เอเจนซีส์ - ชาร์ปตกลงที่จะผนวกกิจการกับ “ฟอกซ์คอนน์” ภายใต้ข้อตกลงมูลค่า 4,300 ล้านดอลลาร์ ถือเป็นการซื้อกิจการเทคโนโยลีญี่ปุ่นโดยต่างชาติครั้งใหญ่ที่สุด คาดว่าดีลนี้จะทำให้ชาร์ปสะสางปัญหาหนี้และมีช่องทางเข้าถึงตลาดโลกมากขึ้น ขณะที่ฟอกซ์คอนน์ก้าวขึ้นเป็นซัปพลายเออร์รายใหญ่สุดของแอปเปิล อีกทั้งอาจทำให้แอปเปิลฉีกหนีซัมซุงสำเร็จ อย่างไรก็ดี ล่าสุดฟอกซ์คอนน์ระบุว่าขอเลื่อนการเซ็นสัญญาไปก่อน
ไม่นานหลังบริษัท ชาร์ป ประกาศยอมรับข้อตกลงควบรวมกิจการมูลค่า 4,300 ล้านดอลลาร์ จากบริษัท ฟอกซ์คอนน์ แต่ฟอกซ์คอนน์เผยในเวลาต่อมาว่าบริษัทยังไม่พร้อมเซ็นข้อตกลงในตอนนี้ โดยระบุว่าบริษัทจำเป็นจะต้องเลื่อนการลงนามข้อตกลงไปก่อน เพราะต้องทบทวนเอกสารสำคัญฉบับใหม่ที่เพิ่งได้รับจากชาร์ป
"เราแจ้งชาร์ปว่าฝ่ายเราจำเป็นต้องทำความเข้าใจเนื้อหาและเลื่อนการลงนามข้อตกลง เราหวังว่าจะได้ความชัดเจนในเร็วๆ นี้ เพื่อให้ข้อตกลงเป็นข้อสรุปที่น่าพอใจ" ฟอกซ์คอนน์ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง โดยไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติม
การประกาศข่าวยอมรับข้อตกลงของชาร์ปในวันพฤหัสฯ (25) มีขึ้นหลังจากคณะกรรมการบริหารของชาร์ปเสร็จสิ้นการหารือนาน 2 วันเกี่ยวกับข้อเสนอควบรวมกิจการ
ทั้งนี้ ฟ็อกซ์คอนน์จากไต้หวัน ที่เดิมใช้ชื่อว่า ฮอน ไฮ พรีซิชัน อินดัสทรี เป็นผู้ประกอบไอโฟนรายใหญ่ที่สุด ขณะที่ชาร์ปเป็นผู้ผลิตจอแอลซีดีชั้นนำและบริษัทเทคโนโลยีเก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น
การลงมติอย่างป็นเอกฉันท์ของคณะกรรมการบริหารชาร์ปในการยอมรับข้อเสนอของฟ็อกซ์คอนน์ มือปืนรับจ้างผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ใหญ่สุดของโลก แทนการรับความช่วยเหลือจากกองทุนการลงทุนที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้การสนับสนุน ส่งสัญญาณว่า บริษัทเทคโนโลยีญี่ปุ่นที่เคยมีทัศนคติคับแคบกำลังอ้าแขนรับการลงทุนจากต่างชาติกว้างขึ้น
การตัดสินใจดังกล่าวยังมีขึ้นหลังจากเทอร์รี กัว ผู้ก่อตั้งฟ็อกซ์คอนน์ ตามเกี้ยวชาร์ปมานานถึง 5 ปี เนื่องจากเล็งเห็นว่า การเป็นเจ้าของชาร์ปจะช่วยให้บริษัทต่อกรกับคู่ปรับในเอเชีย อย่างซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ได้ดีขึ้น
เกวิน แพร์รี กรรมการผู้จัดการแพร์รี อินเตอร์เนชันแนล เทรดดิ้ง บริษัทโบรกเกอร์ในฮ่องกง ชี้ว่า ชาร์ปมีเทคโนโลยีในการผลิตส่วนประกอบที่สามารถแข่งขันกับซัมซุงในฐานะซัปพลายเออร์ของแอปเปิล ซึ่งหมายความว่า ชาร์ปภายใต้หลังคาของฟ็อกซ์คอนน์ อาจช่วยให้แอปเปิลถอยฉากจากซัมซุงสำเร็จ และผลที่ตามมาคือ ฟ็อกซ์คอนจะมีอำนาจในการต่อรองราคากับแอปเปิลมากขึ้น
ข่าวนี้ส่งให้ราคาหุ้นของชาร์ปพุ่งขึ้นทันที 4% และมูลค่าตลาดเพิ่มเป็น 2,700 ล้านดอลลาร์โดยประมาณ ส่วนหุ้นฟ็อกซ์คอนน์วิ่งฉิว 3.9% ทั้งนี้ การลงทุนของฟ็อกซ์คอนน์คาดว่า จะครอบคลุมการรับโอนหนี้ของชาร์ปด้วย
ชาร์ปที่มีอายุอานามถึงศตวรรษ เคยเป็นผู้ผลิตทีวีระดับพรีเมียมและซัปพลายเออร์หน้าจอของแอปเปิลที่มีกำไรมหาศาล แต่เมื่อไม่กี่ปีมานี้กลับประสบปัญหาหนักหลังการลงทุนก้อนใหญ่ในโรงงานแอลซีดีขั้นสูงได้ผลตอบแทนต่ำกว่าเป้าหมายมาก ท่ามกลางการแข่งขันตัดราคาในบรรดาผู้เล่นในเอเชียด้วยกัน และแม้ได้รับการช่วยเหลือจากธนาคารถึง 2 ครั้งนับจากปี 2012 แต่ก็ไม่สามารถพลิกฟื้นธุรกิจและปลดหนี้ได้
กระนั้น ภายใต้ปีกของฟอกซ์คอนน์ ชาร์ปที่ปัจจุบันว่าจ้างพนักงานกว่า 5,000 คนทั่วโลก ถูกคาดหมายว่า จะแก้ไขปัญหาทางการเงินสำเร็จ รวมทั้งยังจะได้ประโยชน์จากช่องทางจัดจำหน่ายกว้างขวางของบริษัทยักษ์ใหญ่ไต้หวันแห่งนี้
ยูกิฮิโกะ นากาตะ ศาสตราจารย์ด้านเทคโนโลยีและอดีตวิศวกรของชาร์ป มองว่า ชาร์ปมีจุดแข็งด้านการวิจัยและพัฒนา ขณะที่ฟอกซ์คอนน์รู้วิธีขายผลิตภัณฑ์ให้ลูกค้าอย่างแอปเปิล อีกทั้งยังมีความเชี่ยวชาญในการผลิต ดังนั้น การผนวกกิจการจะทำให้ทั้งคู่ก้าวขึ้นเป็นผู้เล่นระดับโลกอย่างเต็มตัว
อนึ่ง แรกทีเดียวนั้น ทั้งชาร์ปและรัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนแผนช่วยเหลือโดยอินโนเวชัน เน็ตเวิร์ก คอร์ป ออฟ เจแปน (ไอเอ็นซีเจ) ที่มีรัฐบาลหนุนหลังอยู่ เนื่องจากกลัวว่าความเชี่ยวชาญทางเทคนิคของชาร์ปจะตกไปอยู่ในมือบริษัทต่างชาติ โดยกองทุนนี้มีแผนผนวกธุรกิจหน้าจอของชาร์ปกับเจแปน ดิสเพลย์ ที่กองทุนถือหุ้นใหญ่อยู่
กระนั้น แผนการดังกล่าวเป็นเพียงหนึ่งในข้อตกลงมากมายระหว่างคู่แข่งร่วมชาติ ซึ่งได้แรงกระตุ้นจากธนาคารและกองทุนของรัฐ ขณะที่ผู้วางนโยบายเตือนว่า ข้อเสนอของฟอกซ์คอนน์จะกลายเป็นการชักนำให้ต่างชาติแห่เข้าไปลงทุนโดยตรงในญี่ปุ่น