เอเจนซีส์ - “สี จิ้นผิง” ป่าวร้องเชิญชวนเพื่อนบ้านในเอเชียลงนามข้อตกลงการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ของตน เตือน “TPP” ของอเมริกาเสี่ยงทำให้ภูมิภาคนี้ “แตกกระจัดกระจาย” พร้อมกันนี้ประมุขแดนมังกรยังยืนยันว่าเศรษฐกิจจีนโดยรวมยังมั่นคงแข็งแรง แม้ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาให้ตกใจบ้างก็ตาม
ทั้งปักกิ่งและวอชิงตันต่างกำลังผลักดันข้อตกลงการค้าเสรีของตัวเองภายในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีประชากรหนาแน่นและมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ
เดือนตุลาคมที่ผ่านมา 12 ชาติในภูมิภาคนี้นำโดยสหรัฐฯ สามารถบรรลุ “ความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก” (TPP) ซึ่งถือเป็นชัยชนะทางการทูตครั้งสำคัญของวอชิงตัน
จีนนั้นถูกกีดกันจากสหรัฐฯ อย่างออกนอกหน้าจาก TPP อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการแผ่ขยายอิทธิพลของวอชิงตันผ่านนโยบาย “ปักหมุดเอเชีย”
อย่างไรก็ตาม ปักกิ่งไม่ได้นิ่งดูดาย แต่ผลักดันข้อตกลงของตนในชื่อเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP)
ในวันพุธ (18) ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่มะนิลา ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ตอกย้ำว่า ข้อตกลงเขตการค้าเสรีระดับภูมิภาคใหม่ๆ มากมายที่มีการเจรจากันอยู่ขณะนี้ ทำให้เกิดความกังวลไปทั่วเกี่ยวกับแนวโน้มการแตกกระจัดกระจาย ดังนั้น ปักกิ่งจึงจำเป็นต้องเร่งผลักดัน FTAAP และการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคให้บรรลุผล
คำประกาศดังกล่าวมีขึ้นต่อหน้าผู้นำธุรกิจในเมืองหลวงของฟิลิปปินส์ ไม่กี่ชั่วโมงก่อนที่สีจะพบกับประธานาธิบดีบารัค โอบามา บนเวทีเอเปก
ในอีกด้านหนึ่ง ขณะที่ สี ขายไอเดีย FTAAP กับผู้นำธุรกิจเอเปกอยู่นั้น บรรดาผู้นำ 12 ชาติสมาชิก TPP ประกอบด้วยอเมริกา ออสเตรเลีย ชิลี เปรู เม็กซิโก แคนาดา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม ก็กำลังหารือและพากันสรรเสริญผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากข้อตกลงดังกล่าว เพื่อลดแรงเสียดทานและอุปสรรคขัดขวางการให้สัตยาบันรับรองของรัฐสภาในแต่ละประเทศเหล่านี้
หลังจากนั้น ผู้นำ TPP ได้ออกคำแถลงร่วมยกย่องว่า TPP เป็นข้อตกลง “มาตรฐานสูง” ที่นำเสนอแบบแผนการค้าใหม่ที่น่าสนใจในหนึ่งในภูมิภาคที่โตเร็วและมีพลวัตมากที่สุดของโลก
ทั้งนี้ หากเกิดขึ้นจริง TPP จะเป็นเขตการค้าเสรีใหญ่ที่สุดของโลก ครอบคลุมประชากรทั้งสิ้น 800 ล้านคนในประเทศที่หลากหลายตั้งแต่อเมริกา ญี่ปุ่น จนถึงบรูไน
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายประเทศแสดงความสนใจ อาทิ เกาหลีใต้และอินโดนีเซีย รวมถึงฟิลิปปินส์
ในทางกลับกัน หลายชาติที่ไม่ได้เข้าร่วม เช่น จีนและรัสเซีย วิจารณ์ TPP ไม่ไว้หน้า
นายกรัฐมนตรีดมิตริ เมดเวเดฟจากรัสเซีย กล่าวว่า กฎการค้าโลกควรร่างขึ้นในกรอบโครงขององค์การการค้าโลก ไม่ใช่การรวมกลุ่มในภูมิภาค
ด้านสีชี้ว่า เอเปกควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างเสมอภาคและการหารืออย่างครอบคลุม ตลอดจนการทำให้ข้อตกลงการค้าเสรีเปิดกว้างที่สุด
ทางเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ แก้ต่างเรื่องนี้ว่า ยินดีต้อนรับทุกประเทศที่พร้อมปฏิบัติตามกฎของ TPP เข้าร่วมด้วย
กระนั้น ยังต้องรอดูกันอีกยาวว่า TPP จะเกิดจริงหรือไม่ แม้ชาติสมาชิกลงนามข้อตกลงกันไปเมื่อเดือนที่ผ่านมาแล้วก็ตาม
ตัวอย่างเช่นที่อเมริกา โอบามายังต้องโน้มน้าวผู้คัดค้านทั้งจากในพรรคเดโมแครตของตนเองและพรรครีพับลิกัน เพื่อให้ TPP ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนที่เขาจะพ้นตำแหน่งต้นปี 2017
สถานการณ์ของผู้นำอีก 11 ประเทศที่เหลือก็คงไม่ต่างจากนี้นัก
ขณะเดียวกัน ในส่วนของการประชุมเอเปกที่มีจุดสนใจหลักที่การค้านั้น ได้ถูกเบี่ยงเบนความสนใจไปสู่ข้อพิพาทในทะเลจีนใต้ โดยเฉพาะโครงการสร้างเกาะเทียมของจีนในบริเวณสันดอนและแนวปะการังที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนกับเพื่อนบ้านหลายชาติ
ในวันอังคาร (17) โอบามาไปเยี่ยมเรือธงของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ พร้อมประกาศมอบเรือรบเพิ่มเติมให้ฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจความช่วยเหลือมูลค่า 250 ล้านดอลลาร์แก่พันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กังวลกับความพยายามของพญามังกรในการควบคุมทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นน่านน้ำยุทธศาสตร์สำคัญ
ทว่า ปักกิ่งยืนกรานว่า เอเปกเป็นเวทีหารือด้านการค้า ไม่ใช่การถกเถียงปัญหาความมั่นคงภายในภูมิภาค
สีไม่พาดพิงถึงประเด็นทะเลจีนใต้แม้แต่คำเดียว แต่เรียกร้องให้ประเทศในแปซิฟิก “แก้ไขข้อข้อแย้งผ่านการหารือและการเจรจา”
ประมุขแดนมังกรสำทับว่า “เราต้องมุ่งเน้นการพัฒนาและการส่งเสริมสันตภาพที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนา และอย่าปล่อยให้สิ่งใดๆ ก็ตามขัดขวางกระบวนการพัฒนานี้”
สีเสริมว่า เศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลกนั้น โดยรวมแล้วยังคงเข้มแข็งและการคาดการณ์เป้าหมายในระยะยาวยังคงเดิม แม้ก่อนหน้านี้อาจมีข่าวให้ตื่นตกใจออกมาบ้างก็ตาม