เอเอฟพี - เหล่าผู้เชี่ยวชาญ ชี้ เหตุโจมตีด้วยมือระเบิดฆ่าตัวตายรูปแบบเดียวกับกรุงปารีส ในจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย เมื่อวันพฤหัสบดี (14 ม.ค.) เป็นเครื่องยืนยันถึงความกังวลขั้นสูงของรัฐบาลชาติต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ที่วิตกว่าพวกพลเมืองซึ่งออกไปสู้รบเคียงข้างกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ในตะวันออกลาง อาจกลับมาลงมือโจมตีในบ้านเกิดเมืองนอน
ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เคยได้รับคำเตือนมานานหลายเดือนแล้ว เกี่ยวกับความเป็นไปได้ของเหตุโจมตี สะท้อนความกังวลของเจ้าหน้าที่ยุโรปที่หวาดหวั่นต่อเจตนาร้ายของพลเมืองที่เดินทางกลับจากพื้นที่ขัดแย้ง
เหตุระเบิดและกราดยิงที่สั่นสะเทือนจาการ์ตาเกิดขึ้นตามหลัง 6 ปี แห่งสถานการณ์ที่ค่อนข้างเงียบสงบในอินโดนีเซีย หลังรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการปราบปรามที่ก่อความอ่อนแอแก่เครือข่ายอิสลามิสต์ภายในที่อันตรายที่สุดของประเทศ
“เรารู้ว่าไอเอสปรารถนาประกาศจังหวัดในภูมิภาคนี้ และนักรบกลุ่มอื่น ๆ ในภูมิภาคได้สวามิภักดิ์ต่อไอเอส” คูมาร์ รามาคริสนา ผู้เชี่ยวชาญด้านกลุ่มนักรบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากมหาวิทยาลัยนันยางเทคโนโลยี ในสิงคโปร์ กล่าว “ภัยคุกคามของนักรบหัวรุนแรงอาเซียนที่เดินทางกลับจากอิรัก และซีเรีย เป็นอีกปัจจัยที่น่ากังวล เช่นเดียวกับความเป็นไปได้ที่ผู้ก่อการซึ่งมีพฤติกรรมรุนแรงด้วยตัวเองกำลังปรากฏตัวในเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วย”
เหตุโจมตีในวันพฤหัสบดี (14 ม.ค.) มีคนร้ายเสียชีวิต 5 คน และพลเมือง 2 คน ในนั้นรวมถึงชาวตะวันตก 1 ราย และบาดเจ็บทั้งหมด 19 คน ทั้งนี้ แม้จำนวนเหยื่อจะมีไม่มากนัก แต่การเลือกเป้าหมายอ่อนแอในย่านใจกลางเมืองหลวงได้ก่อความหวาดผวาแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก
ขณะที่โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกกับเอเอฟพี ว่า มีข้อสงสัยอย่างหนักแน่นว่ากลุ่มที่เชื่อมโยงกับไอเอสเป็นผู้ลงมือและมันถูกออกแบบมาเพื่อลอกเลียนเหตุโจมตีกรุงปารีสเมื่อเดือนพฤศจิกายน เข่นฆ่าชีวิต 130 ศพ
การโจมตีคราวนี้เกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์ หลังจากอินโดนีเซียประกาศเฝ้าระวังขั้นสูงสุดและจับกุมผู้ต้องสงสัยนักรบอิสลามิสต์หลายคน ในนั้นบางส่วนเป็นสมาชิกของเครือข่ายที่เชื่อมโยงกับไอเอส
ซูฟาน กรุ๊ป บริษัทที่ปรึกษาด้านความมั่นคงซึ่งมีสำนักงานในนิวยอร์ก บอกว่า มีชาวอินโดนีเซียราว 500 - 700 คน เดินทางออกไปต่างแดนเข้าร่วมกับไอเอส ที่ประกาศสถาปนาการปกครองแบบกาหลิบทั่วพื้นที่ยึดครองในซีเรียและอิรัก และบัดนี้จำนวนมากได้เดินกลับสู่มาตุภูมิแล้ว
เมื่อเร็ว ๆ นี้ อินโดนีเซียได้ประกาศห้ามสนับสนุนไอเอส และแบนอุดมการณ์ของพวกเขา แต่พวกผู้เชี่ยวชาญกังวลว่ากฎหมายของประเทศอาจยังไม่เพียงพอที่จะจัดการกับภัยคุกคามใหม่ และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องร่วมมือกัน
“รัฐบาลต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ต้องทำงานร่วมกันในการขัดขวางไม่ให้เกิดบริวารของกาหลิบ เพราะหากมีการประกาศเป็นบริวาร ภัยคุกคามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตขึ้น” โรฮัน กูนารัตนา ผู้เชี่ยวชาญด้านก่อการร้ายในภูมิภาค กล่าว “มีกลุ่มต่าง ๆ ทั้งในอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ประกาศสวามิภักดิ์ต่อไอเอส และกลุ่มเหล่านี้ควรถูกขจัด”