เอเอฟพี - สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station - ISS) ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการสำหรับค้นคว้าวิจัยด้านอวกาศที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ รัสเซีย และนานาชาติ ได้โคจรรอบโลกครบ 100,000 รอบเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (16 พ.ค.)
“วันนี้ไอเอสเอสได้โคจรรอบโลกเป็นครั้งที่ 100,000” ศูนย์ควบคุมภารกิจของไอเอสเอสในกรุงมอสโกระบุในถ้อยแถลง
สถานีอวกาศแห่งนี้ลอยอยู่เหนือพื้นโลกประมาณ 400 กิโลเมตร และจะตีวงโคจรรอบโลก 1 ครั้งในทุกๆ 90 นาที ด้วยความเร็วประมาณ 28,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
การโคจรรอบโลกครั้งที่ 100,000 กินเวลาระหว่าง 07.35 น. ถึง 09.10 น. ตามเวลาในกรุงมอสโก
องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NASA) ได้โพสต์ข้อมูลในทวิตเตอร์ว่า ไอเอสเอสได้หมุนวนรอบโลกเป็นระยะทาง 2,600 ล้านไมล์ “หรือเทียบเท่าการเดินทางไป-กลับระหว่างโลกกับดาวอังคาร 10 รอบ”
“นี่คือหมุดหมาย (milestone) ที่สำคัญ และถือเป็นการฉลองความร่วมมือระหว่างองค์กรด้านอวกาศของรัสเซีย แคนาดา ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ” เจฟฟ์ วิลเลียมส์ วิศวกรการบินชาวอเมริกันซึ่งปฏิบัติภารกิจอยู่ที่ไอเอสเอส กล่าวในคลิปวิดีโอซึ่งถูกโพสต์โดยนาซา
วิลเลียมส์ถูกส่งไปยังไอเอสเอสเป็นครั้งที่ 3 และได้ทำงานร่วมกับเพื่อนนักบินอวกาศ ทิโมธี โคปรา จากนาซา, ทิม พีค จากอังกฤษ และนักบินอวกาศรัสเซียอีก 3 คน ได้แก่ ยูรี มาเลนเชนโก, อเล็กเซย์ ออฟชินิน และ โอเล็ก สกรีปอชกา
มาซิม มัตยูชิน หัวหน้าศูนย์ควบคุมภารกิจของรัสเซีย ยกย่องไอเอสเอสว่าเป็น “แบบอย่างของความร่วมมือระดับนานาชาติที่จริงแท้และได้ผล... เพื่อที่จะดำเนินโครงการริเริ่มที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญต่ออารยธรรมทั้งมวล”
ชิ้นส่วนแรกของสถานีอวกาศนานาชาติที่เรียกว่า “ซาร์ยา” (Zarya) หรือ “รุ่งอรุณ” ในภาษารัสเซีย ถูกส่งขึ้นไปยังห้วงอวกาศเมื่อวันที่ 20 พ.ย. ปี 1998 หรือ 17 ปีที่แล้ว
นักบินอวกาศกลุ่มแรกที่ถูกส่งไปยังไอเอสเอสในปี 2000 ได้แก่ บิล เชปเพิร์ด (สหรัฐฯ), เซียร์เก กรีกาเลฟ (รัสเซีย) และยูริ กิดเซนโก (รัสเซีย) และหลังจากนั้นก็ได้มีการส่งนักบินอวกาศจากชาติต่างๆ ขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนไอเอสเอสอย่างต่อเนื่อง
จากจุดเริ่มต้นเพียง 2 โมดูล สถานีอวกาศแห่งนี้ได้ถูกต่อเติมเพิ่มเป็น 15 โมดูล และมีพื้นที่ใช้สอยเทียบเท่าสนามฟุตบอล โดยใช้เม็ดเงินลงทุนประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
“อายุการใช้งานที่ยาวนานของไอเอสเอสได้พิสูจน์แล้วว่ามนุษยชาติมีเทคโนโลยีดีพอที่จะออกไปปฏิบัติภารกิจนอกโลกอย่างต่อเนื่อง และเรายังมีศักยภาพที่จะสำรวจอวกาศให้กว้างไกลออกไปอีก” มัตยูชินกล่าว
ตั้งแต่สหรัฐฯ ยกเลิกโครงการกระสวยอวกาศ รัสเซียก็เป็นชาติเดียวที่รับหน้าที่ขนส่งนักบินอวกาศไปยังไอเอสเอส โดยอาศัยฐานยิงจรวดไบโคนูร์ที่คาซัคสถาน
โดยปกติแล้วไอเอสเอสจะมีนักบินอวกาศประจำอยู่ 6 คน ขณะที่แคปซูลโซยุซ (Soyuz) ซึ่งใช้นำนักบินอวกาศขึ้นไปยังไอเอสเอส และพากลับมายังพื้นโลก สามารถจุคนได้เพียงครั้งละ 3 คน
จนถึงขณะนี้มีผู้ที่เคยเดินทางไปสถานีอวกาศนานาชาติแล้วทั้งสิ้น 226 คนจาก 15 ประเทศ
ทั้งนี้ คาดว่าไอเอสเอสจะยังคงถูกใช้งานต่อไปจนถึงปี 2024 หลังจากที่หุ้นส่วนทุกประเทศ (ยกเว้นสหภาพยุโรป) ตกลงที่จะอุดหนุนค่าใช้จ่ายไปจนถึงช่วงเวลาดังกล่าว