เอเอฟพี - สมาชิกโอเปกและเหล่าชาติผู้ผลิตหลักอื่นๆ จะประชุมกันในวันที่ 17 เมษายน ที่กรุงโดฮา ในความพยายามสร้างเสถียรภาพแก่ราคาน้ำมันที่กำลังตกต่ำ จากการเปิดเผยของรัฐมนตรีพลังงานกาตาร์ในวันพุธ (16 มี.ค.)
โมฮัมเหม็ด บิน ซาเลห์ อัล-ซาดา รัฐมนตรีพลังงานของกาตาร์ ประธานหมุนเวียนของโอเปกในปัจจุบัน ระบุว่าการประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นตามหลังการพูดคุยกันระหว่างกาตาร์ รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย และเวเนซุเอลาเมื่อเดือนก่อน ที่พวกเขาเสนอข้อตกลงตรึงกำลังผลิตในระดับเดียวกับในเดือนมกราคม
เขาเปิดเผยในถ้อยแถลงว่ามี 15 ชาติที่นับรวมเป็นร้อยละ 73 ของกำลังผลิตโลก สนับสนุนความคิดริเริ่มนี้ ในนั้นรวมถึงซาอุดีอาระเบีย ชาติผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของโลกและรัสเซีย ขณะที่ก่อนหน้านี้ในวันจันทร์ (14 มี.ค.) คูเวต หนึ่งในสมาชิกโอเปก ได้แย้มว่าพวกเขาจะเข้าร่วมประชุมดังกล่าวด้วย
นายอเล็กซานเดอร์ โนวัค รัฐมนตรีพลังงานรัสเซีย คาดหมายว่าน่าจะมีราวๆ 15 ชาติที่เข้าร่วมการหารือครั้งนี้ และอาจมีการร่างคำประกาศร่วมที่สะท้อนถึงความตั้งใจของประเทศต่างๆ ที่จะตรึงกำลังผลิตอยู่ในระดับที่ไม่สูงไปกว่าเดือนมกราคม “ในที่ประชุมนี้เรายังจะหารือเกี่ยวกับกลไกบางอย่างในการตรวจตราการปฏิบัติตามข้อตกลง”
ราคาน้ำมันดำดิ่งมากกว่าร้อยละ 60 นับตั้งแต่ช่วงกลางปี 2014 ส่วนหนึ่งมาจากภาวะอุปทานล้นตลาด อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้ราคาก็ฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยจากข่าวคราวเกี่ยวกับการหารือตรึงกำลังผลิต
เมื่อวันจันทร์ (14 มี.ค.) นายโนวัคเปิดเผยว่ามีความเป็นไปได้ที่การประชุมอาจถูกเลื่อนออกไปเป็นเดือนเมษายน หลังเบื้องต้นคาดหมายว่าน่าจะมีขึ้นในเดือนนี้
ความคิดเห็นของเขายังก่อแรงกดดันเพิ่มเติมแก่ตลาดน้ำมัน หลังบ่งชี้ด้วยว่าอิหร่านอาจไม่ร่วมในข้อตกลงตรึงกำลังผลิต เพราะต้องการเพิ่มกำลังผลิตตามหลังหลุดพ้นมาตรการคว่ำบาตรของตะวันตกเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ แต่กระนั้นในวันพุธ (16 มี.ค.) นายโนวัคเผยเตหะรานบ่งชี้ว่าพร้อมเข้าร่วมการประชุมด้วย
อิหร่าน หนึ่งในชาติผู้ผลิตรายใหญ๋ของโลกได้หวนคืนสู่ตลาดส่งออกในเดือนมกราคม และจากรายงานประจำเดือนของโอเปกที่เผยแพร่เมื่อวันจันทร์ (14 มี.ค.) เตหะรานผลิตน้ำมัน 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.9 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนมกราคม ขณะที่กำลังผลิตสูงสุดของพวกเขาก่อนหน้าถูกคว่ำบาตรอยู่ที่ 4.0 ล้านบาร์เรลต่อวัน
รายงานดังกล่าวระบุด้วยว่ากำลังผลิตรวมของ 13 ชาติสมาชิกโอเปกลดลง 175,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนกุมภาพันธ์เหลือ 32.28 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนใหญ่เกิดจากกำลังผลิตที่ลดลงอย่างมากในอิรัก และกำลังผลิตที่ลดลงเล็กน้อยในไนจีเรียและยูเออี