รอยเตอร์ / เอเจนซีส์ / MGR online – เหตุรุนแรงที่มีความเชื่อมโยงกับแก๊งอาชญากรรมในหลายพื้นที่ของภูมิภาคอเมริกากลาง ได้ก่อให้เกิดวิกฤตผู้อพยพครั้งเลวร้าย ไม่ต่างจากผลพวงของสงครามกลางเมืองในภูมิภาคแห่งเดียวกันนี้เมื่อช่วงทศวรรษ 1980 ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) ในวันอังคาร (5 เม.ย.)
อาเดรียน เอ็ดเวิร์ดส์ โฆษกของยูเอ็นเอชซีอาร์เผยต่อผู้สื่อข่าวโดยระบุ จำนวนผู้คนที่อพยพหนีความรุนแรงจากพวกแก๊งอาชญากรรมในอเมริกากลางได้พุ่งสูงขึ้นสู่ระดับที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนนับตั้งแต่ยุคสงครามกลางเมืองในภูมิภาคนี้เมื่อทศวรรษที่ 1980 โดยเฉพาะเหตุรุนแรงจากพวกแก๊งอาชญากรรมใน 3 ประเทศ คือ เอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส และกัวเตมาลา ซึ่งในบางครั้งถูกขนานนามว่า เป็นพื้นที่ “สามเหลี่ยมตอนเหนือของอเมริกากลาง” ที่ผลักดันให้เกิดคลื่นผู้อพยพเป็นเรือนหมื่นสู่ประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึง สหรัฐอเมริกาที่ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางหลักในการขอลี้ภัยของผู้อพยพจากประเทศทั้งสาม
ในปี 2016 นี้ ซึ่งเป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ประเด็นปัญหาผู้อพยพได้กลายเป็นเรื่องที่ถูกจับตาเป็นพิเศษและกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง โดยผู้สมัครชิงตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันหลายราย ต่างหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาสร้างคะแนนนิยมให้กับตนเอง
โดยเฉพาะกรณีโดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีจากฝั่งรีพับลิกัน ที่ประกาศจะหาหนทางบีบบังคับให้รัฐบาลเม็กซิโกจ่ายเงินสร้างกำแพงตลอดแนวพรมแดนที่ติดต่อกับสหรัฐฯ สำหรับสกัดกั้นผู้อพยพเข้าสู่เมืองลุงแซม ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่ทรัมป์ขู่จะนำมาใช้ คือ การห้ามแรงงานเม็กซิกันในสหรัฐฯ ส่งเงินกลับประเทศบ้านเกิด
ข้อมูลล่าสุดของยูเอ็นเอชซีอาร์ระบุว่า ผู้อพยพจำนวน 3,423 รายซึ่งส่วนใหญ่มาจากเอลซัลวาดอร์และฮอนดูรัสได้ขอลี้ภัยในเม็กซิโกในปีที่แล้ว ถือเป็นการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 65 ขณะที่ทางการคอสตาริกาก็อ้างว่า ปัญหาความรุนแรงจากแก๊งอาชญากรรมในประเทศเพื่อนบ้านส่งผลให้มีผู้อพยพเดินทางเข้าขอลี้ภัยในประเทศตนทั้งสิ้น 2,203 รายในปีที่แล้ว ยังไม่รวมกับสถานการณ์เดียวกันที่เกิดขึ้นกับประเทศเบลิซ นิการากัว และปานามา