xs
xsm
sm
md
lg

บทวิเคราะห์หลังเลือกตั้งฟิลิปปินส์: ทำไม 'ดูเตอร์เต'ถึงชนะได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดี

เผยแพร่:   โดย: ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Philippines post-election analysis: How Duterte shot to the top
By Richard Javad Heydarian
13/05/2016

ความสำเร็จที่ทำให้ โรดริโก ดูเตอร์เต กลายเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในครั้งนี้ มาจากการเข้าบรรจบกันของปัจจัยอันโดดเด่นรวม 3 ประการด้วยกัน ได้แก่เรื่องของช่วงจังหวะเวลาที่เขากระโจนลงสู่สนามแข่งขันขณะที่จิตวิญญาณแห่งยุคสมัยในเรื่อง “การเมืองแห่งความคับข้องใจ” กำลังเริ่มเบ่งบาน , ความพลั้งพลาดของพวกคู่แข่งทุกๆ คน, และการรณรงค์หาเสียงของเขาเองที่ทั้งดูเท่และทั้งเป็นระบบ โดยให้น้ำหนักอย่างมากแก่สื่อสังคม

มะนิลา - หลังจากช่วงเวลาหลายเดือนของการรณรงค์หาเสียงซึ่งเกิดการแยกขั้วแบ่งค่ายกันอย่างน่าหวั่นเกรง จนทำให้หวาดกลัวกันว่าจะเกิดความรุนแรงติดตามมาภายหลังการเลือกตั้งผ่านพ้นไป ในที่สุดผู้ออกเสียงชาวฟิลิปปินส์ก็ได้ไปลงคะแนนเลือกคณะผู้นำชุดใหม่ เรื่องที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากรู้สึกประหลาดใจก็คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (Commission on Elections หรือ COMELEC) ซึ่งถูกกล่าวหาเรื่อยมาว่าไร้น้ำยาและเอนเอียงไม่เป็นกลาง กลับสามารถบริหารจัดการให้เกิดการเลือกตั้งครั้งที่สันติที่สุด, โปร่งใสที่สุด, และน่าเชื่อถือที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของฟิลิปปินส์ทีเดียว

ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการแสดงให้เห็นว่า โรดริโก ดูเตอร์เต (Rodrigo Dutetre) นายกเทศมนตรีนครดาเวา (Davao) ผู้มีถ้อยคำโวหารแบบโหดเข้ม เลยทำให้ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ โดนัลด์ ทรัมป์ นั้น นำหน้าแบบทิ้งห่างคู่แข่ง จนคนที่มีคะแนนไล่ตามมาใกล้ที่สุด ซึ่งได้แก่ มานูเอล “มาร์” โรซาส (Manuel “Mar” Roxas) เทคโนแครตผู้มากประสบการณ์ ก็ได้คะแนนน้อยกว่าเขาถึง 5 ล้านเสียง ดังนั้น เขาจึงเป็นผู้มีชัยได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์อย่างไร้ข้อกังขา ทั้งนี้ ดูเตอร์เต ซึ่งกลายเป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่จากเกาะมินดาเนา เกาะใหญ่ทางภาคใต้ของประเทศ อีกทั้งพูดถึงตนเองว่าเป็น “นักสังคมนิยม” กวาดเสียงโหวตมาได้ทั้งสิ้นราว 38.5%

ในเวลาเดียวกัน การแข่งขันในตำแหน่งรองประธานาธิบดี ซึ่งถือเป็นการชิงชัยแยกออกมาต่างหากนั้น ได้กลายเป็นการรณรงค์ชนิดต้องลุ้นกันเหนื่อย ระหว่าง เฟอร์นินานด์ “บอง บอง” มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand “Bong Bong” Marcos Jr.) บุตรชายคนเดียวของอดีตจอมเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส กับ เลนี โรเบรโด (Leni Robredo) ส.ส.สังคมประชาธิปไตย ซึ่งลงสมัครเที่ยวนี้ในนามพรรคลิเบอรัล ปาร์ตี้ (Liberal Party หรือ LP) ของคณะบริหารประธานาธิบดีเบนีโญ อากีโน พวกผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ว่าโรเบรโดจะเป็นผู้ชนะ ถึงแม้มาร์กอสแสดงท่าทีว่ายังไม่ยอมยุติอย่างง่ายๆ และอาจจะยื่นเรื่องร้องเรียนต่อไปอีก

ตรงกันข้ามกับที่พวกสื่อมวลชนตะวันตกประโคมข่าว ดูเตอร์เต ซึ่งเป็นที่รู้จักเรียกขานอย่างรักใคร่ของพวกผู้สนับสนุนว่า “นายกฯ ดิกง” (Mayor Digong) จริงๆ แล้วไม่ใช่ โดนัลด์ ทรัมป์ เลย เขาไม่ได้เพียงแค่ “อิน” อยู่กับเรื่องราวประดิษฐ์คิดแต่งขึ้นมาของซีรีส์เรียลลิตี้โชว์ต่างๆ ซึ่งนี่นับว่าตรงกันข้ามกับเจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์ชาวอเมริกันผู้นั้น อันที่จริง ดูเตอร์เต ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังเกี่ยวกับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของเขา สามารถคุยฟุ้งได้ว่ามีประสบการณ์มากกว่า 20 ปีทีเดียวในการเป็นรัฐบาลบริหารปกครองท้องถิ่น โดยที่เขาเป็นผู้กำกับควบคุมการเปลี่ยนแปลงนครดาเวา จากเมืองที่เต็มไปด้วยอาชญากรรม ให้กลายมาเป็นสถานที่ซึ่งค่อนข้างปลอดภัยและมั่งคั่งรุ่งเรือง

พวกผู้สนับสนุนของ ดูเตอร์เต อวดว่า เวลานี้ดาเวาไม่ใช่อะไรอื่น มันเป็น “สิงคโปร์แห่งฟิลิปปินส์” โดยแท้ เนื่องจากเป็นมหานครที่ทั้งปลอดภัยและเป็นมิตรกับธุรกิจ กล่าวได้ว่า การผงาดขึ้นมาครองอำนาจในระดับชาติของ ดูเตอร์เต คราวนี้ เป็นทั้งสัญลักษณ์แสดงถึงระยะการเปลี่ยนผ่านซึ่งกำลังดำเนินอยู่เบื้องลึกลงไปของสังคมฟิลิปปินส์ และขณะเดียวกัน มันก็แสดงให้เห็นถึงความเดือดดาลของสาธารณชนต่อชนชั้นปกครองที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน

ถึงแม้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยๆ สืบเนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับประวัติแห่งการไม่เคารพสิทธิมนุษยชนของเขา แต่ ดูเตอร์เต ก็ได้รับคำยกย่องชมเชยเช่นกันเกี่ยวกับผลงานอันยาวนานของเขาในเรื่องการสนับสนุนสิทธิของชนกลุ่มน้อยทางเพศภาวะ เป็นต้นว่า ชุมชนชาวชายรักชาย และชาวหญิงรักหญิง ตลอดจนการที่รัฐบาลท้องถิ่นของเขาเดินหน้าโครงการที่มีแนวคิดแบบก้าวหน้าหลากหลายโครงการ ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าประหลาดใจอะไร ที่ ดูเตอร์เต จะอ้างตนเองว่าเป็นผู้นำที่เอียงไปทางฝ่ายซ้าย

แต่นายกเทศมนตรีบ้านนอก ซึ่งน่าจะมีทรัพยากรด้านต่างๆ เพียงแค่จำกัดผู้นี้ ใช้วิธีไหนจึงสามารถคว้าชัยชนะในระดับชาติและผงาดขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ได้? เขามีวิธีการอย่างไรจึงยังความพ่ายแพ้ให้แก่กลไกการเลือกตั้งอันใหญ่โตมหึมาของพวกผู้สมัครกระแสหลัก ตลอดจนยังความปราชัยให้แก่อาณาบารมีแห่งความเป็นเซเลบฯของผู้สมัครหน้าใหม่ทว่าโด่งดังเป็นพลุแตก? อันที่จริงก็อย่างที่ แรนดี้ เดวิด (Randy David) นักสังคมวิทยาชาวฟิลิปปินส์ ได้สรุปเอาไว้อย่างกะทัดรัด [1] ดูเตอร์เตนั้น “จวบจนกระทั่งถึงช่วงหลังๆ มานี้เอง ยังคงมีฐานะเป็นคนวงนอกสำหรับการเมืองระดับชาติ และมีชาวฟิลิปปินส์ผู้ช่างคิดไตร่ตรองเพียงไม่กี่คนเท่านั้นซึ่งให้ความสนใจเขาอย่างจริงจัง”

แต่แล้ว ฐานะความเป็น “คนวงนอก” ของเขา กลับกลายเป็นอาวุธที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาไปเลย ความสำเร็จของ ดูเตอร์เต มาจากการเข้าบรรจบกันของปัจจัยอันโดดเด่นรวม 3 ประการด้วยกัน ประการแรก คือเรื่องของช่วงจังหวะเวลา เขากระโจนลงสู่สนามแข่งขันขณะที่จิตวิญญาณแห่งยุคสมัยในเรื่อง “การเมืองแห่งความคับข้องใจ” (grievance politics) [2] กำลังเร่งเบ่งบาน โดยผู้มีสิทธิออกเสียงส่วนใหญ่กำลังเรียกร้องต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอันรุนแรงและทันทีทันควันขึ้นในฟิลิปปินส์ ภายหลัง 3 ทศวรรษแห่งระบอบประชาธิปไตยชนิดที่ครอบงำโดยชนชั้นนำ ชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่ยังคงมีชีวิตอยู่ในท่ามกลางความยากจนอันน่าสงสาร, การทุจริตคอร์รัปชั่นอันเลวร้ายเรื้อรัง, และอาชญากรรมที่กำลังทำให้การปกครองตามตัวบทกฎหมาย หรือ “หลักนิติธรรม” กลายเป็นความมุ่งมาดปรารถนาซึ่งยากที่จะบรรลุถึง

ด้วยความสุดแสนเบื่อหน่ายกับคำมั่นสัญญาที่พวกนักการเมืองหน้าเดิมๆ แนวทางเดิมๆ ไม่เคยรักษา ผู้มีสิทธิออกเสียงชาวฟิลิปปินส์จึงเพรียกหาผู้นำพันธุ์ใหม่ [3] โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สมัครที่เป็น “คนแกร่ง” ผู้ให้สัญญาที่จะลงมือทำอย่างฉับไวและเด็ดขาด ดูเตอร์เต ตลอดจน มาร์กอส อยู่ในตำแหน่งอันยอดเยี่ยมที่จะหาประโยชน์จากแหล่งน้ำอันอุดมสมบูรณ์แห่ง “ความรู้สึกโหยหาผู้เผด็จการ” (autocratic nostalgia) เช่นนี้

ประการที่ 2 ดูเตอร์เตได้ประโยชน์จากการพลาดพลั้งของพวกปรปักษ์ของเขา รองประธานาธิบดีเจโจมาร์ บินาย (Jejomar Binay) อดีตนายกเทศมนตรีเมืองมากาตี (Makati) ที่เป็นศูนย์กลางการเงินของประเทศที่ตั้งอยู่ในมหานครมะนิลา และเพียงเมื่อสักราว 1 ปีก่อนคือผู้ที่ถูกจับตามองอย่างกว้างขวางว่าจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งคราวนี้แบบทิ้งคู่แข่งไกลสุดกู่ แต่ปรากฏว่าเขากลับต้องต่อสู้ดิ้นรนกับเรื่องอื้อฉาวทุจริตคอร์รัปชั่นหลายต่อหลายเรื่อง [4] ซึ่งได้กัดกร่อนมนตร์เสน่ห์ความน่านิยมของเขาในหมู่ผู้มีสิทธิออกเสียง สำหรับอดีตรัฐมนตรีมหาดไทย มาร์ โรซาส นักเศรษฐศาสตร์ชั้นยอดเยี่ยมผู้ผ่านสำนักศึกษาระดับเลอเลิศอย่างวอร์ตัน (Wharton) ได้ทำความผิดพลาดอย่างอุกฤษฏ์ด้วยการนำเสนอตนเองว่า การลงคะแนนให้เขาก็คือการลงประชามติรับรองคณะบริหารชุดปัจจุบันในทางพฤตินัย ทำให้เขาถูกเล่นงานจนโซซัดโซเซ ด้วยข้อหาว่าไร้ความสามารถ และมีความรู้สึกช้าเข้าไม่ถึงความละเอียดอ่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกของประชาชนใน “ภูมิภาคเมืองหลวงแห่งชาติ (National Capital Region ใช้อักษรย่อว่า NCR) ซึ่งก็คือมหานครมะนิลา [5]

ในส่วนของนักการเมืองหน้าใหม่แต่เป็นเซเลบฯคนดังอย่างวุฒิสมาชิกเกรซ โป (Grace Poe) [6] ผู้ซึ่งต้องเผชิญความท้าทายทางกฎหมายอยู่หลายระลอกกว่าจะมีการยืนยันตัดสินในท้ายที่สุดว่าเธอมีสิทธิที่จะลงสมัครเป็นประธานาธิบดีได้ แต่ปัญหาหนักหนาสาหัสของเธออยู่ที่ว่าเธอมีการคบค้าเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับพวกชนชั้นปกครองที่เป็นผู้มีอำนาจอิทธิพลซึ่งได้ถูกบริภาษไปทั่ว ตลอดจนมีความใกล้ชิดพึ่งพาอาศัยอดีตประธานาธิบดีโจเซฟ เอสตราดา โจรปล้นบ้านเมืองที่ถูกตัดสินว่ากระทำผิดจริงไปแล้ว เรื่องนี้เองที่ทำให้เธอแปลกแยกจากฐานเสียง “ชนชั้นกลาง” ที่เคยหนุนหลังเธอ ทีมงานของดูเตอร์เตหยิบฉวยโอกาสเหล่านี้เอาไว้ได้อย่างมั่นคง และพยายามวาดภาพให้เห็นไปว่าพวกคู่แข่งทั้งหมดของเขาต่างก็เป็น คนโกง, คนไร้ความสามารถ, หรือ/และเป็นหุ่นเชิดของชนชั้นปกครองที่ทรงอำนาจอิทธิพล

ประการสุดท้าย ดูเตอร์เต เปิดการรณรงค์หาเสียงที่ทั้งดูเท่และทั้งเป็นระบบ โดยให้น้ำหนักอย่างมากแก่สื่อสังคม [7] ซึ่งคอยวาดภาพของเขาให้เป็นผู้นำ “ตัวจริงเสียงจริง”, เป็นบุรุษผู้เป็นอิสระเป็นตัวของตัวเองและมีเจตนารมณ์ทางการเมืองอันหนักแน่นมั่นคง ต่อชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง เขาเสนอให้ความปลอดภัยในชีวิตและการสร้างตำแหน่งการงานต่างๆ ต่อภูมิภาคที่เป็นชายขอบห่างไกล เขาเสนอเพิ่มสิทธิปกครองตนเองทางการเมืองและทรัพยากรทางด้านงบประมาณ ผลลัพธ์ก็คือ ความบากบั่นพยายามของดูเตอร์เตประสบความสำเร็จ เขาได้คะแนนเสียงท่วมท้น ในมินดาเนา, หลายส่วนของกลุ่มเกาะวิซายาส (Visayas), และ NCR [8] ชัยชนะอย่างสุดเซอร์ไพรซ์ของดูเตอร์เต คือผลผลิตของความมีโชคและทักษะความชำนาญผสมผสานกัน

อย่างไรก็ตาม ดูเตอร์เตยังไม่ถึงขนาดได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาดล้นหลาม จนทำให้เขามีสิทธิกระทำอะไรก็ได้ในทางการเมือง ในจำนวนภาค (region) ต่างๆ รวม 18 ภาคของฟิลิปปินส์ เขาชนะเพียงแค่ 3 ซึ่งตอกย้ำให้เห็นความจำกัดของเขาในเรื่องคะแนนนิยมทั่วประเทศ ผู้ใช้สิทธิออกเสียงที่เลือกดูเตอร์เตรวมแล้วมีจำนวนไม่ถึง 4 ใน 10 เขาโชคดีที่คะแนนของผู้ซึ่งตั้งใจเลือกนักปฏิรูป ต้องมีอันแข่งขันแย่งกันเองระหว่าง โรซาส กับ โป ถ้านำคะแนนของทั้ง 2 คนนี้มารวมกันแล้วก็จะมากกว่าเสียงที่ ดูเตอร์เต ได้รับ หากระบบเลือกตั้งของฟิลิปปินส์มีการกำหนดให้แข่งขันรอบ 2 โดยถ้ารอบแรกไม่มีผู้สมัครคนใดได้เสียงโหวตเกิน 50% ก็นำเอาผู้ได้ที่ 1 และที่ 2 มาแข่งขันกันอีกครั้ง ก็น่าสงสัยอยู่เหมือนกันว่า ดูเตอร์เต จะสามารถดึงคะแนนให้ได้เกินครึ่งหนึ่งเพื่อเป็นผู้ชนะอย่างเด็ดขาดในรอบตัดสินได้หรือไม่

หมายเหตุ
[1] http://opinion.inquirer.net/94430/the-political-outsider
[2] http://news.abs-cbn.com/halalan2016/nation/04/20/16/duterte-marcos-lead-show-grievance-politics-analyst
[3] http://edition.cnn.com/2016/04/26/opinions/philippines-election-analysis/
[4] http://www.rappler.com/nation/125289-vp-binay-liable-graft-corruption-coa
[5] http://www.tribune.net.ph/headlines/noy-s-endorsement-value-slips-as-sws-numbers-fall
[6] http://www.rappler.com/nation/politics/elections/2016/131050-grace-poe-legend-imagined-president
[7] http://www.rappler.com/newsbreak/rich-media/125524-podcast-inside-track-duterte-campaign-social-media-peter-lavina
[8] http://newsinfo.inquirer.net/785257/duterte-lead-thanks-to-new-solid-south-vote-rich-ncr-and-cebu

ริชาร์ด จาวัด เฮย์ดาเรียน เป็นอาจารย์รัฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัยเดอลาซาล (De La Salle University), ฟิลิปปินส์ และเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Asia’s New Battlefield: US, China, and the Struggle for Western Pacific” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Zed ในกรุงลอนดอน

(ความคิดเห็นที่ปรากฏในข้อเขียนนี้เป็นของผู้เขียนเอง ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นการสะท้อนทัศนะของเอเชียไทมส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น