เอเอฟพี - การทดสอบเทคโนโลยีเร็วเหนือเสียงระดับ “ไฮเปอร์โซนิก” ณ สนามทดสอบกลางทะเลทรายในออสเตรเลีย ประสบผลสำเร็จงดงามในวันนี้ (18 พ.ค.) ซึ่งอาจทำให้การเดินทางจากนครซิดนีย์ถึงกรุงลอนดอนด้วยเวลาเพียง “2 ชั่วโมง” ไม่ใช่เรื่องไกลเกินฝันอีกต่อไป
คณะนักวิจัยด้านการทหารจากสหรัฐฯ และออสเตรเลียได้ร่วมกันค้นคว้าและทดสอบเทคโนโลยีความเร็วเหนือเสียงยิ่งยวดจำนวน 10 ครั้ง โดยใช้สถานที่ทดสอบที่เมืองวูเมรา (Woomera) รัฐเซาท์ออสเตรเลีย และที่ศูนย์ปล่อยจรวดอันโดยาในนอร์เวย์
“นี่คือเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนอนาคตและอาจปฏิวัติการเดินทางโดยเครื่องบิน โดยจะช่วยเพิ่มประสิทธิผลของต้นทุนในการเดินทางสู่ห้วงอวกาศ” อเล็กซ์ เซลินสกี หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์จากออสเตรเลีย ระบุในถ้อยแถลง
ความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีไฮเปอร์โซนิก ซึ่งโดยทั่วไปหมายถึงการเดินทางที่เร็วเหนือเสียงตั้งแต่ 5 เท่า (Mach 5) ขึ้นไป จะช่วยย่นเวลาในการเดินทางจากนครซิดนีย์ถึงกรุงลอนดอน ซึ่งคิดเป็นระยะทางถึง 17,000 กิโลเมตร ให้เหลือเพียงแค่ 2 ชั่วโมง
โครงการวิจัยทดสอบการบินระหว่างประเทศเร็วเหนือเสียง (Hypersonic International Flight Research Experimentation - HIFiRE) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเครื่องยนต์ที่สามารถขับเคลื่อนด้วยความเร็วถึง Mach 7
“นี่เป็นเวลาที่น่าตื่นเต้น... พวกเราต้องการบินด้วยเครื่องยนต์ที่เร็วเหนือเสียงถึง 7 เท่า” ไมเคิล สมาร์ท ผู้เชี่ยวชาญด้านไฮเปอร์โซนิกจากมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ให้สัมภาษณ์กับเอเอฟพี โดยเขาได้มีส่วนทำโครงการนี้ร่วมกับค่ายอากาศยานยักษ์ใหญ่อย่างโบอิ้ง และองค์กรด้านอวกาศของเยอรมนี DLR
เขาอธิบายว่า จรวดที่ติดตั้งสแคร็มเจ็ต (scramjet) ซึ่งหมายถึงเครื่องยนต์สันดาปเร็วเหนือเสียง (supersonic combustion engine) จะดึงออกซิเจนจากชั้นบรรยากาศมาใช้ในกระบวนการเผาไหม้ จึงทำให้มีน้ำหนักเบา และเดินทางได้เร็วกว่าจรวดที่บรรทุกเชื้อเพลิง
กระทรวงกลาโหมออสเตรเลียแถลงว่า จรวดที่ใช้ในการทดลองวันนี้ (18) เดินทางไปถึงระดับความสูง 278 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก ด้วยความเร็ว Mach 7.5 ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้
สมาร์ทระบุว่า การทดสอบในแต่ละครั้งจะเป็นการต่อยอดจากครั้งก่อนหน้า โดยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวัดระดับความร้อนภายนอกขณะที่จรวดเดินทางด้วยความเร็วระดับไฮเปอร์โซนิก
การทดสอบครั้งถัดไปจะมีขึ้นภายในปี 2017 โดยจะเป็นการทดลองให้เครื่องยนต์สแคร็มเจ็ตแยกตัวออกจากจรวดขับดัน (rocket booster) และเดินทางต่อด้วยตัวของมันเอง
โครงการนี้เริ่มต้นทดสอบเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2009 และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในปี 2018