เอเจนซีส์ - อเมริกันโหมกระแสกดดันจีนอย่างหนักหน่วงต่อไป โดยโฆษกเพนตากอนแถลงยืนยันหลัง “ฟอกซ์นิวส์” รายงานว่าแดนมังกรส่งเครื่องบินรบไปยังเกาะแห่งหนึ่งในทะเลจีนใต้ ซึ่งถูกระบุก่อนหน้านี้ว่ามีการติดตั้งขีปนาวุธยิงจากพื้นสู่อากาศ เวลาเดียวกันนั้นผู้บัญชาการกองกำลังแปซิฟิกก็ให้ปากคำต่อรัฐสภาอเมริกัน โจมตีพญามังกรมีเป้าหมายครอบงำเอเชียตะวันออก อย่างไรก็ตาม ด้านปักกิ่งยืนยันว่า การติดตั้ง “สิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารที่จำเป็น” ในทะเลจีนใต้เป็นการดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายและเหมาะสม ขณะที่ รมว.ต่างประเทศจีนตอกหน้าวอชิงตันระหว่างเดินทางเยือนว่า หวังว่าจะไม่เห็นเรือพิฆาตหรือเครื่องบินทิ้งระเบิดไปป้วนเปี้ยนแถวทะเลจีนใต้อีก
สถานีโทรทัศน์ช่องข่าว “ฟอกซ์นิวส์” ที่เป็นปากเสียงสำคัญของพวกอนุรักษนิยมอเมริกัน รายงานวันอังคาร (23 ก.พ.) โดยอ้างการเปิดเผยของพวกเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่ไม่ประสงค์ออกนามว่า หน่วยข่าวกรองของอเมริกาพบเครื่องบินขับไล่แบบเสิ่นหยาง เจ-11 และแบบซีอาน เจเอช-7 ของจีนจอดอยู่บนเกาะวู้ดดี้ เกาะใหญ่ที่สุดในหมู่เกาะพาราเซล ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลจีนใต้ เมื่อช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา
จากนั้น นาวาเอก ดาร์ริน เจมส์ โฆษกของกองบัญชาการด้านแปซิฟิกของสหรัฐฯ ได้ออกมายืนยันรายงานดังกล่าว แต่ตั้งข้อสังเกตว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เครื่องบินขับไล่ของจีนใช้สนามบินแห่งนั้น อย่างไรก็ดี อเมริกากังวลว่าจีนจะเดินหน้านำระบบอาวุธขั้นสูงไปติดตั้งในบริเวณดังกล่าวที่มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกับหลายประเทศอย่างต่อเนื่อง
เวลานี้เกาะวูดดี้ ตกอยู่ในความควบคุมของจีน แต่ไต้หวันและเวียดนามต่างอ้างกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกัน เกาะแห่งนี้มีสนามบินที่ใช้การได้นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 แต่ได้รับการปรับปรุงเมื่อปีที่แล้วเพื่อรองรับเจ-11
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฟ็อกซ์นิวส์ก็เป็นเจ้าแรกที่รายงานว่า จีนติดตั้งขีปนาวุธบนเกาะวู้ดดี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่อเมริกันผู้หนึ่งเปิดเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพีในเวลาต่อมาว่า จีนได้ติดตั้งขีปนาวุธประเภทจากพื้นดินสู่อากาศ “เอชคิว-9” ซึ่งมีพิสัยทำการ 200 กิโลเมตร สำหรับปักกิ่งเองนั้นไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธเรื่องนี้ แต่ยืนยันว่าเป็นสิทธิของจีนที่จะป้องกันตนเอง
นอกจากนั้นเมื่อวันจันทร์ (22) ศูนย์เพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา (CSIS) ในกรุงวอชิงตัน ยังเผยแพร่ภาพถ่ายดาวเทียมที่ระบุว่า บ่งชี้ให้เห็นว่าจีนกำลังติดตั้งเรดาร์ความถี่สูงบนเกาะเทียมซึ่งจีนสร้างขึ้นด้วยการถมแนวปะการัง “คัวร์เตอรอน” ในหมู่เกาะสแปรตลีย์ อันเป็นหมู่เกาะอีกแห่งหนึ่งในทะเลจีนใต้ และก็เป็นพื้นที่พิพาทช่วงชิงระหว่างแดนมังกรกับเพื่อนบ้านหลายชาติเช่นกัน
ไม่เพียงการตีข่าวของฟ็อกซ์นิวส์ ทางด้านพลเรือเอกแฮร์รี่ แฮร์ริส ผู้บัญชาการภาคแปซิฟิกของสหรัฐฯ ได้กล่าวเมื่อวันอังคาร (23) ขณะให้ปากคำต่อคณะกรรมาธิการของวุฒิสภาอเมริกันว่า ความเคลื่อนไหวต่างๆ เหล่านี้ของจีน ซึ่งเขามองว่าคือการมุ่งสะสมกำลังทหารในทะเลจีนใต้นั้น เขาเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของแดนมังกรในการวางตัวเป็นเจ้าครอบงำเอเชียตะวันออก
แฮร์ริสเสริมว่า จีนยังมีขีปนาวุธต่อสู้เรือ แบบ ดีเอฟ-21 และดีเอฟ-26 ซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามต่อเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ กระนั้น เขาเสริมว่า เรือบรรทุกเครื่องบินของอเมริกามีสมรรถนะที่ยืดหยุ่นพลิกแพลง และอเมริกามีความสามารถที่จะทำในสิ่งที่ต้องทำ หากเกิดเหตุการณ์นั้นขึ้นมาจริงๆ
ผู้บัญชาการกองบัญชาการภาคแปซิฟิกของสหรัฐฯ ยังสนับสนุนให้ส่งเรือและเครื่องบินออกตรวจการณ์ลาดตระเวนทางอากาศและทางทะเลในทะเลจีนใต้ เพื่อยืนยันเสรีภาพในการบินและเดินเรือ
การแสดงความเห็นของนายทหารอาวุโสผู้นี้ มีขึ้นไม่นานก่อนที่จอห์น เคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะให้การต้อนรับหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ที่กรุงวอชิงตันในวันเดียวกัน โดยระหว่างการแถลงข่าวร่วมภายหลังการเจรจาหารือกัน หวังกล่าวว่า จีนไม่คัดค้านเสรีภาพการเดินเรือและการบิน รวมทั้งยังบอกว่า จีนและสมาคมอาเซียน มีศักยภาพในการรักษาเสถียรภาพในทะเลจีนใต้
หวังสำทับว่า การสะสมกำลังทางทหารนั้นไม่ใช่ความรับผิดชอบของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงลำพัง และปักกิ่งหวังว่า จะไม่เห็นการสอดแนมทางทหารระยะประชิด หรือการส่งเรือพิฆาตหรือเครื่องบินทิ้งระเบิดไปยังทะเลจีนใต้อีก ซึ่งเป็นการพาดพิงโดยตรงถึงพฤติกรรมเมื่อไม่นานมานี้ของวอชิงตัน
ด้านเคร์รีกล่าวว่า การดำเนินการของจีน เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ที่อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ กำลังก่อให้เกิดวงจรที่ส่งผลให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น และสิ่งที่อเมริกากำลังพยายามทำอยู่ก็คือ การทำลายวงจรดังกล่าว
รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ สำทับว่า การติดตั้งขีปนาวุธ และการประจำการของเครื่องบินรบในทะเลจีนใต้ กำลังสร้างความกังวลให้แก่ทุกฝ่ายที่ใช้เส้นทางดังกล่าวเพื่อค้าขายอย่างสันติ
ก่อนการเยือนอเมริกาของหวัง กระทรวงการต่างประเทศจีนได้แถลงตอบโต้การตำหนิติเตียนของฝ่ายสหรัฐฯว่า การสร้างสิ่งปลูกสร้างและติดตั้งอุปกรณ์เพื่อการป้องกันเท่าที่จำเป็นในทะเลจีนใต้นั้น เป็นการกระทำที่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่กองทัพอเมริกันกระทำในฮาวาย