เอพี – วันนี้( 31 มี.ค)ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ออกคำพิพากษาตัดสินให้บทกฎหมายลงโทษค้าประเวณียังคงมีความเข้มงวดอยู่ต่อไป ไม่ฟังเสียงผู้ร้องหญิงค้ากามเกาหลีใต้อ้างสิทธิชอบธรรมเสรีภาพในการเลือกอาชีพ โดยคำตัดสินของศาลอ้างถึงความจำเป็นในการปกป้องศีลธรรมของสังคมแดนโสม และป้องกันไม่ให้มีการใช้เสรีภาพเช่นนี้ในการตักตวงหาผลประโยชน์
ในวันพฤหัสบดี(31 มี.ค)ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ออกคำพิพากษาตัดสินให้บทกฎหมายลงโทษค้าประเวณียังคงบังคับใช้อย่างเข้มงวดต่อไป โดยมีบทลงโทษต่อผู้ซื้อและผู้ขายที่มีการลงโทษต้องขังสูงสุดนานถึง 1 ปี และมีค่าปรับสูงถึง 3 ล้านวอน หรือ 2,600 ดอลลาร์
ซึ่งเอพีชี้ว่า คำตัดสินที่ออกมานี้จากการยื่นฟ้องของหญิงค้าประเวณีชาวเกาหลีใต้คนหนึ่งที่อ้างว่า ประชาชนสามารถมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกประกอบอาชีพได้
โดยในคำพิพากษาได้ชี้ว่า รัฐบาลเกาหลีใต้มีสิทธิที่จะปฎิเสธเสรีภาพส่วนบุคคลเช่นนี้เพื่อป้องกันการหาประโยชน์โดยมิชอบ และอีกทั้งเป็นการปกป้องศีลธรรมของสังคมแดนโสม
ที่ผ่านมาเกาหลีใต้มีกฎหมายห้ามการค้าประเวณี แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้ว น้อยครั้งมากที่จะมีการบังคับใช้ และมีย่านค้าประเวณีโคมแดงที่เรียกว่าย่าน เรด ดิสตริก ในเกาหลีใต้เกิดขึ้นเป็นเวลานานก่อนปี 2004
นอกจากนี้ในคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า การทำให้การค้าประเวณีถูกต้องตามกฎหมายจะยิ่งเป็นการทำให้ธุรกิจค้ากามมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของสังคมและเศรษฐกิจเกาหลีใต้ และรวมไปถึงจะส่งเสริมพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ถูกต้อง
อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ออกมาต่อต้านกฎหมายต่อต้าการค้าประเวณีชี้ว่า กฎหมายนี้จำกัดเสรีภาพทางกายของสตรี และยังให้ความเห็นต่อว่า ยิ่งมีบทลงโทษด้านการค้าประเวณีหนักหน่วงมากขึ้นเพียงใด จะยิ่งทำให้ชีวิตของหญิงค้าบริการต้องเสี่ยงภัยมากเท่านั้น
ด้านกลุ่มผู้สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ชี้ว่า การยกเลิกคำสั่งห้ามค้าประเวณีจะให้ผลประโยชน์ต่อตัวแทนจัดหาค้าหญิงบริการมากกว่าตัวหญิงผู้ให้บริการเสียอีก ซึ่งผู้สนับสนุนกฎหมายห้ามค้าประเวณีเหล่านี้ให้ความเห็นเพิ่มเติมต่อว่า การค้าประเวณีจะทำให้เกิดความรุนแรงตามมา และการล่อลวงต่อหญิงสาว โดยเฉพาะในเกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศที่ผู้หญิงมักได้รับผลกระทบมากที่สุด และต้องถูกความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจผลักให้เข้าสู่อาชีพนี้อย่างช่วยไม่ได้
โสเภณีชายและกลุ่มรักร่วมเพศยังถือเป็นสิ่งที่ต้องห้าม และไม่สามารถถกเถียงได้อย่างเปิดเผยในที่สาธารณะในประเทศอนุรักษ์นิยมเช่นเกาหลีใต้ ต่างจากอาชีพหญิงค้าบริการที่มักมีการจัดเดินขบวนต่อต้านกฎหมายค้าประเวณีที่ได้เริ่มมีการบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2004 เป็นต้นมา