เอเอฟพีASTVผู้จัดการ - กระทรวงอาหารและเกษตรกรรมของเยอรมนีเมื่อวันอังคาร(27ต.ค.) แนะประชาชนไม่ควรกลัวที่จะรับประทานอาหารอย่างเช่นไส้กรอก แฮม และเบคอน แม้มีคำเตือนจากองค์การอนามัยโลกว่าเนื้อแปรรูปเหล่านี้มีผลต่อการเป็นมะเร็ง
"ไม่จำเป็นต้องกลัวที่จะรับประทานไส้กรอก(bratwurst)" คริสเตียน ชมิดต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาหารและเกษตรกรรมกล่าว "มันก็เหมือนกับทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งขึ้นอยู่กับปริมาณ บางอย่างที่มากเกินไปก็มักไม่ดีต่อสุขภาพเสมอ ประชาชนอาจกังวลโดยใช่เหตุ หากเราจัดเนื้อแปรรูปอยู่ในกลุ่มเดียวกับแร่ใยหินหรือบุหรี่"
จากการพิจารณาข้อมูลการศึกษาจากทั่วโลกกว่า 100 ชิ้น องค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ(IARC)ระบุว่าพบหลักฐานอย่างเพียงพอในมนุษย์ว่าการบริโภคเนื้อแปรรูปอาจก่อโรคมะเร็งลำไส้
นักวิชาการกล่าวว่าการรับประทานเนื้อสัตว์แปรรูปครึ่งขีดต่อวันเพิ่มความเป็นไปได้ต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่และปลายลำไส้ใหญ่ร้อยละ 18 ด้วยเหตุนี้ IARC จึงจำแนกอาหารประเภทนี้ว่าก่อมะเร็งได้ในมนุษย์ ซึ่งเป็นประเภทเดียวกับอันตรายจากบุหรี่และสารแร่ใยหินจากการก่อสร้าง
งานวิจัยระบุว่าอันตรายจากการแปรรูปมากจากกระบวนการหลายรูปแบบเช่น หมักเกลือ รมควัน และกระบวนการอื่นที่เพิ่มรสหรือถนอมอาหาร
ในส่วนของเนื้อแดง(เนื้อสด)ที่ยังไม่ผ่านการแปรูป ไม่ว่าจะเป็นเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อแกะ เนื้อม้าและเนื้อแพะ ผลการศึกษาพบหลักฐานอย่างชัดเจนว่ามีความเชื่อมโยง แต่ไม่มากพอที่จะจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ประเภทเดียวกับควันบุหรี่ แร่ใยหินและตอนนี้รวมไปถึงไส้กรอกซาลามีด้วย
ผลวิจัยนี้ทำให้บรรดาเจ้าของอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเนื้อสัตว์ออกโรงปฏิเสธพัลวัน แถมยังเอาสถิติมาเทียบกันด้วยระหว่างจำนวนคนเสียชีวิตเพราะกินเนื้อแปรรูปพวกไส้กรอก เบคอน กับคนที่เสียชีวิตเพราะบุหรี่ หรือเหล้า โดยบอกว่าคนเป็นมะเร็งเพราะกินเนื้อแปรรูปแค่ปีละ 34,000 แต่คนที่เป็นมะเร็งตายเพราะสูบบุหรี่มากถึงปีละ 1 ล้านคน ตายเพราะเหล้าปีละ 600,000 คน
ทั้งนี้แม้ไส้กรอกและซาลามี ปรากฏอยู่ในเมนูอาหารของชาวเยอรมนีทั่วไป แต่ข้อเท็จจริงคือการบริโภคเนื้อในประเทศแห่งนี้ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยจาก 61.3 กิโลกรัมต่อคนในปี 2010 เหลือ 60.3 กิโลกรัมต่อคนในปี 2013
เยอรมนี เป็นประเทศผู้ผลิตเนื้อสำคัญ โดยผลิตเนื้อราว 8.8 ล้านตันในปี 2013 ในนั้นมากกว่า 5 ล้านตันเป็นเนื้อหมูและราว 1.4 ล้านตันเป็นเนื้อสัตว์ปีก