เอเอฟพี/มาร์เก็ตวอชต์ - น้ำมันกลับมาดิ่งหนัก 2 ดอลลาร์ในวันจันทร์ (1 ก.พ.) จากข้อมูลทางเศรษฐกิจที่น่าผิดหวังของจีนและข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อตกลงลดกำลังผลิต ส่วนวอลล์สตรีทฟื้นตัวปิดบวกในช่วงท้ายการซื้อขาย หลังเชื่อเฟดจะคงดอกเบี้ยต่อไป อย่างไรก็ตามความผันผวนในตลาดพลังงานและตลาดทุนผลักให้ทองคำพุ่งแรง
สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสอินเตอร์มีเดียต หรือไลต์สวีตครูด งวดส่งมอบเดือนมีนาคม ลดลง 2 ดอลลาร์ ปิดที่ 31.62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนต์ทะเลเหนือลอนดอน งวดส่งมอบเดือนเมษายน ลดลง 1.75 ดอลลาร์ ปิดที่ 34.24 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) อย่างเป็นทางการของภาคการผลิตจีน ในเดือนมกราคมลดลงมาเหลือ 49.4 จุด ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2012 ขณะที่ดัชนีที่ต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นถึงภาวะหดตัว
ดัชนีพีเอ็มไอของแดนมังกรได้ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แล้ว แสดงถึงการเริ่มต้นปีที่ไม่สวยนักสำหรับอาณาจักรการผลิตจีน ชาติผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “โรงงานโลก” เนื่องจากเผชิญแรงกดดันจากราคาสินค้าถูกลง และปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินของสินค้าบางประเภท เช่น เหล็กกล้า และพลังงาน
นอกจากนี้แล้วราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากความเคลือบแคลงที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ต่อความเป็นไปได้ที่จะเกิดข้อตกลงใดๆ ระหว่างรัสเซียกับโอเปกในเร็ววันนี้ สำหรับลดกำลังผลิตท่ามกลางภาวะอุปทานล้นตลาด
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในวันจันทร์ (1 ก.พ.) ร่วงลงแรงในช่วงต้นของการซื้อขาย ก่อนฟื้นตัวขยับขึ้นมาปิดในกรอบแคบๆ ได้แรงพยุงจากความคาดหมายว่าธนาคารกลางอเมริกา (เฟด) จะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตอันใกล้นี้
ดาวโจนส์ลดลง 17.12 จุด (0.10 เปอร์เซ็นต์) ปิด 16,449.18 จุด เอสแอนด์พีลดลง 0.86 จุด (0.04 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 1,939.38 จุด แนสแดคเพิ่มขึ้น 6.42 จุด (0.14 เปอร์เซ็นต์) ปิดที่ 4,620.37 จุด
วอลล์สตรีทเปิดตลาดร่วงลงอย่างแรง จากราคาน้ำมันที่กลับมาดิ่งลงอีกรอบ หลังฟื้นตัวถึง 4.4 เปอร์เซ็นต์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของตลาดเปลี่ยนแปลงไป หลังนักลงทุนมองว่าข้อมูลการผลิตที่อ่อนแอของสหรัฐฯ คือสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเฟดจะระงับแผนขึ้นดอกเบี้ย
ส่วนราคาทองคำในวันจันทร์ (1 ก.พ.) พุ่งแตะระดับสูงสุดในรอบราว 3 เดือน หลังน้ำมันที่กลับมาดำดิ่งและความผันผวนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ กระตุ้นให้นักลงทุนถือครองสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ โดยทองคำตลาดโคเม็กซ์เพิ่มขึ้น 11.50 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,127.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์