xs
xsm
sm
md
lg

จีนลงทุนนับหมื่นล้านดอลลาร์ยกระดับ ‘อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์’

เผยแพร่:   โดย: เอเชียอันเฮดจ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes)

China invests billions to boost chip industry
By Asia Unhedged
09/12/2015

ด้วยความหวั่นเกรงว่าสหรัฐฯสอแนมสืบความลับของจีนโดยผ่านไซเบอร์สเปซ ทางการจีนจึงมุ่งที่จะพึ่งพาตนเองให้ได้ในเรื่องไมโครชิป หรือ เซมิคอนดักเตอร์ และไปสู่การลงทุนเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ในบริษัทออกแบบทางด้านชิปกลุ่มหนึ่ง ซึ่งพวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่าบริษัทเหล่านี้ลงท้ายแล้วจะกลายเป็นคู่แข่งของพวกผู้นำอุตสาหกรรมนี้อยู่ในปัจจุบัน

หลังจากมีสัญญาณร่องรอยและข้อกล่าวหาเมื่อปี 2013 ว่าสหรัฐฯกำลังทำการสอดแนมสืบความลับของจีนผ่านทางไซเบอร์สเปซ แดนมังกรก็ตัดสินใจว่าหนทางดีที่สุดในการลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของตน ก็คือ การก้าวเดินไปสู่การพึ่งตนเองให้ได้ในเรื่องนี้ และถอยห่างออกจากการใช้ผลิตภัณฑ์ของพวกผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ หรือ ชิป ที่ตั้งฐานอยู่ในสหรัฐฯและในไต้หวัน เป็นต้นว่า ควอลคอม (Qualcom) และ มีเดียเทค (MediaTek)

การเคลื่อนตัวไปในทิศทางพึ่งพาตนเอง ได้นำประเทศจีนไปสู่การลงทุนเป็นจำนวนหลายพันหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ในบริษัทออกแบบทางด้านชิปกลุ่มหนึ่ง ซึ่งพวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่าบริษัทเหล่านี้ลงท้ายแล้วจะกลายเป็นคู่แข่งของพวกผู้นำอุตสาหกรรมนี้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ในเวลานี้ จีนมี 9 บริษัทซึ่งออกแบบและขายชิปได้ในระดับท็อป 50 ของโลก จากที่เคยมีอยู่เพียงบริษัทเดียวเมื่อปี 2009 บริษัทจีนเหล่านี้ก็มีดังเช่น ไฮ ซิลิคอน (Hi Silicon) กิจการในเครือของ หัวเหว่ย เทคโนโลยีส์ (Huawei Technologies), สเปรดตรัม คอมมิวนิเคชั่นส์ (Spreadtrum Communications) และ อาร์ดีเอ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (RDA Microelectronics) 2 บริษัทซึ่งควบคุมโดย ชิงหวา ยูนิกรุ๊ป (Tsinghua Unigroup) ที่รัฐหนุนหลังอยู่, ออล วินเนอร์ เทคโนโลยี (All Winner Technology), ลีดคอร์ เทคโนโลยี (Leadcore Technology), กาแล็กซีคอร์ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (Galaxycore Microelectronics), และ กู๊ดดิกซ์ เทคโนโลยี (Goodix Technology)

เทรนด์ฟอร์ซ (TrendForce) บริษัทนักวิเคราะห์ข้อมูลชี้ว่า บริษัทนักออกแบบชิปเหล่านี้ต่างมีส่วนแบ่งตลาดเติบโตเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากพวกลูกค้าอย่างบริษัทผลิตมือถือสมาร์ตโฟนของจีน

“อุตสาหกรรมไร้แฟบ (fabless industry) ของจีนกำลังขยายตัวไปอย่างรวดเร็วน่าตื่นตระหนก” มาร์ก ลี (Mark Li) นักวิเคราะห์ของ เบิร์สไตน์ (Bernstein) บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ (ดูรายละเอียดได้ที่ http://finance.yahoo.com/news/china-chips-away-u-taiwan-semiconductor-dominance-210746079--finance.html) ทั้งนี้อุตสาหกรรมไร้แฟบ หมายถึงพวกบริษัทนักออกแบบชิป ที่ไม่เป็นเจ้าของโรงงานผลิต แต่ใช้วิธีทำสัญญาว่าจ้างบริษัทโรงงาน ซึ่งเรียกกันว่า “foundries” อย่างเช่น ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (Taiwan Semiconductor Manufacturing) เป็นผู้ทำการผลิตให้

ลีกล่าวต่อไปว่า ถึงแม้เวลานี้เทคโนโลยีของพวกบริษัทออกแบบเซมิคอนดักเตอร์ของจีน ยังคงตามหลังเหล่าคู่แข่งระดับท็อปอยู่ถึง 4-5 ปี แต่เมื่อดูกันในเชิงปริมาณแล้ว จีนน่าที่จะเข้ายึดครองตำแหน่งอันดับสองในอุตสาหกรรมออกแบบชิปมูลค่ากว่ามากกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์นี้ จากไต้หวันได้สำเร็จภายในปีนี้

ขณะที่รอยเตอร์รายงานว่า เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมชิปภายในประเทศพัฒนาต่อไปอีก รัฐบาลจีนได้แจ้งต่อบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ทั้งหลายว่า พวกเขาต้องทำรายรับเพิ่มสูงขึ้นในอัตรามากกว่า 20% ต่อปี จึงจะสามารถสร้าง “กลุ่มของบริษัทระดับเวิลด์คลาสขึ้นมาได้สำเร็จ” ภายในปี 2030

ส่วน แมคคินซีย์ แอนด์ โค (McKinsey & Co.) บริษัทที่ปรึกษาชื่อดังชี้ว่า รัฐบาลจีนได้ก่อตั้งกองทุนระดับชาติขึ้นมากองทุนหนึ่งที่มีมูลค่าถึง 21,700 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งมีเครื่องมือทางการลงทุนแห่งอื่นๆ ที่นำโดยรัฐบาลแดนมังกรเช่นกันอีกอย่างน้อย 5 แห่ง โดยอยู่ตามเมืองใหญ่ๆ อย่าง ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, และ หนานจิง (นานกิง) ซึ่งมีเม็ดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 32,000 ล้านดอลลาร์ ภายใต้การบริหารจัดการที่มุ่งสร้างแชมเปี้ยนระดับชาติในระบบนิเวศแห่งเซมิคอนดักเตอร์ ขึ้นมา

(จากคอลัมน์ Asia Unhedged ในเอเชียไทมส์)


กำลังโหลดความคิดเห็น