xs
xsm
sm
md
lg

'เฟด'ขึ้นด/บ.กระทบ'แผนพยุงศก.จีน 'ไทย-อินโดนีเซีย'จับตาผลต่อค่าเงิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้คนเดินผ่านกระดานแสดงความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นโตเกียว ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งนี้ขยับขึ้นอย่างแข็งแกร่งในวันพฤหัสบดี(17ธ.ค.) หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศในวันพุธ (16 ธ.ค.) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบเกือบสิบปี
เอพี - “เอเชีย” ยินดี “เฟด”ขึ้นดอกเบี้ย เชื่อเป็นสัญญาณว่า เศรษฐกิจอเมริกาเข้มแข็งขึ้น ชี้ “ญี่ปุ่น” ดูจะได้อานิสงส์จากการขยับคราวนี้มากที่สุด ในทางกลับกัน “จีน” อาจต้องทำการบ้านหนักขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะชะลอตัวรุนแรง ขณะที่เรื่องหนักอกที่สุดสำหรับ “ไทย” และ “อินโดนีเซีย” คือแนวโน้มผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของเฟดต่อค่าเงิน

ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ประกาศในวันพุธ (16 ธ.ค.) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบเกือบสิบปี โดยขยับขึ้น 0.25% เป็นการยุติความไม่แน่นอนอันมีมายาวนานที่ว่า เมื่อใดเฟดจะเริ่มผละออกจากนโยบายผ่อนคลายทางการเงินซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจที่เสียหายจากวิกฤตภาคการเงินปี 2008

มาซามิชิ อาดาชิ นักเศรษฐศาสตร์ของเจพีมอร์แกนในโตเกียว ชี้ว่า เนื่องจากปรากฏแนวโน้มเรื่องนี้มาพักใหญ่แล้ว ตลาดการเงินจึงมีเวลานานพอสำหรับการปรับตัว อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากมุมมองของตลาดแล้ว ในส่วนของภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริง ยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนอยู่มากมาย เช่น การชะลอตัวของจีน ราคาน้ำมันขาลง หนี้ภาคเอกชนพุ่งสูงในประเทศกำลังพัฒนา

แต่แม้ยังมีความกังวล นักเศรษฐศาสตร์ต่างไม่คิดว่า การตัดสินใจของเฟดคราวนี้จะก่อให้เกิดปรากฏการณ์เขย่าตลาดเงินและตลาดทุนในเอเชียซ้ำรอยปี 2013 โดยในตอนนั้นการที่เฟดประกาศค่อยๆ ถอนตัวจากมาตรการซื้อสินทรัพย์ ได้ส่งผลให้ผลตอบแทนของพันธบัตรคลังสหรัฐฯพุ่งทะยาน เนื่องจากนักลงทุนพากันเทขาย

ในวันพฤหัสบดี (17) ตลาดหุ้นเอเชียพากันติดลมบน และค่าเงินของบางประเทศอ่อนลงเล็กน้อยเมื่อเทียบดอลลาร์ สะท้อนว่า นักลงทุนยินดีกับการส่งสัญญาณของเฟดว่า จะขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป

ภายในเอเชีย ญี่ปุ่นอาจได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้มากที่สุด เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดมีแนวโน้มส่งให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบเยน ซึ่งเป็นการเกื้อหนุนการส่งออกของแดนปลาดิบ

นอกจากนั้นยังทำให้ต้นทุนของผู้บริโภคและบริษัทที่พึ่งพิงการนำเข้า เพิ่มสูงขึ้น เข้าทางธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ที่ต้องการปลุกอัตราเงินเฟ้อให้ขยับขึ้นและพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ

บีโอเจเริ่มการประชุมเพื่อกำหนดนโยบายครั้งสุดท้ายสำหรับปีนี้ในวันพฤหัสบดี (17) ซึ่งคาดว่า จะชะลอการออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมไว้ก่อน

ในทางกลับกัน การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจบ่อนทำลายความพยายามของจีนในการประคองอัตราการเติบโตไม่ให้ตกต่ำกว่า 6.5% ซึ่งเป็นระดับที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายการเพิ่มขนาดเศรษฐกิจอีกเท่าตัวในช่วงเวลา 10 ปี จากปี 2010 ถึงปี 2020

ราจีฟ บิสวอส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอชเอส อิโคโนมิกส์ แอนด์ คันทรี ริสก์ ประจำเอเชีย-แปซิฟิก มองว่า จีนคือจุดที่ต้องให้ความสนใจมากที่สุด เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนนั้นส่งผลลบรุนแรงต่อผู้ส่งออกจำนวนมาก ซึ่งรวมถึงผู้ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์อย่างอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนชะลอตัวต่อเนื่องตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากปักกิ่งต้องการเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจสู่การเติบโตที่ยั่งยืนขึ้นโดยอิงกับการบริโภคภายในแทนการค้าและการลงทุน และการชะลอตัวของจีนก็กำลังส่งผลกระทบไปทั่วโลก

หลังจากเฟดขยับดอกเบี้ย ทำให้จีนอยู่ในภาวะอิหลักอิเหลื่อ โดยหากลดดอกเบี้ยของตนเพื่อกระตุ้นส่งเสริมการเติบโต ก็อาจทำให้เงินทุนไหลออก และปักกิ่งต้องนำทุนสำรองเงินตราต่างประเทศออกมาพยุงค่าเงินหยวนเมื่อเทียบดอลลาร์

บิสวอสสำทับว่า จีนจะทำเช่นนี้ได้นานแค่ไหน หากเฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยไปอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่ก่อนที่เฟดจะเริ่มประชุมครั้งล่าสุดนี้เสียอีก จีนก็เผชิญปัญหาเงินทุนไหลออกอยู่แล้ว นักวิเคราะห์ประเมินว่า เดือนที่ผ่านมา มีเงินทุนไหลออกจากแดนมังกร 100,000-115,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 37,000 ล้านดอลลาร์ในเดือนตุลาคม

โลแกน ไรต์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยตลาดจีนของโรเดียม กรุ๊ป ขานรับว่า การปรับนโยบายการเงินของอเมริกาถือเป็นการบ่อนทำลายความพยายามของจีนในการผ่อนคลายเงื่อนไขทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางจีนมีเครื่องมืออื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้ เช่น การส่งเสริมการปล่อยกู้ด้วยการลดทุนสำรองของธนาคารพาณิชย์

สำหรับอินเดีย เงินรูปีที่อยู่ภายใต้ความกดดันขาลงมานาน อ่อนลงแค่ 5% เมื่อเทียบดอลลาร์นับจากต้นปีนี้ และศรีราม ชอเลีย คณบดีของ จินดัล สกูล ออฟ อินเตอร์เนชันแนล แอฟแฟร์ เชื่อว่า อาจมีเงินทุนไหลออกไปบางส่วนขณะที่ตลาดปรับตัวรับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แต่ในระยะยาวแล้ว อินเดียจะสามารถรับมือการเปลี่ยนนโยบายของอเมริกาได้เป็นอย่างดี

รากูรัม ราชัน ผู้ว่าการแบงก์ชาติอินเดีย ยืนยันเช่นกันว่า ธนาคารมีสภาพคล่องเพียงพอ หากเกิดความจำเป็นขึ้นมา

สำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เชื่อว่า จะติดตามความเคลื่อนไหวในตลาดทุนอย่างใกล้ชิด โดยเรื่องที่น่าหนักใจที่สุดสำหรับประเทศอย่างอินโดนีเซียและไทยก็คือ แนวโน้มผลกระทบต่อค่าเงิน

อย่างไรก็ดี มูดี้ส์ระบุในรายงานเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้มีทางหนีทีไล่เพียงพอในการรับมือกับการไหลออกของเงินทุนหรือความผันผวนของค่าเงิน และคำถามสำคัญสำหรับปีหน้าน่าจะเป็นผลกระทบจากการชะลอตัวของจีนมากกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น