xs
xsm
sm
md
lg

‘บริกรสาว’ภัตตาคารเกาหลีเหนือยกชุด ‘แปรพักตร์’ หนีมายังโสมขาว บอกอะไรเราบ้าง?

เผยแพร่:   โดย: ชิม แจ ฮุน

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

North Korea defectors: It’s not yet a flood, but trickles can be ‘provocative’
By Shim Jae Hoon
13/04/2016

กรณีพนักงานภัตตาคารเกาหลีเหนือแห่งหนึ่ง ในเมืองหนิงโป มณฑลเจ้อเจียง ทางภาคตะวันออกของจีน แปรพักตร์หลบหนีมาขอลี้ภัยในเกาหลีใต้กันชนิดยกชุดทั้งสาวบริกร 12 คนและผู้จัดการชายอีก 1 คน เป็นตัวอย่างสะท้อนให้เห็นว่า แบบแผนของการเอาใจออกหาก ซึ่งในอดีตมักอยู่ในแวดวงของผู้ใช้แรงงานตามพื้นที่แถบชายแดนโสมแดงนั้น เวลานี้กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำท่าจะแผ่ลามใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ

โซล - ตัวข่าวที่ปรากฏออกมายังไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าใดนัก เนื่องจากสิ่งซึ่งถูกเพ่งเล็งจับจ้องกันมากกว่าคือจังหวะเวลาที่ข่าวนี้ได้รับการเผยแพร่

ตอนที่รัฐบาลเกาหลีใต้ออกข่าวเรื่องพนักงานภัตตาคารเกาหลีเหนือ 13 คนแปรพักตร์ขอลี้ภัยในแดนโสมขาวนั้น พอดีเป็นช่วงเวลาอันเข้มข้นของการรณรงค์หาเสียงสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเกาหลีใต้ซึ่งมีขึ้นในวันที่ 13 เมษายน [1] ดังนั้นเหล่าผู้สมัครของพรรคฝ่ายค้านจึงพากันออกมาประณามตราหน้าการแถลงข่าวเรื่องนี้ในทันที ว่าเป็นลูกไม้ที่จะเอาเปรียบเล่นขี้โกงของฝ่ายรัฐบาล “ประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย กำลังพยายามที่จะส่งอิทธิพลต่อการลงคะแนน ด้วยการใช้เรื่องการแปรพักตร์ของคนเกาหลีเหนือนี้อย่างมีเล่ห์กลไม่ตรงไปตรงมา” อัน เชือลซู (Ahn Cheol-soo) ผู้นำฝ่ายเสรีนิยมของพรรคพีเพิลส์ ปาร์ตี้ (People’s Party) อันเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ตั้งขึ้นมาใหม่ๆ กล่าวแสดงความไม่พอใจ

การประกาศข่าวการเอาใจออกหากครั้งสำคัญครั้งใหม่ของชาวเกาหลีเหนือคราวนี้ มีขึ้นเพียง 5 วันก่อนหน้าวันลงคะแนนเลือกตั้ง แน่นอนทีเดียวว่ามันอาจจะส่งผลในการเพิ่มพูนเชิดชูภาพลักษณ์ของพรรครัฐบาล ซึ่งกำลังรับมือกับการแบล็กเมล์ขู่กรรโชกด้วยอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ที่ไม่เพียงถูกเกาหลีใต้ประณามสาปแช่งเท่านั้น หากแต่สหรัฐฯกับญี่ปุ่นก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองเดียวกันด้วย

แต่ปฏิกิริยาตอบโต้ทันควันแบบมองโลกในแง่มืดมนร้ายกาจไปหมดเช่นนี้ มีความเสี่ยงที่จะทำให้มองไม่เห็นพัฒนาการอันจริงจังหนักแน่น ซึ่งดูเหมือนกำลังโผล่ขึ้นมาให้เห็นภายในระบอบปกครองที่แสนบีบคั้นกดดันของผู้เผด็จการคิม จองอึน ผู้ปกครองทรงอำนาจเด็ดขาดซึ่งทำตัวลึกลับซ่อนเร้นที่สุดในโลกเวลานี้

ตั้งแต่ “ภาวะอดอยากครั้งใหญ่” (the Great Famine) ในแดนโสมแดง [2] เริ่มต้นขึ้นในปี 1995 มีชาวเกาหลีเหนือมากกว่า 18,000 คนแล้วที่ทยอยกันเล็ดลอดหลบหนีออกจากประเทศอันแสนยากจนแร้นแค้นของพวกเขา พวกเขาเหล่านี้ส่วนใหญ่ที่สุดเป็นคนงานเหมืองและผู้เพาะปลูกหว่านไถในนารวม แถบบริเวณแนวพรมแดนยาวเหยียด 1,300 กิโลเมตรที่ติดต่อกับจีน มีเพียงจำนวนน้อยเท่านั้นซึ่งมาจากพื้นที่ที่ได้รับการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรมากกว่า ของจังหวัดพยองอัน (Pyongan) หรือจังหวัดฮวังเฮ (Hwanghae) ซึ่งอยู่ถัดลงมาอีกทางตอนใต้

ผู้มีโอกาสทางสังคมก็แปรพักตร์กันมากขึ้น

แต่แบบแผนดังที่กล่าวมานี้ทำท่าว่ากำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง ออกจะเป็นเรื่องตลกร้ายอยู่เหมือนกัน เพราะขณะที่ คิม จองอึน เพ่งเล็งให้ความสนใจกับการแก้ไขภาวะที่เคยเป็นสาเหตุสำคัญของการแปรพักตร์ในอดีต โดยเริ่มทำการโจมตีปัญหาการขาดแคลนอาหารซึ่งเกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อเรื้อรัง ก็เป็นเวลาเดียวกับที่ปรากฏการไหลบ่าของผู้เอาใจออกหากรุ่นใหม่ๆ ซึ่งดูเหมือนใช้เส้นทางใหม่ที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน ดังที่ หลู่ คัง (Lu Kang) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนตั้งข้อสังเกตในการแถลงสรุปของเขาครั้งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ โดยเขากล่าวว่า พนักงานภัตตาคารโสมแดงทั้ง 13 คน (ประกอบด้วยบริกรสตรี 12 คน และผู้จัดการที่เป็นผู้ชายอีก 1 คน) ไม่ได้เป็น “ผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฎหมาย” ซึ่งกระโจนข้ามชายแดนเข้ามาโดยปราศจากเอกสารที่ถูกต้อง ตรงกันข้าม “พวกเขาทั้งหมดมีเอกสารสำหรับการออกนอกอาณาเขตของจีนอย่างถูกต้อง” หลู่ ระบุ พร้อมกับปฏิเสธการกล่าวอ้างอย่างโกรธเกรี้ยวของเปียงยางที่ว่า จีนได้ “สมรู้ร่วมคิดด้วย” ในการดำเนินการ “ลักพาบุคคลสัญชาติสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) โดยฝีมือของพวกสายลับเกาหลีใต้” พูดกันสั้นๆ ก็คือ ผู้เอาใจออกหากเหล่านี้เป็นผู้ที่ถือพาสปอร์ตอย่างถูกต้องตามกฎหมายของเกาหลีเหนือซึ่งมีเสรีที่จะเดินทางเข้าและออกจากประเทศจีนได้ หลู่แถลงย้ำ พวกเขากระทั่งมีใบอนุญาตทำงานอย่างเป็นทางการในจีนด้วยซ้ำไป

ดังนั้น ความน่าอับอายขายหน้าอย่างสำคัญที่สุดของเรื่องราวการผจญภัยเรื่องนี้ จึงสามารถย้อนย้อนไปถึงฐานะทางสังคม-การเมืองของคนเหล่านี้ภายในประเทศของพวกเขา/พวกเธอเอง ในฐานะที่เป็นบุตรสาวของพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสในพรรคและในรัฐบาล บริกรสาวเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยศิลปะในกรุงเปียงยาง เป็นที่ชัดเจนว่าพวกเธออยู่ในระดับชนชั้นที่ได้รับความไว้วางใจและมีอภิสิทธิ์เหนือสามัญชน อีกทั้งมีความสามารถในการร้องการเต้นและการเล่นเครื่องดนตรีต่างๆ พวกเธออยู่ในโลกซึ่งห่างไกลชนิดคนละโลกจากคนงานเกาหลีเหนือที่ถูกส่งไปเป็นคนตัดไม้ซุงในไซบีเรีย หรือเป็นคนงานตามสถานที่ก่อสร้างในคูเวตและในประเทศตะวันออกกลางอื่นๆ นี่เองคือเหตุผลที่ทำให้เกิดอาการตะลึงงันนิ่งเงียบกันอยู่ถึง 5 วัน ก่อนที่ทางการผู้รับผิดชอบของเกาหลีเหนือจะออกคำแถลงเรียกการแปรพักตร์คราวนี้ว่าเป็น “การลักพาตัวของฝ่ายเกาหลีใต้” และเป็น “พฤติการณ์ยั่วยุอย่างชนิดไม่สามารถอดทนอดกลั้นได้”

สาวเสิร์ฟโสมแดงกับการสืบหาข่าวกรอง

ประมาณกันว่า เปียงยางมีภัตตาคารแห่งต่างๆ อยู่ 120 แห่ง ตั้งอยู่ทั้งในเอเชีย, ยุโรป, และแอฟริกา ภัตตาคารเหล่านี้เป็นธุรกิจที่รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินกิจการ โดยจุดมุ่งหมายสำคัญประการหนึ่งได้แก่การหารายได้ในรูปเงินตราต่างประเทศให้แก่รัฐที่ถูกบีบคั้นจากทั่วโลกอย่างหนักหน่วงเหลือเกิน ราว 100 แห่งตั้งกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศจีน เห็นได้ชัดเจนว่ากิจการเหล่านี้ตั้งอกตั้งใจที่จะหาประโยชน์จากการที่มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาแดนมังกรกันอย่างมากมาย รวมทั้งพวกที่มาจากเกาหลีใต้ด้วย รัฐบาลจีนแสดงท่าทีเหมือนกับมีความเห็นอกเห็นใจและเข้าอกเข้าใจเกาหลีเหนือ ด้วยการยักคิ้วหลิ่วตาให้แก่การจัดตั้งสถานที่เหล่านี้ ด้วยเมนูอาหารที่คิดราคาแพงลิ่ว ลูกค้าที่จะใช้บริการในภัตตาคารเหล่านี้ได้ จึงต้องเป็นชาวเกาหลีใต้หรือชาวต่างชาติอื่นๆ ซึ่งพำนักทำงานอยู่ในแดนมังกรและพร้อมควักกระเป๋าจับจ่าย นอกจากนั้นยังมีนักท่องเที่ยวจากแดนโสมขาวซึ่งกระหายที่จะได้ชิมอาหารเกาหลีแบบประเพณีดั้งเดิมซึ่งยังไม่ถูกเจือปนจากรสชาติและส่วนประกอบต่างด้าวตามสไตล์ “อาหารฟิวชั่น” ที่พวกเขาคุ้นเคยอยู่ในกรุงโซล และกลุ่มหลังนี้เองลงท้ายก็กลายเป็นลูกค้าส่วนใหญ่ที่สุด ยิ่งมีสาวงามเกาหลีเหนือที่ขาขาวเรียวยาวมีเสน่ห์เป็นผู้คอยให้บริการ ก็ยิ่งเป็นแรงจูงใจเพิ่มมากขึ้นอีก สำหรับพวกผู้จัดการ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับการคัดสรรแต่งตั้งจากกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐนั้น ภัตตาคารเหล่านี้ยังเป็นสถานที่ชั้นดีในการลักลอบแอบฟังการสนทนาของบรรดาแขกที่เข้ามาในร้าน

แต่สำหรับบริกรสาวๆ ผู้ซึ่งคิดว่าพวกเธอได้ผละออกจากชีวิตอันจืดชืดไร้รสชาติในบ้านเกิด โดยที่ส่วนใหญ่ต้องอาศัยการติดสินบนและการวิ่งเต้นใช้เส้นสายอิทธิพลกันทั้งนั้น ชีวิตของพวกเธอในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นในจีน, กัมพูชา, หรือที่อื่นๆ ก็ใช่ว่าจะสะดวกสบายง่ายดาย พวกเธอยังต้องเผชิญกับการถูกสอดแนมและต้องอยู่ในระเบียบวินัยเคร่งครัดเหมือนในค่ายทหาร พาสปอร์ตของพวกเธอจะถูกผู้จัดการภัตตาคารยึดเอาไว้เพื่อเป็นการตัดหนทางหากคิดที่จะหลบหนี เวลาไปจับจ่ายซื้อของตามตลาดท้องถิ่น พวกเธอต้องไปกันเป็นกลุ่มสองคนหรือสามคน โดยมีคนหนึ่งเป็นผู้ทำหน้าที่เฝ้าตรวจตราคนอื่นๆ ทว่ากระทั่งภายใต้การสอดแนมเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดขนาดนี้ บางครั้งความรักก็สามารถเบ่งบานขึ้นมาได้จากการเหลือบแลมองตากันโดยไม่ต้องพูดจากับลูกค้าชาวเกาหลีใต้ ส่งผลให้เกิดการพาหนีอันน่าตื่นเต้นเร้าใจพอๆ กับภาพยนตร์ทีเดียว (เรื่องนี้เกิดขึ้นที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา แต่ความรักโรมานซ์เรื่องนี้ลงท้ายแล้วนำไปสู่พิธีแต่งงานซึ่งจัดขึ้นในกรุงโซลหรือไม่นั้น ไม่เป็นที่ทราบกัน)

ชีวิตในแบบสไตล์เจ้อเจียง

เพื่อช่วยบรรเทาความจำเจน่าเบื่อของชีวิตที่เหมือนอยู่ในค่ายทหารในท้องถิ่นซึ่งมีอากาศฤดูกาลแบบร้อนชื้นผิดแผกจากบ้านเกิด พวกหัวหน้างานจึงอนุญาตให้พวกเธอชมรายการทีวีท้องถิ่นได้ อย่างไรก็ตาม นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะก่อให้เกิดเป็นเสน่ห์อันเย้ายวนถึงขั้นพิฆาตผลาญชีวิตได้ ดังที่เกิดขึ้นในกรณีของบริกรหญิง 12 คนแห่งของภัตตาคารเกาหลีเหนือซึ่งตั้งอยู่ในเมืองหนิงโป (Ningbo) มณฑลเจ้อเจียง ทางภาคตะวันออกของจีน เวลานี้พวกสถานีโทรทัศน์ตลอดทั่วทั้งเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่เวียดนามไปจนถึงกัมพูชาและประเทศจีน ต่างพากันฉายซีรีส์ละครโรมานซ์ยอดนิยมจากเกาหลีใต้ (เป็นต้นว่า เรื่อง Descendants of the Sun กระมัง?) รายการเหล่านี้ทำให้พวกเธอได้เห็นภาพสดๆ ชวนตระหนกสุดช็อกเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ต่างๆ อันมั่งคั่งฟุ่มเฟือยและแสนอิสรเสรีในเกาหลีใต้ ทั้งนี้เหล่าผู้แปรพักตร์จากหนิงโปพากันเดินทางมาถึงกรุงโซลในชุดยีนส์คับๆ, สวมรองเท้าอาดิดาส, และหิ้วกระเป๋าถือที่เลียนแบบพวกแบรนด์เนม ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นข้อพิสูจน์อันชัดแจ้งว่าพวกเธอเฝ้ารออย่างอดกลั้นอดทนมานานแล้วที่จะได้สวมใส่ชุดแฟชั่นแบบเกาหลีใต้

มีข้อน่าสังเกตด้วยว่า ระยะไม่กี่เดือนหลังมานี้ ประเภทที่ฮาร์ดคอร์ยิ่งกว่านี้ ก็กำลังพากันแปรพักตร์กันเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน พวกเขาเหล่านี้มีตั้งแต่สปายสายลับทั้งที่เป็นพลเรือนและที่เป็นทหาร, เจ้าหน้าที่การค้าและเจ้าหน้าที่ธนาคาร (พวกเขาบางคนแอบนำเอาเงินทองหลายล้านดอลลาร์ในความดูแลของพวกเขาติดไม้ติดมือเข้ามาด้วย), นักการทูตและนักศึกษา, ทหารประจำป้อมค่ายที่หนีมาทั้งเครื่องแบบ, บริกร, หัวหน้าคนงานในค่ายตัดไม้ซุง, คนงาน, และกระทั่งเด็กจรจัดที่ถูกทอดทิ้งอยู่ตามหมู่บ้านชายแดน พวกเขามาจากสถานที่ต่างๆ กันหลายหลาก ตั้งแต่จีนไปจนถึงรัสเซีย, ตั้งแต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปจนถึงแอฟริกา เรื่องโจ๊กเรื่องหนึ่งที่เล่ากันในกรุงโซลก็คืออีกไม่ช้าไม่นานนี้แหละจะต้องมีคนที่มาจากคิวบา ซึ่งกำลังผ่อนคลายและเปิดความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ แถมคิวบายังรับนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้แล้วด้วย

แดนโสมขาวเวลานี้ยังกำลังทรงเสน่ห์สามารถดึงดูดผู้เอาใจออกหากระดับสำคัญมากได้หลายคนทีเดียว หนึ่งในจำนวนนี้กล่าวกันว่าเป็นคนใหญ่คนโตซึ่งแปรพักตร์มาเมื่อ 2 ปีก่อน มีบิดาและบุตรชายคู่หนึ่งซึ่งหลบหนีมาจากประเทศจีน บิดานั้นเป็นนายทหารบกยศพันเอกของเกาหลีเหนือ ซึ่งสังกัดอยู่กับกรมตรวจการณ์ลาดตระเวน (Bureau of General Reconnaissance) หน่วยงานนี้คือหน่วยงานก่อวินาศกรรมระดับท็อป ซึ่งได้รับเครดิตในกรณีการโจมตีด้วยตอร์ปิโดเล่นงานเรือฟริเกตลำหนึ่งของกองทัพเรือเกาหลีใต้เมื่อปี 2000 ซึ่งทำให้เรือรบลำนั้นถึงกับขาดเป็น 2 ท่อนและลูกเรือ 46 คนเสียชีวิต หน่วยนี้ยังเกี่ยวข้องพัวพันกับแผนลอบสังหาร ฮวาง จาง ย็อป (Hwang Jang Yop) นักทฤษฎีคนสำคัญในพรรคคอมมิวนิสต์เกาหลีเหนือ (ซึ่งใช้ชื่ออย่างเป็นทางการว่าพรรคผู้ใช้แรงงานเกาหลี) ที่ได้แปรพักตร์มาอยู่กับเกาหลีใต้ ทว่าแผนการนี้ประสบความล้มเหลว ไม่เพียงเท่านั้น หน่วยงานนี้ยังมีส่วนอยู่ในกระแสการโจมตีทางไซเบอร์เล่นงานเกาหลีใต้ในช่วงหลังๆ นี้อีกด้วย

แรงบีบคั้นกดดันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับพวกผู้จัดการที่ต้องดูแลดำเนินการภัตตาคารนั้น เหตุผลสำคัญที่ทำให้คิดเอาใจออกหาก ได้แก่แรงบีบคั้นกดดันอย่างไร้ความปรานีจากเปียงยาง ซึ่งเอาแต่เร่งรัดให้เพิ่มรายได้จากธุรกิจ และส่งเงินกลับไปเปียงยางให้มากขึ้น มีรายงานว่า โดยรวมๆ แล้วพวกเขาต้องจัดส่งเงินกลับไปประมาณปีละ 30 ล้านดอลลาร์ บ่อยครั้งทีเดียวที่พวกเขาแต่ละคนจะถูกกำหนดโควตาจำนวนเงินที่จะต้องส่งกลับไปอย่างชนิดที่ต่อรองไม่ได้ หากล้มเหลวไม่สามารถทำตามเป้าหมาย ก็อาจหมายถึงการถูกเรียกตัวกลับบ้าน สำหรับบริกรนั้นได้รับเงินเดือนกันตั้งแต่คนละ 15 ดอลลาร์จนถึง 50 ดอลลาร์ต่อเดือน

การที่สหประชาชาติออกมาตรการลงโทษคว่ำบาตรเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่เดือนมีนาคม ซึ่งมุ่งเล่นงานหน่วยงานทางเศรษฐกิจต่างๆ ของเกาหลีเหนือ ภายหลังการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของโสมแดงในเดือนมกราคม กำลังกลายเป็นการเพิ่มแรงบีบคั้นกดดันเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันกลายเป็นการยับยั้งไม่ให้ลูกค้าชาวเกาหลีใต้เดินทางมาใช้บริการที่ภัตตาคารเกาหลีเหนือ ซึ่งในทางปฏิบัติก็คือทำให้ภัตตาคารเหล่านี้มีแขกเหลืออยู่โหรงเหรง ในกรณีของภัตตาคารที่เมืองหนิงโปนั้น ธุรกิจเลวร้ายลงถึงขนาดที่ตัวผู้จัดการเองตัดสินใจที่จะหลบหนีไปพร้อมๆ กับพวกสาวบริกรในร้านของเขา ภายหลังที่พบว่าเป็นเรื่องยากลำบากเหลือเกินที่จะหาเงินส่งกลับไปตามคำสั่งของเปียงยาง เราน่าที่จะสันนิษฐานได้โดยไม่ต้องกลัวผิดพลาดว่า สถานกงสุลเกาหลีใต้ในนครเซี่ยงไฮ้ ต้องมีความกระตือรือร้นเหลือเกินที่จะช่วยเหลือให้เขาหลุดพ้นจากความยากลำบากเช่นนี้

การได้ตำแหน่งไปประจำในต่างประเทศ โดยเฉพาะในชาติเพื่อนบ้านอย่างประเทศจีนซึ่งพวกเขาสามารถดำเนินกิจการได้ค่อนข้างง่ายดายในท่ามกลางประชาคมท้องถิ่นที่มีอิสรเสรี เคยถือเป็นสิ่งพึงปรารถนาอย่างแรงกล้ามานานแล้วในระบบแวดวงของเปียงยาง ทว่าเส้นทางไปสู่เสรีภาพอันสำคัญยิ่งยวดนี้ดูทำท่าจะหดแคบตีบตันลงภายหลังกรณีการแปรพักตร์ที่หนิงโป โดยรัฐบาลที่บ้านเกิดกำลังจัดส่งทีม “ตรวจสอบ” จำนวนหลายสิบทีมออกไปทั่วประเทศจีน เพื่อสกรีนค้นหาพวกที่อาจจะเอาใจออกหาก ทั้งนี้ตามรายงานซึ่งมาจากเมืองตานตง (Dandong), เหยียนจี๋ (Yanji), เสิ่นหยาง (Shenyang), และเมืองอื่นๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

ยิ่งกว่านั้น ดูเหมือนว่าการรณรงค์ที่ขับดันโดยความเหี้ยมโหดของ คิม จองอึน ซึ่งมีการสลับคั่นด้วยการประหารชีวิตเจ้าหน้าที่ระดับท็อปอยู่บ่อยครั้งนั้น กำลังกลายเป็นเชื้อเพลิงกระตุ้นให้เกิดการแปรพักตร์โดยไม่ได้ตั้งใจ และที่สำคัญก็คือ รอยแตกร้าวของระบบกำลังเปิดขึ้นมาในบริเวณตรงกลางโครงสร้างแกนกลางของรัฐ และไม่ได้ห่างจากจุดสูงสุดของระบอบสักกี่มากน้อยเลย นี่คือสัญญาณอันคุ้นเคยประการหนึ่งในเวลาที่ระบบคอมมิวนิสต์ทั้งหลายเริ่มต้นการแตกสลาย

การที่จีนมีความสัมพันธ์อย่างเย็นชากับเปียงยาง ก็สามารถช่วยเร่งรัดแนวโน้มนี้ได้ ทว่าตอนนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนเลยว่าปักกิ่งจะยินยอมปล่อยให้กระบวนการนี้เดินหน้าต่อไปหรือไม่ ปักกิ่งยังคงบังคับส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือที่พวกเขาพิจารณาว่าเป็น “ผู้อพยพทางเศรษฐกิจ” กลับคืนประเทศไป ทว่าไม่ทำเช่นนั้นในกรณีทางมนุษยธรรม

เมื่อการลงโทษคว่ำบาตรเริ่มบังเกิดผลอย่างจริงจัง คาดหมายได้ว่าภัตตาคารของเกาหลีเหนือจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จะปิดตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองอย่าง ตานตง, เสิ่นหยาง, และเหยียนจี๋ ซึ่งอยู่ประชิดติดชายแดน จากการที่เวลานี้นักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้เจตนาหลีกเลี่ยงไม่ไปอุดหนุนภัตตาคารของเปียงยาง มีรายงานว่าพบเห็นสาวบริกรโสมแดงบางคนในพม่ากำลังตั้งหาบเร่ขายข้าวปั้นอยู่ตามถนนในนครย่างกุ้ง

นี่เป็นภาพที่ชวนให้สลดใจ และก็เป็นสัญญาณเตือนอันตราย หญิงสาวเกาหลีคู่หนึ่งแต่งกายด้วยเสื้อผ้าตามประเพณีที่เต็มไปด้วยสีสัน กำลังขายข้าวปั้นใต้ร่มกันแดดบนท้องถนนของเมืองย่างกุ้ง มันเป็นสิ่งแสดงว่าความเสื่อมทรุดกำลังกลุ้มรุมเล่นงานเปียงยางถึงขนาดไหนแล้ว ทว่า ในกรุงโซล รัฐบาลกำลังสาละวนวุ่นวายอยู่กับการเลือกตั้ง จนดูเหมือนไม่สามารถที่จะโฟกัสขบคิดพิจารณาว่า จำเป็นต้องดำเนินแผนการฉุกเฉินอะไรบ้างเพื่อรับมือกับพัฒนาการต่างๆ เหล่านี้

ชิม แจ ฮุน เป็นนักวิเคราะห์การเมืองและนักวิจารณ์การเมืองทางสื่อมวลชนซึ่งมีชื่อเสียง ในอดีตเขาเคยทำงานเป็นหัวหน้าสำนักงานกรุงโซลของนิตยสารฟาร์อีสเทิร์นอีโคโนมิกรีวิว

หมายเหตุผู้แปล

[1] การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาเกาหลีใต้ในวันที่ 13 เมษายน ปรากฏผลว่า พรรคแซนูรี ของประธานาธิบดีพัค กึน-ฮเย ได้เก้าอี้เพียง 122 ที่นั่งจากทั้งหมด 300 ที่นั่งในสมัชชาแห่งชาติ ส่วนพรรคมินจู พรรคฝ่ายค้านหลักที่เป็นพวกเอียงซ้าย กวาดไปได้ 123 ที่นั่ง กลายเป็นพรรคที่มีที่นั่งสูงสุดในสภา นอกจากนั้น พรรคพีเพิลส์ ปาร์ตี้ อีกหนึ่งพรรคฝ่ายค้าน คว้าไป 38 ที่นั่ง ขณะที่พรรคฝ่ายค้านขนาดเล็กอย่าง จัสติซ ปาร์ตี้ ก็คว้าไป 6 ที่นั่ง (ดูรายละเอียดได้ที่เรื่อง “ล็อกถล่ม! สื่อชี้ฝ่ายค้านคว้าชัยศึกเลือกตั้งเกาหลีใต้ ครองเสียงสภาเหนือพรรค รบ.หนแรกรอบ 16 ปี” http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9590000038115)


[2] “ภาวะอดอยากครั้งใหญ่” (the Great Famine) ในเกาหลีเหนือ ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโดยทั่วไปของโสมแดง ปะทุขึ้นในเกาหลีเหนือตั้งแต่ประมาณปี 1994 จนถึงปี 1998

ภาวะอดอยากคราวนี้มีต้นตอจากปัจจัยหลายๆ ประการ เป็นต้นว่า การบริหารจัดการเศรษฐกิจอย่างผิดพลาด และการสูญเสียความสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต ได้กลายเป็นสาเหตุทำให้การผลิตอาหารและการนำเข้าอาหารลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่อุทกภัยและภัยแล้งซึ่งเกิดต่อเนื่องเป็นระลอกก็ยิ่งซ้ำเติมวิกฤตการณ์ให้รุนแรงมากขึ้น โดยที่รัฐบาลเกาหลีเหนือและระบบการวางแผนจากส่วนกลางของโสมแดง แสดงให้เห็นว่าแข็งทื่อขาดความยืดหยุ่นจนไม่สามารถบรรเทาภัยพิบัติให้ลดน้อยลงอย่างมีประสิทธิภาพได้ ภาวะอดอยากครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตไปเป็นจำนวนเท่าใดกันแน่ มีผู้ให้ตัวเลขประมาณการซึ่งแตกต่างกันมาก โดยในจำนวนประชากรเกาหลีเหนือทั้งหมดราว 22 ล้านคนนั้น มีผู้ประมาณการว่าได้เสียชีวิตไประหว่าง 240,000 คน จนถึง 3,500,000 คน ด้วยการอดตายหรือโรคซึ่งเกี่ยวข้องกับการอดอาหาร ทั้งนี้จำนวนผู้เสียชีวิตขึ้นถึงจุดสูงสุดในปี 1997 มีงานวิจัยในช่วงหลังมานี้ซึ่งบ่งชี้ว่า ผู้เสียชีวิตไปในช่วงระหว่างปี 1993 ถึงปี 2000 นั้น มีจำนวนราว 330,000 คน
(ข้อมูลจาก Wikipedia)


กำลังโหลดความคิดเห็น