เอเอฟพี - หัวหน้าองค์กรสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเรียกร้องรัฐบาลไทยในวันพุธ (6 ม.ค.) ให้ดำเนินการมากขึ้นในการหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของประชาชน 82 คนที่อยู่ในบัญชีผู้สูญหาย ในนั้นรวมถึงทนายความด้านสิทธิมนุษยชนคนดังที่สูญหายมานานกว่า 12 ปี
“ครอบครัวของผู้สูญหายทุกคนมีสิทธิ์รู้ความจริงเกี่ยวกับการหายตัวไปของญาติๆ เช่นเดียวกับความคืบหน้าและผลของการสืบสวน” เจ้าชายเซอิด ราอัด อัล-ฮุสเซ็น ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีเอชอาร์) ระบุในถ้อยแถลง
เจ้าชายแห่งจอร์แดนรายนี้ทรงแสดงความกังวลโดยเฉพาะต่อคดีของทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความมุสลิมที่หายตัวไปในปี 2004 ขณะที่เขากำลังเป็นทนายความให้ผู้ต้องสงสัยนักรบอิสลามิสต์ที่กล่าวหาว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายพวกเขาระหว่างคุมขัง
เมื่อปลายเดือนที่แล้ว ศาลฎีกาของไทยพิพากษายืนตามคำตัดสินของศาลชั้นต้นในปี 2011 ให้ยกฟ้องตำรวจ 5 นายที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวและหายสาบสูญไปของทนายสมชาย
เจ้าชายเซอิดวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินดังกล่าว โดยกล่าวหาว่าศาลฎีกาพลาดโอกาสในการปกป้องสิทธิของเหยื่อต่อข้อเท็จจริง ความยุติธรรมและการชดใช้ในคดีหายตัวไปโดยไม่ได้สมัครใจและถูกบังคับ
รายงานข่าวของเอเอฟพีระบุว่า ทนายสมชายหายตัวไปจากท้องถนนนกรุงเทพฯ ช่วงที่รัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร บริหารประเทศ ท่ามกลางการต่อสู้หนักหน่วงขึ้นระหว่างทหารกับนักรบอิสลามิสต์ทางภาคใต้ของประเทศ
ในบันทึกระบุว่า ทักษิณ ซึ่งต่อมาถูกรัฐประหารโค่นอำนาจ เคยบอกว่าทนายสมชายถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างน้อย 4 คน แม้ว่าไม่เคยพบศพของเขาเลยก็ตาม
ท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ 5 คนก็ถูกนำตัวเข้าสู่การพิจารณาคดี หลังมีพยานแจ้งว่าพบเห็นคนเหล่านี้นำตัวทนายสมชายขึ้นรถยนต์คันหนึ่งในคืนที่เขาหายตัวไป
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่นั้นไทยก็ไม่เคยรับรองคดีนี้ในฐานะบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหาย โดยศาลพิจารณาคดีเพียงแค่ข้อกล่าวหาปล้นและบังคับขู่เข็ญ ไม่ใช่หายสาบสูญหรือฆาตกรรม
เจ้าชายเซอิดเรียกร้องรัฐบาลไทยกำหนดการหายตัวไปของบุคคลโดยไม่สมัครใจและถูกบีบบังคับเป็นคดีอาญาตามมาตรฐานของนานาชาติ “ในไทยยังปราศจากขอบข่ายงานด้านกฎหมายและระบบที่พอเพียงสำหรับเหยื่อและครอบครัวที่ต้องการแสวงหาความยุติธรรมในคดีถูกบังคับสูญหาย” พร้อมระบุว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าวิตกอย่างยิ่ง เนื่องจากการหายตัวไปโดยถูกบีบบังคับนั้นมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เอเอฟพีระบุว่า คดีที่ไม่คลี่คลายของนายสมชายเป็นเพียงแค่ 1 ใน 82 คดีถูกบีบบังคับสูญหายในไทย ที่ทางกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติบันทึกไว้นับตั้งแต่ปี 1980