รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีบารัค โอบามาแห่งสหรัฐฯ บินสู่พระราชวังของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวันศุกร์(22เม.ย.) เพื่อเข้าเฝ้าฯและถวายพระพรเกษัตริย์ที่ทรงพระชนมายุมากสุดในโลกที่ยังครองราชย์อยู่ ซึ่งเพิ่งทรงมีพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษาไปเมื่อวันพฤหัสบดี(21เม.ย.) ไม่นานหลังจากเขียนบทความแสดงความเห็นต่อต้านอังกฤษออกสหภาพยุโรป
สมเด็จพระราชินีและเจ้าชายฟิลิป พระสวามี ทรงให้การต้อนรับประธานาธิบดีและนางมิเชล โอบามา สุภาพสตรีหมายเลข 1 ขณะที่เฮลิคอปเตอร์ของทั้งสองคนลงจอด ณ ลานหญ้าของพระราชวังวินเซอร์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงของอังกฤษไปทางตะวันตกราว 32 กิโลเมตร
หลังจากสนทนากันช่วงสั้นๆ ทั้งสองก็ขึ้นรถเรนจ์โรเวอร์ของราชินี และเจ้าชายฟิลิป พระชนมายุ 94 พรรษา ขับพาทั้งคู่เข้าไปยังพระราชวัง "ผมตระหนักว่ามีการคาดเดามากมายและมีข้อถกเถียงบางอย่าง เกี่ยวกับช่วงเวลามาเยือนของผม" โอบามา เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์เดลี เทเลกราฟ "และผมขอสารภาพว่า ผมต้องการถวายพระพรสมเด็จพระราชินี เนื่องในวาระวันคล้ายวันพระราชสมภพเป็นการส่วนพระองค์"
จุดประสงค์หลักของการเดินทางเยือนคราวนี้ คือเพื่อแสดงความสนับสนุนให้อังกฤษอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป ก่อนหน้าการลงประชามติเกี่ยวกับสถานภาพสมาชิกในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม โอบามา ถือโอกาสนี้เข้าเฝ้าสมเด็จพระราชินีเป็นครั้งที่ 3 หลังเคยเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการพร้อมภรรยาในปี 2011 และเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ในปี 2009
หลังจากเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แล้ว ในวันศุกร์(22เม.ย.) ประธานาธิบดีโอบามา ยังได้เข้าเฝ้าฯเหล่าพะบรมวงศานุวงศ์รุ่นหนุ่มสาว โดยได้รับประทานอาหารค่ำกับเจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงเคต พระชายา เช่นเดียวกับเจ้าชายแฮร์รี ที่พระราชวังเคนซิงตัน ตอนกลางของลอนดอน
ก่อนหน้าเดินทางเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ประธานาธิบดีโอบามา ได้วิงวอนโดยตรงถึงผู้มีสิทธิ์ออกเสียงชาวอังกฤษ ให้ลงคะแนนโหวตอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไป โดยระบุว่าความเป็นสมาชิกได้ช่วยขยายสถานะของอังกฤษในโลกใบนี้ และช่วยให้อียูมีความแข้มแข็งขึ้นและสามารถมองไปข้างนอกได้ไกลกว่าเดิม
ในบทความที่เขียนลงในเดอะ เดลี่ เทเลกราฟ โอบามา ยกความเชื่อมโยงกันทางประวัติศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯและอังกฤษ และชาวอเมริกาหลายหมื่นคนที่เสียชีวิตในสงครามยุโรป เป็นเหตุผลที่เขาขอพูดถึงประชามติที่จะจัดขึ้นในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ "สหภาพยุโรปไม่ได้ทำให้อิทธิพลของอังกฤษลดลง มันช่วยเพิ่มพูนด้วยซ้ำ" เขาเขียน ภายใต้พาดหัวว่า "ในฐานะเพื่อนของคุณ ผมบอกกับคุณว่าอียูทำให้อังกฤษยิ่งใหญ่กว่าเดิม"
อย่างไรก็ตาม ผู้นำสหรัฐได้กล่าวทิ้งท้ายว่าผลการลงประชามติจะเป็นเช่นใดนั้น เป็นเรื่องของประชาชนชาวอังกฤษอย่างแท้จริง
ข้อเขียนของนายโอบามาถือเป็นเรื่องที่ไม่ปกตินัก ที่อยู่ดี ๆ ผู้นำสหรัฐฯจะมาเปิดประเด็นการเมืองภายในของประเทศอื่น โดยในมุมมองของรัฐบาลวอชิงตันนั้นมองว่า การที่นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนของอังกฤษ ตัดสินใจเปิดให้มีการลงประชามติอาจส่งผลให้อังกฤษหรืออียูอ่อนแอลงอย่างมาก
บทความชิ้นนี้อาจมีอิทธิพลในอังกฤษซึ่งมีวัฒนธรรมร่วมกับสหรัฐฯ แต่ก็มีความกังวลอย่างมากว่าอังกฤษกำลังเป็นเด็กในคาถาของรัฐบาลวอชิงตันและมีรายงานว่า ส.ส.อังกฤษกว่า 100 คน ยื่นหนังสือแสดงความไม่พอใจต่อเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำกรุงลอนดอน ส่วนฝ่ายที่สนับสนุนออกจากอียูวิจารณ์ว่า นายโอบามาเป็นคนนอกไม่ควรออกความเห็นเรื่องอังกฤษจะอยู่หรือไปจากอียู
กระนั้นก็ตามโฆษกของทำเนียบนายกรัฐมนตรีคาเมรอน แสดงความยินดีต่อการแทรกแซงของนายโอบามา "เมื่อคุณเห็นพันธมิตรและคู่หูจากทั่วโลกสนับสนุนให้อังกฤษอยู่ในอียูต่อไป พูดคุยเกี่ยวกับอิทธิพลของเราในโลกใบนี้ เราคิดว่ามันเป็นข้อคิดเห็นสำคัญที่ต้องรับฟัง" โฆษกของนายคาเมรอนระบุ