เอพี / เอเจนซีส์ / MGR online – ความตึงเครียดจากวิกฤตการไหลบ่าของผู้อพยพจากตะวันออกกลาง ที่มีจำนวนมากเป็นประวัติการณ์ รวมถึง ความหวาดกลัวการแฝงตัวมากับกลุ่มผู้อพยพ ของบรรดาสมาชิกกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้บรรดาผู้นำรัฐใน “คาบสมุทรบอลข่าน” เปิดการประชุมสุดยอดขึ้นในวันพุธ ( 25 พ.ย.) โดยมีรองประธานาธิบดีโจเซฟ ไบเดน จากสหรัฐอเมริกาตบเท้าเข้าร่วมด้วย
การเดินทางเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ของรองประธานาธิบดีโจ ไบเดนจากสหรัฐฯ มีขึ้นท่ามกลางการถกเถียงที่เผ็ดร้อนในอเมริกาเกี่ยวกับการจะรับหรือไม่รับผู้อพยพชาวซีเรียเข้าสู่เมืองลุงแซม หลังเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า กลุ่มนักรบรัฐอิสลาม (ไอเอส) อยู่เบื้องหลังเหตุก่อวินาศกรรม 6 จุดใจกลางกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 130 ราย โดยที่ผู้ลงมือก่อเหตุอย่างน้อย 2 รายถูกกลุ่มไอเอสส่งให้แฝงตัวมากับคลื่นผู้อพยพชาวซีเรีย ที่มุ่งหน้าสู่ยุโรปผ่านทางประเทศ “กรีซ”
ในอีกด้านหนึ่งการเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของรองประธานาธิบดีไบเดนกับบรรดาผู้นำประเทศในคาบสมุทรบอลข่านที่กรุงซาเกร็บ เมืองหลวงของโครเอเชียในคราวนี้ ยังถูกมองว่า เป็นการแสดงจุดยืนของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ต้องการหวนกลับเข้ามามีบทบาทในคาบสมุทรบอลข่านอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่สหรัฐอเมริกาเคยมีบทบาทสำคัญในการยุติสงครามกลางเมืองที่นองเลือดในอดีตยูโกสลาเวียเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1990
ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา ประเทศในคาบสมุทรบอลข่าน โดยเฉพาะกรีซ มาเซโดเนีย เซอร์เบีย โครเอเชีย และสโลวีเนีย ต่างถูกกลุ่มผู้อพยพที่มีจำนวนเรือนแสนจากซีเรียและอีกหลายประเทศในตะวันออกกลาง ใช้เป็นเส้นทางผ่านสำหรับมุ่งหน้าไปยังปลายทางคือ เยอรมนี และประเทศอื่น ๆ ในยุโรปตะวันตก ขณะที่การรับมือกับการไหลบ่าของคลื่นผู้อพยพได้กลายเป็นความท้าทายสำคัญ ทั้งทางการเมืองและความมั่นคง สำหรับทุกประเทศที่อยู่ในเส้นทางของผู้อพยพ
ด้านประธานาธิบดีโบรุต ปาฮอร์ ผู้นำสโลวีเนีย กล่าวว่า การประชุมสุดยอดในครั้งนี้ จัดขึ้นในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ท่ามกลางความกังวลทางด้านความมั่นคงที่เพิ่มสูงขึ้นจากวิกฤตผู้อพยพ และว่าในเวลานี้บรรดานักการเมืองคือผู้ที่ต้องแบกความรับผิดชอบในการดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อแก้ปัญหานี้ เพื่อรักษาสันติภาพ ความสงบสุข และความมั่นคงในภูมิภาค
ที่ผ่านมารัฐบาลของประเทศต่างๆ ในคาบสมุทรบอลข่านต่างมีจุดยืนที่สอดคล้องกัน ในการจำกัดการไหลบ่าของผู้อพยพผ่านภูมิภาคของตน โดยหลายประเทศ เช่น สโลวีเนีย และโครเอเชียมีการติดตั้งรั้วลวดหนามตลอดแนวพรมแดนระหว่างกันเพื่อสกัดกั้นผู้อพยพที่ต้องการเดินทางผ่านไปยังเยอรมนี