xs
xsm
sm
md
lg

“โอบามา” ชู ศก.นำร่อง ถก “ซัมมิตสหรัฐฯ-อาเซียน” โหมโรงก่อนขมวดปมตีกรอบ “จีน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<i>บรรยากาศการประชุมซัมมิตระหว่างประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ (กลาง) กับบรรดาผู้นำของ 10 ชาติสมาคมอาเซียน ในวันจันทร์ (15 ก.พ.) อันเป็นวันแรกของการหารือคราวนี้ ณ คฤหาสน์ซันนีแลนด์ เมืองแรนโชมิราจ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย </i>
เอเจนซีส์ - โอบามาเปิดโต๊ะเจรจากับผู้นำ 10 ชาติอาเซียนในวันจันทร์ (15 ก.พ.) ระบุการประชุมสุดยอดที่จัดขึ้นในอเมริกาคราวนี้สะท้อนความมุ่งมั่นของตนในการสานต่อการเป็นพันธมิตรกับภูมิภาคนี้ โดยประเด็นหารือในวันแรกเน้นเรื่องเศรษฐกิจและการค้า ส่วนวันที่สองซึ่งเป็นวันสุดท้ายจะย้ายไปคุยเรื่องการต่อต้านการก่อการร้ายและความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งคาดกันว่าไฮไลต์สำคัญหนีไม่พ้นการโน้มน้าวให้อาเซียนร่วมแข็งข้อต่อความก้าวร้าวของพญามังกร

ประธานาธิบดี บารัค โอบามา มีกำหนดหารือกับผู้นำจาก 10 ประเทศของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เป็นเวลาสองวันเกี่ยวกับประเด็นด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค

เพื่อเพิ่มการกดดันจีนในการอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้ โอบามาประกาศระหว่างเปิดประชุมในวันจันทร์ว่า อเมริกาและอาเซียนมีเป้าหมายร่วมกันในการสร้างระเบียบในภูมิภาคที่ทุกประเทศต้องปฏิบัติตามกติกาเดียวกัน

ทำเนียบขาวยังมองซัมมิตครั้งนี้เป็นโอกาสในการส่งเสริมนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย” ของโอบามา และสะท้อนความสำคัญที่เพิ่มมากขึ้นของอาเซียน ก่อนที่โอบามาจะลงจากตำแหน่งในเดือนมกราคมศกหน้า

โอบามายังกล่าวอีกว่า การค้าระหว่างอเมริกากับอาเซียนเพิ่มขึ้นถึง 55% นับจากที่เขาเข้ารับตำแหน่ง และปัจจุบันอาเซียนถือเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของสหรัฐฯ นอกจากนั้น บริษัทอเมริกันยังเป็นแหล่งทุนต่างประเทศใหญ่ที่สุดในหลายประเทศอาเซียน

ประมุขทำเนียบขาวเสริมว่า ต้องการต่อยอดความคืบหน้าเหล่านี้เพื่อการเติบโตและพัฒนาการที่ยั่งยืน และเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้งหมด

การประชุมในวันจันทร์นั้นมุ่งเน้นที่ประเด็นเศรษฐกิจ ขณะที่การหารือในวันอังคาร (16) ซึ่งเป็นวันสุดท้าย จะเปลี่ยนไปที่ประเด็นความมั่นคงภายในภูมิภาค โดยเฉพาะทะเลจีนใต้และการต่อต้านการก่อการร้าย

จีนนั้นอ้างว่าตนมีสิทธิ์แต่ดั้งเดิมเหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด และได้สร้างเกาะเทียม 7 เกาะ ซึ่งบางเกาะมีสนามบินขนาดเล็กเพื่อยืนยันอธิปไตยของตน ถึงแม้ยังมีข้อพิพาทช่วงชิงอยู่กับไต้หวันและ 4 ชาติสมาชิกอาเซียน ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ที่ต่างอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่บางส่วนในน่านน้ำดังกล่าว

แม้ไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในทะเลจีนใต้โดยตรง แต่อเมริกาแสดงการต่อต้านการอ้างสิทธิ์ของจีนอย่างเปิดเผย และยังทำให้ปักกิ่งขุ่นเคืองอย่างหนักด้วยการส่งเรือของกองทัพเรือแล่นเฉียดเกาะเทียมที่จีนสร้างขึ้นถึงสองครั้ง พร้อมยืนกรานว่ากรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ต้องได้รับการแก้ไขอย่างสันติ

วอชิงตันยังหวังว่าการเปิดรีสอร์ตหรู “ซันนีแลนด์” รัฐแคลิฟอร์เนีย ต้อนรับผู้นำอาเซียนในครั้งนี้ จะโน้มน้าวให้กลุ่มความร่วมมือนี้ประกาศจุดยืนที่เป็นหนึ่งเดียวกันในการแก้ไขข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ตามหลักกฎหมายสากล จากที่ผ่านมาที่อาเซียนมักหลีกเลี่ยงการวิจารณ์จีนตรงๆ ในแถลงการณ์การประชุมสุดยอด

นอกจากนั้น ยังจะมีการหารือเรื่องความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างอเมริกา และสี่ชาติสมาชิกอาเซียน คือ มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ และเวียดนาม รวมทั้งอีก 7 ประเทศ

ข้อตกลงนี้เป็นผลงานชิ้นโบแดงด้านการค้าของโอบามา ที่เจ้าตัวเตรียมนำไปโฆษณาในรัฐสภาสหรัฐฯ ว่า เป็นโอกาสสำหรับอเมริกาในการกำหนดกรอบกติกาการค้าในเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งนี้ วุฒิสภาสหรัฐฯ ต้องให้สัตยาบันรับรองทีพีพี จึงจะถือว่าอเมริกาเห็นชอบกับข้อตกลงนี้อย่างเป็นทางการ

สำหรับเรื่องการก่อการร้ายที่ได้แรงบันดาลใจจากกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่อาเซียนกังวลมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเดือนที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิต 8 รายในกรุงจาการ์ตา ซึ่งถือเป็นการโจมตีใหญ่ครั้งแรกในแดนอิเหนาในรอบ 6 ปี และตำรวจระบุว่า ผู้โจมตีมีความเชื่อมโยงกับไอเอส

นอกจากนั้น ทั้งสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ต่างรายงานว่าพลเมืองของตนเดินทางไปสู้รบร่วมกับไอเอสในอิรักและซีเรีย และกลุ่มหัวรุนแรงขนาดเล็กหลายกลุ่มในฟิลิปปินส์ประกาศสวามิภักดิ์ต่อไอเอส

ขณะเดียวกัน กลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนต่างโจมตีทำเนียบขาวที่เชิญผู้นำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่าง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของไทย และฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่ใช้ความรุนแรงปราบปรามศัตรูทางการเมือง ร่วมประชุมในครั้งนี้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ โอบามากล่าวพาดพิงโดยไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่า ในซัมมิตนี้ อเมริกาสามารถยืนยันได้ว่าสังคมที่เข้มแข็ง มั่งคั่ง และเปิดกว้าง จำเป็นต้องมีธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม และสถาบันที่น่าเชื่อถือ ประชาสังคมที่กระตือรือร้น และการปกป้องสิทธิมนุษยชน

กำลังโหลดความคิดเห็น