xs
xsm
sm
md
lg

บึ้ม “บรัสเซลส์” ฟ้องจุดอ่อน “สนามบิน” เร้าทั่วโลกยกระดับความปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสนามบิน เดินลาดตระเวณภายในท่าอากาศยานนานาชาติชาร์ลส์เดอโกล ใกล้ๆ กรุงปารีส, ฝรั่งเศส เมื่อวันพุธ (23 มี.ค.)  ฝรั่งเศสประกาศเพิ่มตำรวจอีก 1,600 คนในการรักษาพรมแดนและการขนส่งสาธารณะ ภายหลังเกิดเหตุวินาศกรรมที่สนามบินกรุงบรัสเซลส์ในวันอังคาร (22) </i>
รอยเตอร์ - หลายประเทศทั่วโลกตื่นตัวยกระดับหรือทบทวนการรักษาความปลอดภัยสนามบิน หลังเหตุระเบิดสองครั้งซ้อนในท่าอากาศยานกรุงบรัสเซลส์เมื่อวันอังคาร (22 มี.ค.) ที่ผู้นำออสเตรเลียชี้ว่าสาเหตุมาจากพรมแดนยุโรปที่มีช่องทางให้เล็ดลอดข้ามแดนมากมาย อีกทั้งมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ค่อนข้างหละหลวม

กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) อ้างความรับผิดชอบในเหตุระเบิดที่อาคารผู้โดยสารขาออกของท่าอากาศยานซาเวนเทม รวมทั้งที่สถานีรถไฟใต้ดินในกรุงบรัสเซลส์ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30 คน และอัยการเบลเยียมเชื่อว่า เหตุระเบิดที่สนามบินซึ่งรองรับนักเดินทางปีละกว่า 23 ล้านคนแห่งนี้เป็นฝีมือมือระเบิดฆ่าตัวตาย

เมื่อวันพุธ (23) นายกรัฐมนตรี มัลคอล์ม เทิร์นบูลล์ ของออสเตรเลีย กระโดดเข้าร่วมประเด็นการถกเถียงเรื่องการรักษาความปลอดภัยพรมแดนทั่วโลก โดยยืนยันกับชาวออสซี่ว่า การจัดการรักษาความปลอดภัยภายในออสเตรเลียเข้มแข็งกว่าในยุโรปซึ่งมีช่องโหว่มากมาย
<i>ตำรวจหน่วยรักษาความปลอดภัยการบินของสำนักงานตำรวจแห่งชาติฟิลิปปินส์ ใช้สุนัขดมกลิ่นตรวจกระเป๋าสัมภาระของผู้โดยสาร บริเวณด้านนอกท่าอากาศยานนานาชาติ นินอย อากีโน ในกรุงมะนิลา วันพุธ (23) </i>
ทางด้านสนามบินทั่วเอเชียก็มีการวางกำลังรักษาความปลอดภัยเข้มงวดขึ้น โดยทั้ง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย ไทย และอินเดีย ต่างระบุว่าได้เพิ่มกำลังรักษาความปลอดภัยศูนย์กลางการขนส่งสำคัญต่างๆ

มาตรการใหม่ที่ประเทศต่างๆ นำมาใช้ล่าสุด มีดังเช่น การเพิ่มการตรวจตราผู้ที่เข้าสู่อาคารผู้โดยสาร และเพิ่มการลาดตระเวนภายในอาคารผู้โดยสาร

ตัวอย่างเช่นที่อินเดีย ประเทศนี้มีการรักษาความปลอดภัยสนามบินเข้มงวดกว่าประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียอยู่แล้ว โดยก่อนเกิดเหตุวินาศกรรมบรัสเซลส์เมื่อวันอังคาร มีเพียงผู้โดยสารที่มีตั๋วเครื่องบินและหนังสือเดินทางถูกต้องเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้เข้าสู่อาคารผู้โดยสาร

หลังเหตุสะเทือนขวัญที่เบลเยียม อินเดียยังเริ่มตรวจสอบกระเป๋าบางส่วนที่ผู้โดยสารนำเข้าสู่อาคารผู้โดยสารด้วย

ซูเรนเดอร์ ซิงห์ ผู้อำนวยการใหญ่ของกองกำลังรักษาความปลอดภัยอุตสาหกรรมส่วนกลาง ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยสนามบินพาณิชย์ ยอมรับว่า ไม่สามารถตรวจกระเป๋าทุกใบที่ผ่านเข้าสู่อาคารผู้โดยสารได้ เนื่องจากจะทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวก เกิดความล่าช้าติดขัด

ทางด้านเจ้าหน้าที่ในลอนดอน ปารีส และแฟรงก์เฟิร์ต รับมือเหตุโจมตีในบรัสเซลส์ โดยการเพิ่มกำลังตำรวจออกลาดตระเวนในสนามบินและศูนย์กลางขนส่งต่างๆ ขณะที่สายการบินต้องเปลี่ยนเส้นทางบินกันวุ่นวายเนื่องจากสนามบินบรัสเซลส์ยังคงปิดให้บริการในวันพุธ (23)

ที่อเมริกา บรรดาเมืองใหญ่สุดของแดนอินทรีพากันยกระดับการเตือนภัย และกองกำลังพิทักษ์ชาติถูกเรียกไปประจำการรักษาความปลอดภัยเพิ่มในสนามบินสองแห่งของนิวยอร์กซิตี้
<i>ตำรวจตรวจเอกสารนักท่องเที่ยวผู้หนึ่ง ที่บริเวณภายในท่าอากาศยานฟิอุมิซิโน ของกรุงโรม, อิตาลี ในวันพุธ (23) </i>
หลังเหตุการณ์สายการบินรัสเซียถูกสอยร่วงในอียิปต์เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ซึ่งไอเอสออกมาอ้างความรับผิดชอบเช่นเดียวกันนั้น หน่วยงานของสหประชาชาติได้เรียกร้องให้ทบทวนมาตรการรักษาความปลอดภัยของสนามบินทั่วโลก กระนั้น ดูเหมือนว่าจะมีการให้ความสนใจน้อยมากเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของตัวสนามบินเอง

แมทธิว ฟินน์ กรรมการผู้จัดการอ็อกเมนติก บริษัทที่ปรึกษาด้านความปลอดภัยในการบิน กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าตกใจมากที่มีพื้นที่ในสนามบินเพียงครึ่งเดียวเท่านั้นที่มีการรักษาความปลอดภัย

โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะในสนามบินของยุโรปตะวันตกถือว่าค่อนข้างเปิดกว้างและล่อแหลมกว่าสนามบินบางประเทศในแอฟริกา, ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งต้องมีการตรวจสอบเอกสารและสัมภาระก่อนที่ผู้โดยสารจะได้รับอนุญาตให้เข้าสู่อาคารสนามบิน

ตัวอย่างเช่นที่ตุรกี ผู้โดยสารและกระเป๋าจะถูกสกรีนระหว่างเดินเข้าสู่อาคารผู้โดยสาร และอีกครั้งหลังจากเช็กอิน หรือที่มอสโกที่มีการตรวจตราผู้ที่จะเข้าสู่อาคารผู้โดยสารเช่นกัน

สนามบินเบน กูเรียนในอิสราเอล ขึ้นชื่ออย่างยิ่งเรื่องการรักษาความปลอดภัยเข้มงวด ซึ่งรวมถึงการตรวจสอบประวัตินักเดินทางเพื่อพิจารณาว่าเป็นบุคคลต้องสงสัยหรือไม่ นอกจากนั้นยังติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับกลิ่นระเบิด และมีการซักถามนักเดินทางเป็นรายบุคคล

ที่กรุงไนโรบีของเคนยา ซึ่งมีการเตือนภัยระดับสูงเพื่อป้องกันการโจมตีจากกลุ่มก่อการร้ายอัล-ชาบับนั้น ผู้โดยสารต้องลงจากรถเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นรถที่จุดตรวจ ก่อนถึงอาคารผู้โดยสารหลักของสนามบิน 1 กม.

กระนั้น เบน โวเกล บรรณาธิการไอเอชเอส เจนส์ แอร์พอร์ต รีวิว ตั้งข้อสังเกตว่า การเพิ่มมาตรการตรวจสอบ เช่น การเอกซเรย์กระเป๋าที่ทางเข้าอาคารผู้โดยสารอาจทำให้เกิดการติดขัด ความไม่สะดวก เที่ยวบินล่าช้า รวมถึงทำให้บริเวณดังกล่าวกลายเป็นเป้าหมายการโจมตีที่มีความเป็นไปได้มากขึ้น
<i>รัฐมนตรีมหาดไทยฝรั่งเศส (กลาง) และรัฐมนตรีกลาโหมฝรั่งเศส (ซ้าย) พูดคุยกับทหารฝรั่งเศส ระหว่างไปตรวจเยี่ยมท่าอากาศยานนานาชาติชาร์ลส์เดอโกล ที่ใกล้ๆ กรุงปารีส เมื่อวันพุธ (23) </i>
<i>รวมภาพถ่ายอาคารและสถานที่สำคัญๆ ในยุโรป พากันประดับไฟเป็นสีธงชาติเบลเยียมเมื่อคืนวันอังคาร (22 มี.ค.) เพื่อร่วมไว้อาลัยเหยื่อเคราะห์ร้าย และแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับชาวเบลเยียม  (แถวบนทางซ้ายไปขวา) ประตูบรันเดนเบิร์ก ในกรุงเบอร์ลิน,  หอไอเฟล กรุงปารีส, อาคารศาลว่าการเมืองเบลเกรด, (แถวล่างจากซ้ายไปขวา) น้ำพุเทรวี ในกรุงโรม, พระราชวังหลวง ที่จัตุรัสดัม ในกรุงอัมสเตอร์ดัม, และอาคารคัมปิโดกลิโอ ของกรุงโรม </i>

กำลังโหลดความคิดเห็น