xs
xsm
sm
md
lg

ปากีสถาน-อิหร่าน ตั้งเป้าเพิ่มยอดค้าขายแตะ 5 พันล้านใน 5 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ / เอเจนซีส์ / MGR online - ทางการปากีสถาน และอิหร่านตั้งเป้าขยายปริมาณการค้าขายระหว่างกันเป็น 5,000 ล้านดอลลาร์ภายในปี ค.ศ.2021 ทั้งนี้ เป็นการเปิดเผยในวันเสาร์ (26 มี.ค.) ของนายกรัฐมนตรีนาวาซ ชาริฟ ผู้นำรัฐบาลปากีสถาน

นายกรัฐมนตรีชาริฟ แห่งปากีสถาน กล่าวถึงเป้าหมายร่วมดังกล่าว ณ เวทีประชุมทางธุรกิจ “Pakistan-Iran Business Forum” ในกรุงอิสลามาบัด ซึ่งมีประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี แห่งอิหร่านเข้าร่วม โดยที่รูฮานี อยู่ระหว่างการเดินทางเยือนปากีสถานเป็นเวลา 2 วัน ตั้งแต่วันศุกร์ (25 มี.ค.)

รายงานข่าวระบุว่า การเดินทางเยือนปากีสถานของผู้นำอิหร่านในครั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญในการโน้มน้าวให้ทางรัฐบาลอิสลามาบัดเพิ่มการนำเข้า “กระแสไฟฟ้า” จากอิหร่าน ตลอดจนการเพิ่มพูนความสัมพันธ์ด้านการค้า และรื้อฟื้นแผนการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติระหว่างประเทศทั้งสอง

“ในแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ระยะเวลา 5 ปี ที่มีการลงนามกันเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทั้งปากีสถาน และอิหร่านต่างตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มปริมาณการค้าขายแบบทวิภาคีของเราสู่ระดับ 5,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2021” นายกรัฐมนตรีชาริฟ แห่งปากีสถาน กล่าว

มูลค่าการค้าขายระหว่างปากีสถาน กับอิหร่านได้ปรับลดลงเหลือ 432 ล้านดอลลาร์ในช่วงปี 2010-11 จากระดับ 1,320 ล้านดอลลาร์ของเมื่อช่วงปี 2008-09 ตามข้อมูลที่มีการเปิดเผยโดยองค์กรพัฒนาการค้าแห่งปากีสถาน (ทีดีเอพี) ภายหลังจากที่โลกตะวันตกประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัฐบาลเตหะราน จากกรณีโครงการพัฒนานิวเคลียร์ที่โลกตะวันตกสงสัยว่า อิหร่านอาจใช้โครงการนี้เพื่อผลิต “อาวุธนิวเคลียร์” ก่อนที่บรรดามาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงจะถูกยกเลิกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ด้านฮัสซัน รูฮานี ผู้นำอิหร่านขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในเวทีเดียวกันโดยยืนยันว่า ประเทศของตนมีศักยภาพที่จะช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของปากีสถาน ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างถนน ทางรถไฟ เขื่อน และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ

เวลานี้ อิหร่านส่งออกกระแสไฟฟ้าราว 100 เมกะวัตต์ไปยังหลายพื้นที่ของปากีสถาน ที่อยู่ติดพรมแดนอิหร่าน ซึ่งทางการปากีสถานกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาขั้นสุดท้ายเพื่อซื้อไฟฟ้าจากอิหร่านเพิ่มเป็น 1,000 เมกะวัตต เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานของประเทศที่ส่งผลให้ในหลายพื้นที่ต้องประสบปัญหาไฟฟ้าดับนานถึงวันละ 12 ชั่วโมงต่อวัน ยังไม่นับรวมกับความต้องการของปากีสถานต่อการนำเข้าน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และเหล็กจากอิหร่าน ขณะที่อิหร่านเองก็กำลังต้องการสินค้าประเภทสิ่งทอ เครื่องกีฬา และผลิตผลทางการเกษตรจากปากีสถาน

ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่า รัฐบาลปากีสถานมีแผนตั้งแหล่งอุตสาหกรรมในเขตพื้นที่ชายแดน เพื่อใช้เป็นแหล่งกักเก็บผลิตผลทางด้านปิโตรเคมี และเชื่อมต่อกับโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน ที่มีมูลค่าโครงการสูงกว่า 46,000 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ อิหร่าน และมหาอำนาจทั้ง 6 ชาติ (กลุ่ม P5+1) ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ชาติ “สมาชิกถาวร” ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส รัสเซีย และสาธารณรัฐประชาชนจีน บวกกับอีก 1 ประเทศมหาอำนาจจากฝั่งยุโรปอย่างเยอรมนี สามารถบรรลุความตกลงประวัติศาสตร์ทางด้านนิวเคลียร์กันได้เมื่อ 14 ก.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการปิดฉากการเจรจาแบบมาราธอนที่ใช้เวลายาวนานกว่า 1 ทศวรรษ และว่ากันว่านี่อาจเป็นข้อตกลงซึ่งน่าจะพลิกโฉมการเมือง และความมั่นคงในภูมิภาคตะวันออกกลางครั้งใหญ่

หลังการบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐฯ ออกมาแถลงยกย่องว่า นี่ถือเป็นก้าวย่างสำคัญไปสู่ “โลกแห่งความหวังที่เพิ่มสูงขึ้น” และตอกย้ำในเวลาต่อมาว่าข้อตกลงประวัติศาสตร์นี้ถือเป็นแนวทางที่ดีที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางอาวุธนิวเคลียร์ และจะช่วยลดทอนความตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง

ขณะที่ประธานาธิบดีฮัสซัน รูฮานี ผู้นำสายกลางของอิหร่าน แถลงว่า ความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงด้านนิวเคลียร์ครั้งนี้ถือเป็นข้อพิสูจน์ว่า การมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ได้ผลดียิ่ง และว่าหากการเผชิญหน้ากันอย่างศัตรูระหว่างวอชิงตัน และเตหะรานยังดำเนินอยู่ต่อไปก็คงไม่มีความเป็นไปได้แม้แต่น้อยที่ข้อตกลงเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอิสราเอลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ประกาศว่าจะเดินหน้าทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางทำลายล้างข้อตกลงอัปยศฉบับนี้ ซึ่งฝ่ายอิสราเอลมองว่า เป็น “การยอมจำนนครั้งประวัติศาสตร์” ของสหรัฐฯ และโลกตะวันตกให้แก่ชาติที่ชั่วร้ายอย่างอิหร่าน

ภายใต้ข้อตกลงนี้ มาตรการลงโทษคว่ำบาตรอิหร่านทั้งของทางสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (อียู) และสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่บังคับใช้มายาวนานได้ถูกยกเลิกไปแล้วเมื่อเดือนมกราคม เพื่อแลกเปลี่ยนต่อการที่รัฐบาลเตหะรานยอมตกลงตัดทอนโครงการนิวเคลียร์ของตน ซึ่งสหรัฐฯ และโลกตะวันตกสงสัยมาโดยตลอดว่า มีเป้าหมายเพื่อสร้างระเบิดนิวเคลียร์ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่เตหะรานยืนกรานปฏิเสธ

นักวิเคราะห์มองว่า การบรรลุข้อตกลงประวัติศาสตร์เมื่อกลางปีที่แล้วถือเป็นชัยชนะสำคัญทั้งสำหรับบารัค โอบามา และฮัสซัน รูฮานี และถือเป็นผลดีต่อการลดทอนความตึงเครียดในเวทีการเมืองระหว่างประเทศที่มีมายาวนาน ถึงแม้ว่าผู้นำทั้งสองต่างต้องเผชิญหน้าต่อแรงต่อต้านอย่างหนักหน่วงจากบรรดา “นักการเมืองสายเหยี่ยว” ภายในประเทศของตนเอง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่นักการเมืองจำนวนมากยังคงมองอิหร่านเป็นศัตรูคู่อาฆาตที่เป็น “แกนอักษะแห่งปีศาจ”

ด้านสำนักข่าวไออาร์เอ็นเอ ของทางการอิหร่านรายงานว่า ผลของข้อตกลงนี้ทำให้อิหร่านได้รับเงินนับหมื่นล้านดอลลาร์ที่ถูกอายัดไว้กลับคืนมา ขณะที่บรรดามาตรการคว่ำที่มีต่อธนาคารกลาง บริษัทน้ำมันแห่งชาติ บริษัทชิปปิ้ง และสายการบินของอิหร่านได้ถูกยกเลิกจนหมดสิ้น ถึงแม้มาตรการขององค์การสหประชาชาติในเรื่องการคว่ำบาตรห้ามซื้อขายอาวุธกับอิหร่านจะยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไปอีก 5 ปี และห้ามอิหร่านจัดซื้อเทคโนโลยีด้านขีปนาวุธอีกนาน 8 ปี

ว่ากันว่าผลประโยชน์ที่อิหร่านจะได้รับจากข้อตกลงนิวเคลียร์ และการยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงได้สร้างความกังวลต่อชาติพันธมิตรอาหรับของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในกรณีของซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่ปกครองโดยมุสลิมนิกายสุหนี่ ที่เชื่อว่าอิหร่านซึ่งเปรียบเหมือนผู้นำของฝ่ายมุสลิมนิกายชีอะห์ ให้การสนับสนุนต่อศัตรูของตนทั้งในสมรภูมิที่ซีเรีย เยเมน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค

อย่างไรก็ดี รัฐบาลอเมริกันมองเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องเร่งฟื้นฟูความสัมพันธ์กับอิหร่านที่มี “ศัตรูร่วมกัน” คือ กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ที่กำลังยึดครองพื้นที่กว้างขวางทั้งในอิรัก และซีเรียอยู่ในเวลานี้ และถือเป็น “ภัยคุกคามใหญ่หลวง” ต่อสันติภาพของโลก

ในอีกด้านหนึ่ง การยุติมาตรการคว่ำบาตรทั้งปวงที่มีผลสมบูรณ์ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา จะส่งเสริมให้เศรษฐกิจอิหร่านเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถกลับเข้าสู่ “ตลาดน้ำมัน” ได้อีกครั้ง แม้ในความเป็นจริงแล้วกว่าที่น้ำมันจากอิหร่านจะกลับเข้าไปซื้อขายในตลาดโลกได้อย่างเต็มรูปแบบนั้นอาจต้องรอถึงช่วงครึ่งหลังของปี 2016 นี้ก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น