รอยเตอร์ - ชาวอินโดนีเซียและนักท่องเที่ยวนับล้านคนเฝ้าชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงซึ่งเกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ทว่าหลายคนก็ต้องผิดหวัง เนื่องจากบางพื้นที่ซึ่งมีโอกาสที่จะได้เห็น “ราหูอมพระอาทิตย์” แบบเต็มๆ กลับมีเมฆหมอกบดบังท้องฟ้าค่อนข้างมาก
ที่เมืองปาเลมบังบนเกาะสุมาตราซึ่งตั้งอยู่ในแนวคราสเต็มดวง ประชาชนหลายพันคนที่มาเฝ้ารอชมปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้งต่างบ่นเสียดายที่เช้านี้อากาศไม่แจ่มใสเท่าที่ควร
“น่าเสียดายที่เราเห็นดวงอาทิตย์ไม่ค่อยชัด” เดวิด ปราตามา วัย 18 ปี ให้สัมภาษณ์ ขณะที่ผู้คนจำนวนมากต่างส่งเสียงฮือด้วยความไม่สบอารมณ์ที่ไม่สามารถมองเห็นชัดๆ ขณะดวงจันทร์เคลื่อนเข้าบดบังดวงอาทิตย์
ข้อมูลจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ระบุว่า สุริยุปราคาในวันที่ 9 มี.ค.นี้ แนวคราสเต็มดวงจะเคลื่อนจากมหาสมุทรอินเดียสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยส่วนใหญ่จะพาดผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก แต่ช่วงต้นแนวคราสจะเคลื่อนผ่านเกาะใหญ่ๆ ของอินโดนีเซีย เช่น เกาะสุมาตรา กาลิมันตัน สุลาเวสี และหมู่เกาะโมลุกกะ ซึ่งบริเวณหมู่เกาะโมลุกกะจะเกิดคราสเต็มดวงนานกว่า 3 นาที ส่วนคราสเต็มดวงนานที่สุดกว่า 4 นาทีเกิดขึ้นบริเวณมหาสมุทร
ประชาชนในออสเตรเลีย บางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และหมู่เกาะแปซิฟิก สามารถมองเห็นสุริยุปราคาครั้งนี้ได้เพียงบางส่วน
ที่กรุงจาการ์ตา ประชาชนและเด็กนักเรียนหลายร้อยคนเดินทางไปที่ท้องฟ้าจำลอง ซึ่งมีการแจกแว่นตาชนิดพิเศษสำหรับชมปรากฏการณ์สุริยุปราคาซึ่งจะเห็นได้แบบไม่เต็มดวง
“ตื่นเต้นมากค่ะ เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นอะไรแบบนี้” ซานติ ซึ่งพาลูกสาววัย 5 ขวบมารอชมสุริยุปราคา ให้สัมภาษณ์
ชาวอินโดนีเซียได้เห็นสุริยุปราคาแบบเต็มดวงครั้งล่าสุดเมื่อปี 1983 และหากพลาดชมคราวนี้ก็จะต้องรอไปอีกนานถึง 33 ปี
ข้อมูลจากองค์การนาซาระบุว่า สุริยุปราคาเต็มดวงจะเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือน ส.ค. ปี 2017 โดยจะมองเห็นได้ที่สหรัฐอเมริกา