เอเอฟพี - พนักงานสถานทูตเซอร์เบีย 2 รายถูกลักพาตัวที่เมืองซาบราธา (Sabratha) ซึ่งอยู่ติดชายทะเลทางตะวันตกของกรุงตริโปลี เมื่อวานนี้ (8 พ.ย.) ขณะร่วมทางไปกับขบวนรถยนต์ของเอกอัครราชทูตเพื่อเดินทางจากลิเบียข้ามไปยังตูนิเซีย
เอกอัครราชทูตเซอร์เบียนั่งอยู่ในรถยนต์อีกคันหนึ่งขณะที่เกิดเหตุลักพาตัวขึ้น โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ห่างจากจุดผ่านแดนหลักระหว่างลิเบียกับตูนิเซียเพียงราวๆ 100 กิโลเมตร
กระทรวงการต่างประเทศเซอร์เบีย เปิดเผยว่า พนักงานสถานทูตที่ถูกลักพาตัวเป็นหญิง 1 ชาย 1 ได้แก่ สลาจานา สแตนโกวิช ซึ่งรับผิดชอบด้านงานสื่อสาร ส่วนอีกคนคือ โจวิกา สเตปิก ซึ่งเป็นพนักงานขับรถ
“คนร้ายพยายามสร้างสถานการณ์โดยขับรถชนท้ายรถยนต์ของสถานทูต เมื่อพนักงานขับรถลงไปดูความเสียหาย ก็ถูกพวกนั้นจับลากขึ้นรถไปทันที” เอกอัครราชทูต โอลิเวอร์ โปเตซิกา ให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวตันจุก (Tanjug) ซึ่งเป็นสื่อของรัฐบาลเซอร์เบีย
ทูตเล่าเสริมต่อไปว่า กลุ่มคนร้ายซึ่งปกปิดใบหน้าสั่งให้พนักงานหญิงลงจากรถสถานทูต และขึ้นไปบนรถของพวกเขา จากนั้นคนร้ายรายหนึ่งก็ใช้อาวุธปืนยิงเข้าที่ขาของชาวลิเบียซึ่งร่วมทางมากับคณะทูต ก่อนจะหลบหนีไปอย่างรวดเร็ว
ซาบราธากลายเป็นแหล่งซ่องสุมของพวกนักรบหัวรุนแรงในลิเบีย ซึ่งอาศัยสภาพบ้านเมืองที่ไร้ขื่อแปเข้าไปกบดานและฝึกฝนอาวุธ ก่อนจะออกไปก่อเหตุโจมตีในประเทศอื่นๆ
นายกรัฐมนตรี อเล็กซานดาร์ วูซิช แห่งเซอร์เบีย บอกกับสำนักข่าวอาร์ทีเอสว่า ตนได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ลิเบียเกี่ยวกับเหตุลักพาตัวที่เกิดขึ้นแล้ว และคาดว่าจะได้รับคำตอบที่น่าพอใจภายใน 48 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีต่างประเทศ อีวิกา ดาซิช ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านั้นว่า ทางการเซอร์เบียยัง “ไร้ข้อมูล” เกี่ยวกับกลุ่มผู้ก่อเหตุ
“ไม่มีกลุ่มไหนติดต่อมายังรัฐบาลเพื่อเรียกร้องอะไรทั้งสิ้น เราเองก็เร่งติดตามสถานการณ์อยู่” ดาซิช ให้สัมภาษณ์กับอาร์ทีเอส พร้อมระบุว่า ได้มีการตั้งคณะกรรมการจัดการภาวะวิกฤต (crisis committee) ขึ้นแล้ว
ทหารระดับผู้บัญชาการคนหนึ่งในสภาทหารแห่งซาบราธา ซึ่งรับผิดชอบดูแลความมั่นคงในพื้นที่ และเป็นพวกที่ฝักใฝ่กลุ่มพันธมิตรติดอาวุธที่ยึดครองกรุงตริโปลีอยู่ในขณะนี้ บอกกับเอเอฟพีว่า “หน่วยงานความมั่นคงทุกหน่วยในซาบราธาอยู่ในภาวะเฝ้าระวังสูงสุด นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่เซอร์เบียถูกลักพาตัว”
“มีการตั้งจุดตรวจทั่วเมืองเพื่อค้นหาพวกเขา และเรายังได้แจ้งไปยังเมืองใกล้เคียงให้ช่วยตั้งด่านสกัดเพิ่มเติมด้วย”
นายทหารผู้นี้กล่าวเสริมว่า ตนเชื่อว่าพนักงานสถานทูตเซอร์เบียน่าจะยังอยู่ในเขตเมืองซาบราธา
ลิเบียตกอยู่ในสภาพไร้ขื่อแปจากการต่อสู้ระหว่างฝักฝ่ายต่างๆ หลังจากพันเอก มูอัมมาร์ กัดดาฟี ถูกโค่นล้มและสังหาร เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2011
2 รัฐบาลคู่อริที่มีกลุ่มติดอาวุธหนุนหลังพยายามแก่งแย่งอำนาจปกครองดินแดนซึ่งรุ่มรวยน้ำมัน และเหตุจลาจลวุ่นวายที่เกิดขึ้นก็ทำให้ลิเบียกลายเป็นแหล่งซ่องสุมของกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ไปในที่สุด
กรุงเบลเกรดซึ่งเคยมีสายสัมพันธ์กันแนบแน่นกับรัฐบาลกัดดาฟี ยังคงเปิดสถานทูตในกรุงตริโปลีตามปกติ เนื่องจากมีพลเมืองเซอร์เบียเข้าไปทำงานเป็นแพทย์ พยาบาล และคนงานก่อสร้างในลิเบียมานานหลายสิบปี