้

ในรอบสุดท้ายของสนุกเกอร์ชิงแชมเปี้ยนโลกปี 2016 นี้ ปรากฏว่าเป็นการชิงชัยกันระหว่าง มาร์ก เซลบี (Mark Selby) เจ้าของฉายา “ตัวตลกจากเลสเตอร์” (jester from Leicester) ชาวอังกฤษจากเมืองเลสเตอร์ซึ่งเคยได้แชมป์มาสมัยหนึ่งแล้ว กับ ติง จุนฮุย (Ding Junhui) ผู้เล่นชาวจีนวัย 29 ปี มันเป็นแมตช์การแข่งขันที่คู่คี่กันมาก ติง ซึ่งเติบโตขึ้นมาในเมืองตงกวน (Dongguan) ที่พอจะเรียกได้ว่าเป็นเชฟฟิลด์ของประเทศจีน สามารถก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นอันดับ 2 ของโลกตั้งแต่เมื่อปี 2014 แต่บางทีเขาอาจจะเป็นผู้เล่นซึ่งมีฐานแฟนานุแฟนมากเป็นอันดับ 1 ของโลกก็เป็นได้ ติง เคยประมาณการแบบอนุรักษนิยมว่า พี่น้องร่วมชาติของเขาราว 100 ล้านคน จะเปิดทีวีเข้ามาชมรอบชิงชนะเลิศของรายการสนุกเกอร์แชมเปี้ยนโลกปีนี้[3]

นี่ไม่ใช่เป็นการคุยโม้โอ้อวดแบบไร้สาระนะครับ เพราะเวลานี้มีคนที่เล่นสนุกเกอร์อยู่ในประเทศจีน มากกว่าในที่อื่นๆ ของโลกรวมกันแล้ว มีแม้กระทั่งอาคารที่สร้างเลียนแบบโรงละคร ครูซิเบิล เธียเตอร์ ตั้งอยู่ที่นอกกรุงปักกิ่ง[4] โดยทางจีนวาดหวังว่าสักวันหนึ่งจะสามารถเกี้ยวให้รายการชิงแชมเปี้ยนโลกย้ายออกจากเชฟฟิลด์มาแข่งขันกันที่นี่ได้

ลงท้ายแล้ว ติงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในแมตช์ที่กว่าจะตัดสินแพ้ชนะกันได้ก็หืดจับ[5] แต่เขายังอยู่ในวัยที่ยังถือว่าอายุไม่มากสำหรับกีฬาประเภทนี้ จีนจะไม่รั้งอันดับ 2 ไปอีกนานนักหรอก ในที่สุดท้ายแดนมังกรก็จะผลิตผู้เล่นหมายเลข 1 ขึ้นมาได้ และบางทีต่อจากนั้นจีนจะขึ้นไปอยู่ในฐานะเป็นผู้ครอบงำกีฬาสนุกเกอร์ไปเลย[6]

กล่าวสำหรับเวทีโลกโดยรวม จีนอยู่ในฐานะหมายเลข 2 เรื่อยมานับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายไป และเศรษฐกิจของจีนก้าวแซงหน้าเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะศึกษาเส้นทางโคจรในอนาคตของจีนโดยอาศัยเพียงภาพที่เสนอโดยพวกสื่อมวลชนตะวันตกและสำนักคลังสมองของฝ่ายตะวันตก มีอยู่ระยะหนึ่ง จีนถูกวาดภาพว่ากำลังจะเข้ากลืนกินสหรัฐฯได้แล้วภายในเวลาอีกไม่กี่ทศวรรษถัดจากนี้

ทว่าในช่วงหลังๆ มา ลูกตุ้มกลับเหวี่ยงไปอยู่อีกข้างหนึ่ง และจีนก็กลายเป็นเพียงแค่ผู้รอคอยที่จะผงาดขึ้นเป็นอภิมหาอำนาจซึ่งเต็มไปด้วยความอ่อนแอ ตัวอย่างเช่น ในบทความเรื่อง The Once and Future Superpower, Why China Won’t Overtake the United States (อภิมหาอำนาจในอดีตและในอนาคต, ทำไมจีนจึงไม่สามารถแซงหน้าสหรัฐฯ) ของ สตีเฟน จี บรูคส์ และ วิลเลียม ซี โวห์ลฟอร์ธ (Stephen G. Brooks and William C. Wohlforth) ตีพิมพ์ในวารสาร “ฟอเรนจ์ แอฟแฟรส์” (Foreign Affairs) ฉบับใหม่[7] ได้หยิบยกเหตุผลขึ้นมาเสนอว่า เมื่อสหรัฐฯมองดูจีนผ่านจากกระจกดูข้างหลังนั้น ภาพของจีนที่ปรากฏในกระจกดูจะใหญ่กว่าจีนตามสภาพความเป็นจริง โดยพวกเขาเขียนเอาไว้ดังนี้:

ในเวลาที่ทำนายถึงฐานะความเป็นมหาอำนาจในอนาคตของจีนนั้น ต้องพิจารณาให้มากถึงปัญหาท้าทายภายในประเทศด้านต่างๆ ที่กำลังกดดันแดนมังกรอยู่ อาทิเช่น เศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว, สิ่งแวดล้อมที่เป็นมลพิษ, การทุจริตคอร์รัปชั่นที่แผ่กระจายกว้างขวาง, ตลาดการเงินที่เต็มไปด้วยอันตราย, การขาดไร้ระบบตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม, ประชากรที่สูงวัยขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว, และชนชั้นกลางที่หัวแข็งควบคุมยาก แต่สิ่งซึ่งมีอันตรายพอๆ กับปัญหาเหล่านี้ และถือเป็นจุดอ่อนบนเวทีโลกของจีนอย่างแท้จริง กลับเป็นอะไรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็คือ การที่จีนมีระดับความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม หลังจากเผชิญภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และในตลาดหลักทรัพย์มาอย่างอดทนยาวนาน เศรษฐกิจจีนก็ดูเหมือนจะแก้ไขตัวเองให้กระเตื้องดีขึ้นมาได้แล้ว อันที่จริง ปักกิ่งยังกำลังป่าวร้องแผนการทางเศรษฐกิจที่ห้าวหาญมากของตนเอง ซึ่งได้แก่แผนการริเริ่มว่าด้วยเส้นทางสายไหมใหม่ ที่เป็นแผนการสำหรับภูมิภาคเอเชียโดยรวมด้วยซ้ำไป ขณะที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังดำดิ่งลงไปในการรณรงค์ปราบปรามคอร์รัปชั่นอย่างขะมักเขม้น ในเวลาเดียวกับที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง รวมศูนย์อำนาจเข้ามาอยู่ในมือตนเองเพิ่มขึ้นอีก และกองทัพจีนก็ไม่ได้กำลังหลบลี้หนีหน้าออกไปจากทะเลจีนใต้เลย ภายหลังที่สหรัฐฯประกาศสำแดงแสนยานุภาพของตนในภูมิภาคดังกล่าว

สนุกเกอร์เป็นเกมที่มีผู้ชนะแต่เพียงผู้เดียว มีผู้ชนะและผู้แพ้ที่เด็ดขาดชัดเจน ทว่าภูมิรัฐศาสตร์กลับเป็นเกมที่มีหลายระดับซึ่งก่อให้เกิดภาพจำลองสถานการณ์อันหลากหลาย มีทั้งแบบที่ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างเป็นผู้ชนะ และแบบที่ทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างเป็นผู้แพ้ ความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯกับจีนโดยส่วนใหญ่แล้วถือว่าอยู่ในประเภทชนะด้วยกันทุกฝ่าย ขณะที่ถ้าหากเกิดสงครามระหว่างประเทศทั้งสองขึ้นมาแล้ว ย่อมตกเข้าไปอยู่ในอีกประเภทหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

เพื่อที่จะขึ้นเป็นหมายเลข 1 ให้สำเร็จ ติง จุนฮุย จะต้องฝึกซ้อม, ฝึกซ้อม, ฝึกซ้อม ในที่สุดแล้วเขาหรือหนึ่งในพี่น้องร่วมชาติของเขาจะเข้าแทนที่พวกอังกฤษจนได้ ทว่าในการเสาะแสวงหาหนทางเพื่อทำให้จีนกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งบนเวทีเกมการเล่นทางภูมิรัฐศาสตร์นั้น คณะผู้นำของจีนชุดปัจจุบันจะก้าวเดินไปได้ยาวไกลแค่ไหนกัน?

สีคือศูนย์กลางแห่งอำนาจ

สี จิ้นผิง ขึ้นเป็นผู้นำสูงสุดของจีนมาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว ตลอดช่วงแห่งการงานอาชีพของเขา เขาได้รับขนานนามฉายาต่างๆ กัน ตั้งแต่เป็น คนไร้สีสัน (colorless)[8], นักฝัน (dreamer)[9], พวกลูกท่านหลานเธอของนักปฏิวัติเก่า (Red princeling)[10], นักชาตินิยมตัวกลั่น (staunch nationalist)[11], นักปฏิรูป (reformer)[12], และพวกปฏิกิริยา (reactionary)[13] บางที สี ก็อาจจะเป็นอย่างเดียวกันกับประเทศของเขา ที่ทั้งใหญ่โต และมีอะไรที่ขัดแย้งกันอยู่ภายใน โดยที่ตัวเขาเองก็ดูเหมือนบรรจุความหลากหลายมากมายเอาไว้ หรือไม่บางทีทั้งหลายทั้งปวงก็เป็นเพียงเรื่องของความรับรู้ความเข้าใจ (ตลอดจนความรับรู้ความเข้าใจอย่างผิดๆ) ของฝ่ายตะวันตกเท่านั้น

ยกตัวอย่างเรื่องประเด็นการทุจริตคอร์รัปชั่น ในทางเป็นจริงแล้วทุกๆ คนทั้งภายในและภายนอกประเทศจีน ต่างก็ดูยอมรับกันว่านี่คือปัญหาสำคัญมากที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อสุขภาพทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ ประชาชนคนสามัญได้ดำเนินการประท้วงมาเป็นหมื่นๆ ครั้งเพื่อคัดค้านพฤติการณ์ต่างๆ ของพวกเจ้าหน้าที่ทุจริตทั้งหลาย การประท้วงเหล่านี้จำนวนมากมีเป้าหมายมุ่งต่อต้านการแย่งยึดที่ดิน ซึ่งพวกเจ้าหน้าที่พรรคเข้าไปยึดฉวยเอาอย่างง่ายๆ ไม่ต้องใช้ชั้นเชิงอะไร แล้วจากนั้นก็ขายทรัพย์สินที่เป็นสมบัติรวมหมู่เหล่านี้เพื่อเอาประโยชน์โภชน์ผลเข้ากระเป๋าส่วนตัว เมื่อปี 2012 ด้วยความโกรธแค้นพวกผู้นำท้องถิ่นที่กินสินบนอย่างไร้ยางอายของพวกเขา ชาวบ้านในหมู่บ้านอู่คาน (Wukan) ได้บุกเข้ายึดครองหมู่บ้านของพวกเขาเองเอาไว้ บีบบังคับให้รัฐบาลส่วนกลางต้องยินยอมอนุญาตให้พวกเขาเลือกตั้งตัวแทนของพวกเขาเองโดยผ่านการลงคะแนนลับ[14]

แล้วยังมีเรื่องต้นทุนค่าเสียหายซึ่งการทุจริตคอร์รัปชั่นสร้างให้แก่เศรษฐกิจของจีนอีก ย้อนกลับไปในปี 2006 นักวิเคราะห์ชื่อ หมินซิน เป่ย (Minxin Pei)[15] ได้ประมาณการเอาไว้ว่า จีนกำลังสูญเสียเงินทองไปราวๆ 86,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี จากต้นทุนทางตรงของการทุจริตคอร์รัปชั่น (ทั้งในรูปของการรับสินบน, การจ่ายสินบน, การยักยอกเงินงบประมาณ หรือการใช้จ่ายเงินงบประมาณอย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม) เขาสรุปว่า:

การผ่องถ่ายทรัพย์สินประจำปีเช่นนี้ ซึ่งเป็นการผ่องถ่ายจากคนที่ยากจนกว่าไปสู่คนที่ร่ำรวยกว่า กำลังโหมกระพือให้ประเทศจีนเกิดการเพิ่มทวีอย่างรวดเร็ว ทั้งในเรื่องความไม่เสมอภาคกันทางเศรษฐกิจสังคม และในเรื่องความรับรู้ความเข้าใจของสาธารณชนว่ามีความไม่ยุติธรรมทางสังคม ประการที่สอง ต้นทุนทางอ้อมของการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งได้แก่ การสูญเสียประสิทธิผล, ความสูญเปล่า, และความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข การศึกษา ความน่าเชื่อถือของสถาบันสาธารณะแห่งสำคัญๆ ตลอดจนขวัญกำลังใจของการบริการประชาชน เหล่านี้เป็นสิ่งไม่สามารถคำนวณออกมาเป็นตัวเลขได้

ทว่าพอในตอนนี้ เมื่อ สี จิ้นผิง ได้เปิดการรณรงค์ต่อต้านปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง พวกสื่อมวลชนตะวันตกก็กลับหันมาโฟกัสสนใจในเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายของการต่อต้านปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นไปเสียฉิบ เมอร์ริล ลินช์ (Merrill Lynch) วาณิชธนกิจยักษ์ที่บัดนี้กลายเป็นหน่วยงานหนึ่งของธนาคารแห่งอเมริกา (Bank of America) เคยประมาณการเอาไว้ในปี 2014 ว่า จีนมีหวังต้องสูญเสียเป็นมูลค่าสัก 100 ล้านดอลลาร์ได้ทีเดียว[16] สืบเนื่องจากการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยอยู่ในรูปของการบริโภคที่ลดต่ำลง และการลงทุนด้านเงินทุนที่น้อยลง โถ ประเทศจีนผู้น่าสงสาร! ถ้าลงมือทำก็ถูกด่าว่า แต่ถ้าไม่ลงมือทำก็ถูกด่าว่าอีกนั่นแหละ

แล้วเรื่องที่ชวนให้รู้สึกขุ่นเคืองมากกว่านี้เสียอีก เห็นทีจะเป็นเรื่องต้นทุนทางการเมือง ดังที่สรุปเอาไว้โดย ออร์วิลล์ เชลล์ (Orville Schell) ในบทวิเคราะห์ชนิดเจาะทะลุทะลวงชิ้นหนึ่ง ซึ่งตีพิมพ์อยู่ในนิตยสาร เดอะ นิวยอร์ก รีวิว ออฟ บุ๊กส์ (The New York Review of Books)[17] เชลล์ ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่อาจดูเหมือนเป็นการปฏิรูปนั้น เอาเข้าจริงแล้วกลับกลายเป็นปฏิกิริยาต่อต้านการเปลี่ยนแปลง ดังนี้:

ตั้งแต่ที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2012 การรณรงค์ (ต่อต้านปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นที่เปิดฉากโดย สี จิ้นผิง) นี้ ก็ได้เล่นงาน “เสือร้าย” (“tigers”) ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีตำแหน่งเทียบเท่าระดับรองผู้ว่าการมณฑลหรือรัฐมนตรีช่วยขึ้นไป เป็นจำนวนกว่า 160 คน และเล่นงาน “แมลงวัน” ตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งก็คือพวกเจ้าหน้าที่ระดับล่างลงมาทั้งหมดทั้งสิ้น เป็นจำนวนกว่า 1,400 คน ทว่าการรณรงค์นี้ก็ได้แปรเปลี่ยนจากพลังขับดันมุ่งต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น กลายมาเป็นการรณรงค์กำจัดกวาดล้างผู้คนจำนวนมากในสไตล์ของนีโอเหมาอิสต์ (neo-Maoist) โดยมุ่งไปที่พวกปรปักษ์ทางการเมือง ตลอดจนคนอื่นๆ ซึ่งมีทัศนะทางอุดมการณ์หรือทัศนะทางการเมืองที่แตกต่างออกไป เพื่อที่จะดำเนินการเคลื่อนไหวมวลชนเช่นนี้ พรรคก็ได้ปลุกระดมเครือข่ายอันโดดเด่นและกว้างขวางในด้านการสอดส่องตรวจตรา, ความมั่นคง, และตำรวจลับ ของตน ในวิถีทางที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อพื้นที่จำนวนมากในวิถีการดำเนินชีวิตของชาวจีน

การทุจริตคอร์รัปชั่นกลายเป็นเส้นทางสำคัญเส้นทางหนึ่ง สำหรับให้ สี ใช้เพื่อรวมศูนย์อำนาจเข้ามาอยู่ที่ตัวเขาเอง ตลอดจนเข้ามาอยู่ที่พวกผู้สนับสนุนของเขา

อย่างไรก็ดี ในท้ายที่สุดแล้ว ชื่อเสียงเกียรติคุณของเขาจะขึ้นหรือจะตก ย่อมขึ้นอยู่กับผลประกอบการของเศรษฐกิจจีนนั่นแหละ การตกกระแทกอย่างแรงของตลาดหลักทรัพย์แดนมังกรในเดือนสิงหาคม 2015 [18] และการดำดิ่งในเดือนมกราคม 2016 เร่งรัดให้เกิดคำทำนายอย่างเลวร้ายยิ่งเกี่ยวกับการเสื่อมทรุดของเศรษฐกิจจีน เป็นความจริงทีเดียวที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจกำลังลดต่ำลง รัฐบาลจีนก็กำลังอัดฉีดเงินทุนกระตุ้นจูงใจประเภทต่างๆ เข้าไปในระบบเศรษฐกิจ เพื่อประคับประคองให้พวกอุตสาหกรรมสำคัญๆ ยังสามารถลอยคออยู่เหนือน้ำได้ และยังสามารถว่าจ้างคนงานเอาไว้ต่อไปได้ (การอัดฉีดเหล่านี้นี่เอง กำลังก่อให้เกิดซัปพลายล้นเกินในสินค้าหลายๆ ประเภท เป็นต้นว่า เหล็กกล้าราคาถูก ซึ่งกำลังส่งผลกระทบกระเทือนด้านลบต่ออุตสาหกรรมเหล็กกล้าของสหราชอาณาจักรในเมืองเชฟฟิลด์) ทั้งนี้ถ้าหากปักกิ่งไม่สามารถพยุงให้โรงงานต่างๆ ยังคงเดินเครื่องได้ต่อไป และว่าจ้างประชาชนมาทำงานต่อไปแล้ว ก็มีหวังต้องเผชิญกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบปกครองแบบกดดันขึ้นมาจากเบื้องล่าง

ทว่ามันก็มีความเป็นไปได้เช่นกันที่เศรษฐกิจของจีนไม่ได้มีปัญหาถึงขั้นหนักหนาสาหัส หากแต่เพียงแค่กำลังกลับเข้าสู่ภาวะเสถียรภาพ ณ ระดับอัตราเติบโตที่ต่ำลงมา นั่นคือ ระหว่าง 6 ถึง 7 เปอร์เซ็นต์ เปรียบเทียบกับที่เคยทะยานขึ้นสู่ระดับตัวเลขสองหลักเรื่อยมาในช่วงทศวรรษ 1990 และทศวรรษ 2000 กระนั้น แม้กระทั่งในระดับอัตราที่ต่ำลงมาแล้วนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนก็ยังเป็นที่น่าอิจฉาสำหรับสหรัฐฯ (อัตราเติบโตในปัจจุบันอยู่ที่ระหว่าง 2 ถึง 3 เปอร์เซ็นต์) และสำหรับยุโรป (อัตราเติบโตในปัจจุบันอยู่ที่ระหว่าง 1 ถึง 2 เปอร์เซ็นต์) อยู่ดี จีนกำลังค่อยๆ กลายเป็นประเทศยุคหลังอุตสาหกรรม (post-industrial country) ซึ่งเศรษฐกิจพึ่งพาอาศัยการบริโภคและภาคบริการต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แทนที่จะพึ่งพาอาศัยการผลิตเพื่อการส่งออกเหมือนเมื่อก่อน การเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ไม่ว่าที่ไหน ก็ไม่เคยเกิดขึ้นมาอย่างราบรื่นไร้ปัญหาไปเสียทั้งหมด

คำถามยังมีต่อไปอีกว่า จีนจะมีความพอใจกับอนาคตในยุคหลังอุตสาหกรรมแบบที่เกิดขึ้นกับยุโรป (มีความมั่งคั่งรุ่งเรือง) หรือจะเรียกร้องต้องการอนาคตในยุคหลังอุตสาหกรรมแบบที่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯ (ทั้งมีความมั่งคั่งรุ่งเรือง และทั้งเป็นมหาอำนาจที่โดดเด่นสำคัญยิ่งกว่าใคร)?

ฝันดีหรือว่าฝันร้าย?

เวลาผ่านไปร่วม 4 ปีแล้วนับตั้งแต่ที่ สี จิ้นผิง กล่าวคำปราศรัย “ประเทศจีนมีความฝัน” (China Has a Dream) [19] ของเขา ซึ่งสรุปความเกี่ยวกับเส้นทางที่ประเทศของเขาจะก้าวเดินไป เพื่อบรรลุสถานะความเป็นอภิมหาอำนาจ

ในเวลาที่พูดจากับผู้ที่ไม่ใช่คนจีน สี จะเน้นย้ำว่า[20] ความฝันดังกล่าวนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำให้ประชาชนชาวจีนมีชีวิตที่ดีขึ้น ทว่า “ความฝันของจีน” กลับมีความหมายที่แตกต่างออกไปสำหรับชาวจีนในที่ต่างๆ ในสถานะต่างๆ ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการตีความแปรความหมายซึ่งเสนอโดย สือ อินหง (Shi Yinhong) [21] ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคนสำคัญของจีน ตามที่ พอล ฮาร์ตเชอร์ (Paul Hartcher) รายงานเอาไว้ในหนังสือพิมพ์ ซิดนีย์ มอร์นิ่ง เฮรัลด์ (Sydney Morning Herald) ของออสเตรเลีย ดังนี้:

ประการแรก สี ต้องการให้ประเทศจีนกลายเป็นที่ยอมรับรองกันว่ามีฐานะเป็นอภิมหาอำนาจรายหนึ่งทัดเทียมกับสหรัฐฯ ประการที่สอง เขาต้องการให้จีนกลายเป็นผู้ร่วมบริหารจัดการกิจการต่างๆ ของโลกกับสหรัฐฯ เป็น กลุ่มจี 2 (Group of Two) เพื่อการบริหารปกครองโลก ประการที่สาม “จีนต้องเป็นมหาอำนาจที่มีอำนาจอิทธิพลเหนือกว่าใครในแปซิฟิกตะวันตก และมีความได้เปรียบบางประการเหนือกว่าสหรัฐฯ”

แน่นอนทีเดียว วิสัยทัศน์ในเรื่องความมั่งคั่งร่ำรวย และการเป็นมหาอำนาจที่โดดเด่นสำคัญนั้น มีความเกี่ยวพันโยงใยกันอยู่ ความมั่งคั่งร่ำรวยของสหรัฐฯนั้นถูกสร้างขึ้นมาบนรากฐานแห่งสถานะความเป็นอภิมหาอำนาจของสหรัฐฯ แล้วทำไมจีนจึงไม่สมควรมีความมุ่งมาดปรารถนาในการผสมผสานอันดีงามอย่างเดียวกันนี้บ้าง?

ทว่าการตีความแปรความหมายอย่างที่สองเช่นนี้ ย่อมนำจีนเข้ามาเผชิญหน้ากับสหรัฐฯอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแปซิฟิก และหากพูดกันให้เจาะจงยิ่งขึ้นไปอีกก็ต้องเป็นทะเลจีนใต้ กล่าวโดยสรุป จีนได้ประกาศอ้างอธิปไตยเหนือน่านน้ำอันสำคัญอย่างยิ่งนี้เป็นอาณาบริเวณเบ้อเริ่มเทิ่มทีเดียว การกล่าวอ้างเหล่านี้ปะทะขัดแย้งโดยตรงกับการกล่าวอ้างของฟิลิปปินส์, เวียดนาม, และอีกหลายๆ ประเทศ ฟิลิปปินส์นั้น หลังจากเกิดการเผชิญหน้าทางทะเลโดยตรงกับจีนมาหลายครั้งหลายหน ก็ได้ตัดสินใจนำประเด็นปัญหานี้เข้าสู่การวินิจฉัยตัดสินของหน่วยงานอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร Permanent Court of Arbitration ในกรุงเฮก –ผู้แปล) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านยุติธรรมหน่วยงานหนึ่งตามที่กำหนดเอาไว้ในอนุสัญญากฎหมายทะเลระหว่างประเทศ (International Law of the Seas convention) โดยที่ทั้งฟิลิปปินส์และจีนต่างก็เป็นภาคีของอนุสัญญาฉบับนี้ เป็นที่คาดหมายกันว่าคำวินิจฉัยตัดสินของหน่วยงานแห่งนี้น่าจะออกมาในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้

ในเวลาเดียวกันนั้นเอง จีนก็กำลังดำเนินการเพื่อยืนกรานให้เป็นไปตามการกล่าวอ้างดินแดนของฝ่ายตน ด้วยวิธีซึ่งโดยสาระสำคัญแล้วคือการสร้างดินแดนเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ จีนกำลังนำเอาตะกอนจากพื้นใต้ทะเลขึ้นมาถมที่ ทำให้สามารถสร้างเกาะเล็กๆ 7 แห่งขึ้นภายในเครือข่ายหมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly chain) [22] ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่จีนราว 500 ไมล์ และอยู่ใกล้ชิดไปทางฟิลิปปินส์ยิ่งกว่านักหนา เกาะที่ถมขึ้นมาเหล่านี้จีนไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการทำเป็นรีสอร์ตพักผ่อนช่วงวันหยุดอย่างแน่นอน ในเมื่อมีทั้งลานขึ้นลงของเครื่องบิน, สิ่งปลูกสร้างทางด้านท่าเรือ, ตลอดจนอาคารทางการทหาร มีผู้สังเกตการณ์วงนอกบางรายคาดหมายว่า [23] หากหน่วยงานอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศตัดสินวินิจฉัยไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่ฟิลิปปินส์แล้ว จีนจะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้ด้วยการดำเนินการก่อสร้างทำนองเดียวกันนี้ขึ้นที่แนวปะการัง สคาร์โบโร โชล (Scarborough Shoal)

ทว่าควรพิจารณาคำพยากรณ์ทำนองนี้แบบฟังหูไว้หู บอนนี กลาเซอร์ (Bonnie Glaser) ผู้ชำนาญการด้านจีน ซึ่งไม่ใช่พวกที่ชื่นชอบเข้าข้าง “หมีแพนด้า” (panda hugger) อย่างแน่นอน กลับไม่ได้คาดหมายว่าจีนจะทำอะไรอย่างหุนหันพลันแล่น โดยที่เธอบอกกับนิตยสารออนไลน์ “เบรกกิ้ง ดีเฟนซ์” (Breaking Defense) เอาไว้ [24] ดังนี้:

นายทหารของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนคนหนึ่ง “ซึ่งมีดาวหลายดวงประดับอยู่บนบ่า” บอกกับเธอว่า การถมทะเลสร้างเกาะขึ้นที่สคาร์โบโร เป็นเรื่องที่ “ไม่น่าจะเกิดขึ้นอย่างยิ่ง” เพราะปักกิ่งตระหนักเป็นอย่างดีว่าภูมิภาคนี้จะแสดงปฏิกิริยาตอบโต้อย่างเลวร้ายขนาดไหน เนื่องจากการกระทำดังกล่าวจะเป็นการละเมิดอย่างโจ่งแจ้ง ทั้งต่อคำมั่นสัญญาของจีนเมื่อปี 2015 ที่ว่าจะยุติการถมทะเลสร้างเกาะ และปฏิญญาว่าด้วยการประพฤติปฎิบัติในทะเลจีนใต้ปี 2002 ซึ่งจีนประกาศร่วมกับสมาคมอาเซียน จีนนั้นได้เคยละเมิดคำมั่นสัญญาทั้งสองนี้มาก่อนแล้ว ทว่าไม่เคยละเมิดถึงขั้นเลวร้ายอย่างมหันต์ อย่างการสร้างเกาะบนสคาร์โบโร

ทางฝ่ายสหรัฐฯนั้น ได้ดำเนินการตอบโต้แบบขู่ๆ ปรามๆ เข้าใส่จีนบ้างเช่นกัน ด้วยการดำเนินปฏิบัติการที่วอชิงตันเรียกขานว่า การสำแดงกำลังเพื่อยืนยัน “เสรีภาพในการเดินเรือ” (freedom of navigation) เป็นต้นว่า การส่งเรือพิฆาตไปแล่นเฉียดหลายๆ เกาะที่จีนถมขึ้นในทะเลจีนใต้ และการส่งเครื่องบินไอพ่นทหารบินเหนือเกาะเหล่านี้ อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญสิ่งหนึ่งที่ควรจะต้องชี้เอาไว้ให้ชัดเจนก็คือ ถึงแม้วอชิงตันประกาศคำเตือนอะไรทั้งหลายทั้งปวงออกมา แต่เนื้อแท้แล้วทะเลจีนใต้ก็ไม่ได้เป็นปัญหาความมั่นคงแห่งชาติระดับสำคัญยิ่งยวดของสหรัฐฯ ดินแดนของสหรัฐฯมิได้กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง จีนมิได้กำลังคุกคามเส้นทางการสัญจรทางทะเลสายสำคัญมากที่ผ่านเข้าไปในบริเวณดังกล่าว ดังนั้น แทนที่จะเป็นการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ การเข้าไปสำแดงกำลังเช่นนี้ของสหรัฐฯ ก็คือวอชิงตันต้องการเตือนให้ทุกๆ ฝ่ายจดจำไว้ว่า สหรัฐฯยังคงเป็นมหาอำนาจแห่งแปซิฟิกที่มีอำนาจอิทธิพลเหนือกว่าใครทั้งสิ้น

ในประเด็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ก็แฝงฝังเอาไว้ด้วยความเป็นจริงในทำนองเดียวกันนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ก่อให้เกิดระลอกคลื่นลมซัดสาดกระเซ็นไปทั่ว ด้วยการประกาศยืนยันว่า อเมริกา “ไม่สามารถปล่อยให้จีนข่มขืนประเทศชาติของเรา” ในประเด็นปัญหาต่างๆ ทางด้านการค้าอีกต่อไปแล้ว [25] อันที่จริงประธานาธิบดีโอบามาก็ได้ประกาศอ้างเหตุผลข้อโต้แย้งอย่างเดียวกันนี้แหละ เพียงแต่ด้วยการใช้ถ้อยคำที่สุภาพกว่ากันมาก โดยในบทความที่เขาเขียนลงในหน้าบทบรรณาธิการ-ความเห็น ของหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมนี้ [26] โอบามาเน้นย้ำว่า อเมริกาต่างหาก ไม่ใช่จีนหรอก ซึ่งควรที่จะเป็นผู้เขียนกฎกติการะหว่างประเทศของการค้า ความเห็นทั้งของ ทรัมป์ และของ โอบามา เหล่านี้ ไม่ได้ต่างอะไรจากยิงกระสุนทางเศรษฐกิจออกไปให้คำรามลั่นเลื่อน เพื่อเตือนจีนให้ระลึกไว้ว่า ใครกันแน่ที่เป็น –หรือควรเป็น— หมายเลข 1

ทรัมป์พูดย้ำยืนยันอยู่เรื่อยๆ ว่า เขาจะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยตั้งใจมุ่งให้ผู้ฟังเห็นคล้อยตามนึกคิดย้อนหลังไปถึงยุคสมัยบางยุคที่มีอยู่แต่ในภาพมายา ซึ่งอวดอ้างกันว่าอเมริกาเป็นผู้ปกครองโลกอย่างชนิดไร้ผู้คัดค้านต่อต้าน สี จิ้นผิง ก็ต้องการที่จะทำให้ประเทศจีนกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งเช่นเดียวกัน หากแต่ว่าเขากำลังอ้างอิงถึงยุคสมัยในประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นของแท้มีอยู่จริงๆ ยิ่งกว่านักหนา โดยเป็นช่วงเวลาที่จีนคือศูนย์กลางของโลกอย่างแท้จริงเป็นระยะเวลายาวนานหลายร้อยปี อเมริกานั้นต้องเจ็บปวดจากการถูกหยามหมิ่นสบประมาทอยู่สองสามครั้งในช่วงระยะเวลาไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา –ในเวียดนาม, อิรัก— แต่ก็ยังคงเป็นมหาอำนาจที่แข็งแกร่งที่สุดในโลกอยู่นั่นเอง ขณะที่จีนกลับต้องใช้เวลายาวนานกว่านั้นมากในการถูกตัดแบ่งเชือดเฉือนและถูกควบคุมโดยพวกมหาอำนาจเจ้าอาณานิคม ดังนั้น จึงเป็นที่เข้าใจได้อย่างสิ้นเชิงทีเดียวว่า ทำไมข้อความของ สี ในเรื่องการฟื้นฟูประเทศชาติขึ้นมาใหม่ จึงก่อให้เกิดเสียงก้องเสียงสะท้อนตอบรับอย่างแข็งแรงขนาดนี้ในประเทศจีน

อย่างไรก็ตาม ความเป็นจริงมีอยู่ว่าสหรัฐฯกับจีนจะสามารถบรรลุความยิ่งใหญ่ได้ถึงขนาดไหนในอนาคตข้างหน้านั้น ต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือประสานงานซึ่งกันและกันของพวกเขา ประเทศทั้งสองต่างคนต่างกำลังนำเสนอแผนการทางค้าที่เป็นปรปักษ์แข่งขันกันออกมาแล้ว พวกเขายังกำลังขบคิดพิจารณาเกี่ยวกับแผนแม่บทกรอบโครงด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคที่เป็นปรปักษ์แข่งขันกันอีกด้วย [27] เมื่อไปถึงบางจุดบางช่วง การเดินเกมแบบต่างฝ่ายต่างเล่นเคียงขนานกันไปเช่นนี้ ย่อมจะนำไปสู่การประจันหน้าแบบที่ต้องมีผู้ชนะเด็ดขาด และนั่นย่อมจะเป็นช่วงเวลาที่วอชิงตันและปักกิ่งจะค้นพบขึ้นมาอย่างฉับพลันทันใดว่า ในความพยายามที่แยกห่างจากกันของพวกเขาเพื่อให้ตนเองกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งนั้น พวกเขาได้ “วางสนุก” พวกเขากันเอง อย่างชนิดแก้ไขอะไรไม่ได้เสียแล้ว

หมายเหตุ
[1]http://www.telegraph.co.uk/business/2016/03/14/steel-industry-suffers-new-blow-with-more-job-cuts-in-sheffield/
[2]https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_world_snooker_champions
[3] http://www.bbc.com/news/world-asia-china-36184849
[4]http://www.telegraph.co.uk/sport/othersports/snooker/10773853/China-builds-its-own-Crucible-Theatre-in-bid-to-host-the-World-Championship.html
[5]http://www.telegraph.co.uk/snooker/2016/05/02/mark-selby-wins-world-title-to-make-it-a-feast-day-for-leicester/
[6] http://www.bbc.com/sport/snooker/36096472
[7] https://www.foreignaffairs.com/articles/united-states/2016-04-13/once-and-future-superpower?cid=nlc-twofa-20160428&sp_mid=51260525&sp_rid=am9obmZlZmZlckBnbWFpbC5jb20S1&spMailingID=51260525&spUserID=NTMwNTAwMDE5OTQS1&spJobID=903609739&spReportId=OTAzNjA5NzM5S0
[8] http://www.mcclatchydc.com/news/nation-world/world/article24724408.html
[9]http://www.nytimes.com/2015/12/09/world/asia/china-xi-jinping-kerry-brown.html?_r=0
[10] http://www.npr.org/2012/02/14/146815991/a-pragmatic-princeling-next-in-line-to-lead-china
[11]http://www.forbes.com/sites/russellflannery/2014/03/16/president-xi-jinpings-first-year-in-review-nationalism-worrisome-web-less-open/#3dc9e47f63f0
[12] http://thediplomat.com/2014/09/4-reasons-xi-jinping-is-a-serious-reformer/
[13]http://www.nybooks.com/articles/2016/05/12/who-is-xi/
[14]http://www.theatlantic.com/photo/2012/02/rising-protests-in-china/100247/
[15]http://carnegieendowment.org/files/pb55_pei_china_corruption_final.pdf
[16]http://www.forbes.com/sites/jackperkowski/2014/06/05/the-price-of-fighting-corruption-in-china/#6ea4bc755039
[17]http://www.nybooks.com/articles/2016/04/21/crackdown-in-china-worse-and-worse/
[18] http://fpif.org/chinas-stock-market-crash-is-the-latest-crisis-of-global-capitalism/
[19] http://fpif.org/dance-superpowers/
[20] http://www.wsj.com/articles/full-transcript-interview-with-chinese-president-xi-jinping-1442894700#:MunfskE78Wv-jA
[21] http://www.smh.com.au/comment/south-china-sea-the-fight-china-will-take-to-the-brink-of-war-20160425-goe3zi.html
[22]http://www.nytimes.com/interactive/2015/07/30/world/asia/what-china-has-been-building-in-the-south-china-sea.html
[23]https://www.washingtonpost.com/world/storm-clouds-gather-over-south-china-sea-ahead-of-key-un-ruling/2016/04/27/fd5d1c7b-d425-4567-b225-921c7ee1ffba_story.html
[24] http://breakingdefense.com/2016/04/chinese-scarborough-shoal-base-would-threaten-manila/
[25] http://www.cnn.com/2016/05/01/politics/donald-trump-china-rape/
[26]https://www.washingtonpost.com/opinions/president-obama-the-tpp-would-let-america-not-china-lead-the-way-on-global-trade/2016/05/02/680540e4-0fd0-11e6-93ae-50921721165d_story.html
[27]http://www.thehindu.com/news/international/china-unveils-new-security-doctrine-to-counter-us-pivot-to-asia/article8547554.ece

(ข้อเขียนนี้มาจากเว็บไซต์ “ฟอเรนจ์ โพลิซี อิน โฟกัส” Foreign Policy in Focus หรือ FPIF)

จอห์น เฟฟเฟอร์ เป็นผู้อำนวยการของ “ฟอเรนจ์ โพลิซี อิน โฟกัส” (Foreign Policy in Focus หรือ FPIF) ซึ่งมุ่งเสนอบทวิเคราะห์อันทันการณ์ในด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯและ ด้านกิจการระหว่างประเทศ ตลอดจนเสนอแนะทางเลือกต่างๆ ทางด้านนโยบาย FPIF เป็นโครงการหนึ่งของสถาบันเพื่อนโยบายศึกษา (Institute for Policy Studies) กลุ่มคลังสมองที่ตั้งสำนักงานอยู่ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งมีแนวทางความคิดแบบก้าวหน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น