รอยเตอร์ - เจ้าหน้าที่เผยในวันศุกร์ (8 ม.ค.) ผลการสืบสวนพบเหล่าผู้ขอลี้ภัยอยู่ในบรรดาผู้ต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงและล่วงละเมิดต่างๆ ในคืนส่งท้ายปีเก่าที่เมืองโคโลญ กระพือการโต้เถียงหนักหน่วงขึ้นเกี่ยวกับกรณีที่เยอรมนีให้การต้อนรับอพยพหลายล้านคน และส่งผลให้ผู้บัญชาการตำรวจท้องถิ่นต้องถูกพักงาน
ตำรวจโคโลญเผยว่า ได้รับแจ้งความคดีอาญาจากผู้หญิงราว 121 กรณี เกี่ยวกับการถูกจี้ปล้น คุกคามและลวนลาม โดยชายหนุ่มที่จับกลุ่มกันกลุ่มละ 20-30 คน ที่สถานีรถไฟหลักของโคโลญเมื่อคืนวันพฤหัสฯ (31 ธ.ค.) ขณะที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากออกมาเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
รายงานระบุว่า มีผู้หญิงอย่างน้อย 1 คนถูกข่มขืนในโคโลญ และหลายคนถูกลวนลาม ซึ่งรวมถึงตำรวจนอกเครื่องแบบหญิงนายหนึ่ง
เหตุประทุษร้ายดังกล่าวก่อความหวาดผวาแก่ชาวเยอรมนี และกระตุ้นให้เหล่าพรรคร่วมรัฐบาลออกมาให้สัญญาว่าจะปราบปรามพวกผู้อพยพที่ก่ออาชญากรรมนี้
เจ้าหน้าที่โคโลญระบุว่าพวกเขาได้จับกุมชาย 2 คนอายุ 16 และ 23 ปี ที่มีพื้นเพแอฟริกาเหนือ ฐานต้องสงสัยเกี่ยวข้องกับเหตุประทุษร้าย ส่วนโทเบียส แพลต โฆษกกระทรวงมหาดไทยแถลงกับผู้สื่อข่าวแยกกันว่าตำรวจรัฐบาลกลางสามารถระบุตัวผู้ต้องสงสัยที่มีบทบาทในเหตุความรุนแรงวันส่งท้ายปีได้แล้ว 31 คน ซึ่งในนั้นมี 18 คนที่อยู่ระหว่างกระบวนการขอลี้ภัยในเยอรมนี
“ขณะที่วานนี้ตำรวจรัฐบาลกลางสรุปการกระทำในทางอาญา 32 กรณีในคืนนั้น เรารู้ชื่อเสียงเรียงนามผู้ต้องสงสัยแล้ว 31 คน” แพลตกล่าว “โดย 18 คนในนั้นมีสถานะผู้ขอลี้ภัย” พร้อมระบุว่าในการกระทำทางอาญา 32 กรณี ส่วนใหญ่แล้วเกี่ยวข้องกับการลักขโมยและทำร้ายร่างกาย มีอยู่ 3 กรณีเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดทางเพศ แต่ตำรวจยังไม่ทราบตัวผู้ต้องสงสัยก่อเหตุ
ในบรรดาผู้ต้องสงสัย 31 คน แบ่งเป็นชาวแอลจีเรีย 9 คน ชาวโมร็อกโก 8 คน ชาวอิหร่าน 5 คน ชาวซีเรีย 4 คนและพลเมืองเยอรมนี 2 คน ส่วนอิรัก เซอร์เบียและสหรัฐฯ มีเอี่ยวชาติละคน อย่างไรก็ตาม แพลตไม่ได้ระบุว่าทั้งหมดถูกตั้งข้อหาแล้วหรือไม่ เพียงแต่บอกว่ายังอยู่ระหว่างการสืบสวน
ในการตอบสนองต่อเหตุประทุษร้ายต่างๆ ดังกล่าว พรรคคริสเตียน เดโมแครตส์ (ซีดียู) ของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เรียกร้องให้ลงโทษผู้ขอลี้ภัยให้หนักหน่วงขึ้น โดยในเอกสารร่างก่อนหน้าการประชุมพรรค ระบุว่าผู้ที่ถูกลงโทษจำคุกหรือแม้แต่โดนภาคทัณฑ์ไม่ควรได้รับสิทธิ์ลี้ภัย
“ทำไมผู้เสียภาษีเยอรมีต้องจ่ายเงินเพื่อคุมขังอาชญากรต่างด้าว” ซิกมาร์ กาเบรียล รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคโซเชียล เดโมแครตส์ (เอสพีดี) กล่าว “พวกเขาควรถูกคุมขังในประเทศบ้านเกิดของตนเองมากกว่า” ทั้งนี้ ในเอกสารเรียกร้องให้ลดอุปสรรคในการเนรเทศผู้ลี้ภัยที่ต้องคดีอาญา เพิ่มการติดตั้งกล้องวงจรปิดและกำหนดความผิดทางอาญาใหม่สำหรับการประทุษร้ายทางร่างกาย
ปัญหาการจี้ปล้น คุกคาม ลวนลามและประทุษร้าย ยังส่งผลให้ในวันศุกร์ (8 ม.ค.) ผู้บัญชาการตำรวจโคโลญถูกพักงานชั่วคราว ตามหลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้มเหลวในการป้องกันเหตุร้ายเหล่านั้นระหว่างเทศกาลฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
ราล์ฟ แจเกอร์ รัฐมนตรีมหาดไทยของรัฐนอร์ดไรน์-เวสท์ฟาเลิน ระบุว่า โวลฟ์กัง อัลแบร์ส วัย 60 ปีถูกพักงานชั่วคราว “การตัดสินใจของผมคือสิ่งจำเป็นเพื่อเรียกคืนความเชื่อมั่นของประชาชในโคโลญ เกี่ยวกับประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ โดยเฉพาะมุมมองกรณีที่กิจกรรมสำคัญๆ กำลังจะมาถึง” ถ้อยแถลงระบุ อ้างถึงงานคาร์นิวัลในเดือนหน้า