xs
xsm
sm
md
lg

แอปเปิลเฮ! ผู้พิพากษาศาลแขวงนิวยอร์กชี้รัฐบาลไม่มีสิทธิ์บังคับ “ปลดล็อกไอโฟน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทิม คุก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท แอปเปิล อิงค์
รอยเตอร์ - ผู้พิพากษาศาลแขวงนิวยอร์กชี้ รัฐบาลสหรัฐฯ “ไม่มีสิทธิ์” บังคับให้บริษัท แอปเปิล อิงก์ ปลดล็อกไอโฟนเพื่อสืบคดียาเสพติดที่เกิดขึ้นในเขตบรุกลิน ซึ่งถือเป็นคำพิพากษาที่แอปเปิลอาจใช้เป็นเครื่องมืองัดข้อกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กรณีที่บริษัทไม่ยินยอมช่วยเจ้าหน้าที่เอฟบีไอแฮกไอโฟนของคนร้ายในคดีกราดยิง 14 ศพที่เมืองซานเบอร์นาดิโน รัฐแคลิฟอร์เนีย

ทางการสหรัฐฯ ขอให้ศาลนิวยอร์กสั่งอนุมัติเข้าถึงข้อมูลในไอโฟนของผู้ต้องหาซึ่งก่อคดียาเสพติดในเขตบรุกลินเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้ว หรือหลายเดือนก่อนที่ผู้พิพากษาศาลแคลิฟอร์เนียจะสั่งให้ แอปเปิล ใช้มาตรการพิเศษ เพื่อช่วยสำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) เจาะข้อมูลของ ซายเอ็ด ฟารุก หนึ่งในสองผู้ต้องหาคดีกราดยิงที่เมืองซานเบอร์นาดิโน

เจมส์ โอเรนสไตน์ ผู้พิพากษาศาลแขวงบรุกลิน ประกาศคำตัดสินวานนี้ (29 ก.พ.)ว่า ศาลไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะบังคับให้ แอปเปิล ปลดล็อคระบบความปลอดภัยของไอโฟนที่ตำรวจยึดมาได้ระหว่างการสืบสวนคดียาเสพติด

โอเรนสไตน์ เอ่ยถึงเหตุผลหลายประการที่ แอปเปิล เคยหยิบยกมาอ้างในคดีซานเบอร์นาดิโน โดยเฉพาะกฎหมาย All Writs Act ปี 1789 ที่เขายืนยันว่า ไม่สามารถใช้บังคับให้ แอปเปิล ปลดล็อกไอโฟนของลูกค้าได้

โอเรนสไตน์ ระบุอีกว่า แอปเปิลมีสิทธิ์ที่จะไม่ทำตามข้อเรียกร้องของรัฐบาล โดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมาย Communications Assistance for Law Enforcement Act ปี 1994 ซึ่งได้แก้ไขเนื้อหาว่าด้วยการดักฟัง

ผู้บริหารแอปเปิลคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า คำพิพากษาของ โอเรนสไตน์ ช่วยสนับสนุนการต่อสู้ของแอปเปิล ซึ่งได้จุดประเด็นถกเถียงเรื่องความสำคัญของการปราบปรามอาชญากรรม กับการปกป้องความเป็นส่วนตัวในยุคดิจิทัล

ผู้บริหารรายนี้ชี้ว่า สิ่งที่ทางการสหรัฐฯ เรียกร้องจากแอปเปิลในคดีก่อการร้ายซานเบอร์นาดิโน ซึ่งรวมถึงคำสั่งให้แอปเปิลเปลี่ยนแปลงระบบปฏิบัติการ ร้ายแรงกว่าคำขอในคดียาเสพติดที่นิวยอร์กเสียอีก

ทั้งนี้ แม้ผู้พิพากษา เชรี ไพม์ ซึ่งทำคดีซานเบอร์นาดิโนจะไม่จำเป็นต้องยึดคำวินิจฉัยของโอเรนสไตน์ เป็นหลัก แต่ผู้บริหารแอปเปิลคาดว่า “คงจะมีอิทธิพลไม่น้อย” เพราะทั้ง 2 คดีนี้รัฐบาลต่างอ้างกฎหมาย All Writs Act ซึ่งเป็นกฎหมายปี 1789 ที่บัญญัติไว้กว้างๆ ให้ศาลมีอำนาจสั่งหรือตัดสินการกระทำบางอย่างตามความจำเป็นภายในท้องที่ของศาลนั้น

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ออกมาแสดงความ “ผิดหวัง” ต่อคำตัดสินของ โอเรนสไตน์ และเตรียมที่จะขอให้ผู้พิพากษาระดับสูงขึ้นไปในเขตบริหารเดียวกันทบทวนคำตัดสินนี้เสียใหม่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ผู้แทนกระทรวง ระบุ

แอปเปิลชี้แจงต่อศาลว่า การช่วยเจ้าหน้าที่ก่อการร้ายเจาะข้อมูลไอโฟน “จะทำลายความเชื่อมั่นที่ลูกค้ามีต่อแอปเปิล และบั่นทอนภาพลักษณ์ของแบรนด์แอปเปิลอย่างรุนแรง”

ผู้พิพากษาโอเรนสไตน์อธิบายว่า คำวินิจฉัยของเขา “ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อชี้ขาดว่ารัฐบาลมีสิทธิบังคับให้ แอปเปิล ปลดล็อกไอโฟนเครื่องใดเครื่องหนึ่งหรือไม่ แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่ากฎหมาย All Writs Act สามารถนำมาใช้กับกรณีนี้ รวมถึงคดีอื่นๆ ที่จะมีขึ้นในอนาคตได้หรือไม่ต่างหาก”

กำลังโหลดความคิดเห็น