xs
xsm
sm
md
lg

พันธมิตรต้าน IS นำโดย US ปั่นป่วนพรรคร่วม รบ.อิรัก จี้ดึงรัสเซียมาร่วม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย (ขวา) ต้อนรับประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย (ซ้าย) ขณะพบปะหารือกันที่วังเครมลินในกรุงมอสโกเมื่อวันอังคาร (20 ต.ค.) การเยือนกรุงมอสโกคราวนี้ของอัสซาด เป็นการออกเดินทางไปต่างแดนครั้งแรกของเขานับแต่สงครามกลางเมืองซีเรียระเบิดขึ้น
เอเจนซีส์ - พันธมิตรต่อต้านไอเอสที่นำโดยอเมริกาออกอาการรวน หลังว่าที่นายกฯ แคนาดาส่งข่าวเตรียมถอนเครื่องบินรบจากอิรัก-ซีเรีย แถมพรรคร่วมรัฐบาลอิรักยังกดดันหนักให้ผู้นำแบกแดดชวนรัสเซียเข้าร่วมการโจมตีทางอากาศ ขณะเดียวกัน อัสซาดเดินทางออกนอกประเทศครั้งแรกในรอบ 4 ปีไปยังมอสโก เพื่อกระชับความร่วมมือในการถล่มกลุ่มก่อการร้าย โดยประสานเสียงปูติน ชี้กระบวนการทางการเมืองคือกุญแจคลี่คลายวิกฤตซีเรีย

สมาชิกรัฐสภาอิรัก 2 คนเผยว่า นายกรัฐมนตรีไฮเดอร์ อัล-บาดี กำลังถูกกดดันอย่างหนักจากพรรคและกลุ่มการเมืองภายในคณะรัฐบาลผสม “พันธมิตรแห่งชาติ” ของเขา ที่ต้องการให้ขอความช่วยเหลือจากมอสโก โดยมีการยื่นคำร้องอย่างเป็นทางการตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว แต่ยังคงไม่ได้รับคำตอบอย่างเป็นทางการจนถึงขณะนี้

ความกดดันที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้อบาดีอยู่ในภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ระหว่างการพยายามเอาใจพรรคร่วมรัฐบาลและกลุ่มนักรบที่เป็นปราการสำคัญในการสกัดกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) กับการรักษาน้ำใจวอชิงตัน ผู้เป็นพันธมิตรทางยุทธศาสตร์

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากเมื่อวันอังคาร (20 ต.ค.) ที่พลเอกโจเซฟ ดันฟอร์ด ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของสหรัฐฯ ประกาศระหว่างเยือนกรุงแบกแดดว่า ได้รับการรับรองจากอบาดี และรัฐมนตรีกลาโหม คาลิด อัล-โอไบดี ว่าอิรักจะไม่ขอให้รัสเซียช่วยโจมตีทางอากาศ

ด้วยเหตุนี้ อบาดีจึงได้แต่แบ่งรับแบ่งสู้กับพรรคร่วมรัฐบาลว่า ขณะนี้ ไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมที่จะดึงรัสเซียเข้ามา เพราะจะทำให้สถานการณ์กับฝ่ายอเมริกันยิ่งเกิดความสับสน และนำไปสู่ผลลัพธ์ไม่พึงประสงค์ในความสัมพันธ์กับวอชิงตันในระยะยาว

ขณะที่ซาอัด อัล-ฮาดิตี โฆษกของอบาดีบอกว่า นายกรัฐมนตรียังไม่ได้หารือเรื่องการโจมตีทางอากาศกับรัสเซีย แต่ก็ไม่ได้ปิดโอกาสประเทศใดๆ ก็ตามที่สามารถช่วยอิรักได้

อิรักนั้นได้รับการสนับสนุนการฝึกทหารมูลค่ากว่า 20,000 ล้านจากวอชิงตัน นับจากซัดดัม ฮุสเซน ถูกโค่นล้มในปี 2003 แต่กองทัพอิรักกลับแตกทัพและต้องถอยร่นหลายครั้ง หลังจากไอเอสจู่โจมเข้ายึดพื้นที่ทางเหนือและตะวันตกตั้งแต่ปีที่แล้ว กระทั่งการโจมตีทางอากาศของพันธมิตรที่นำโดยอเมริกาภายหลังจากนั้น ก็ยังไม่สามารถหยุดยั้งกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้ได้

อย่างไรก็ดี เมื่อวันอังคาร(20) ดันฟอร์ดประกาศว่า จะหาวิธีใหม่ในการสร้างแรงกระตุ้นเพื่อกำจัดไอเอส พร้อมอวดอ้างว่า ได้รับกำลังใจสำคัญจากชัยชนะในสนามรบหลายจุด เช่น การยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของโรงกลั่นน้ำมันไบจีคืนได้

ในอีกด้านหนึ่ง อิรักได้ร่วมกับรัสเซีย อิหร่าน และซีเรีย ตั้งหน่วยข่าวกรองในแบกแดดเพื่อส่งเสริมความพยายามในการต่อสู้กับไอเอส โดยมีการแลกเปลียนแบ่งปันข่าวกรองการโจมตีทางอากาศในอิรักและซีเรีย

นอกจากกระแสข่าวอิรักอาจปันใจชวนมอสโกร่วมโจมตีด้วยแล้ว แนวร่วมพันธมิตรต่อสู้ไอเอสของวอชิงตันยังได้รับข่าวไม่สู้ดีนักอีกข่าวหนึ่ง โดยเมื่อวันอังคาร (20) จัสติน ทรูโดว์ ว่าที่นายกรัฐมนตรีแคนาดา เผยว่า ได้โทรศัพท์หาประธานาธิบดีบารัค โอบามา เพื่อแจ้งว่า แคนาดาจะถอนเครื่องบินรบกลับจากซีเรียและอิรัก แต่ไม่ได้ระบุกรอบเวลาที่แน่นอน พร้อมยืนยันว่า ออตตาวายังคงเป็นพันธมิตรแนวร่วมต่อต้านไอเอส และจะยังคงให้ความช่วยเหลือในการฝึกกองกำลังเคิร์ดทางเหนือของอิรักต่อไปเช่นเดิม

สำหรับทางด้านรัสเซียนั้น วังเครมลินแถลงในวันพุธ (21) ว่า ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาดแห่งซีเรีย หารือกับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน รวมทั้งรัฐมนตรีกลาโหมและต่างประเทศของรัสเซีย ที่กรุงมอสโกเมื่อวันอังคาร (20) เกี่ยวกับปฏิบัติการทางทหารต่อกลุ่มก่อการร้ายในซีเรีย ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางกระบวนการทางการเมือง

การเยือนดังกล่าว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่อัสซาดเดินทางออกนอกประเทศนับจากสงครามกลางเมืองระเบิดขึ้นในปี 2011 นั้น เพิ่งได้รับการเผยแพร่โดยสื่อของวังเครมลินเมื่อวันพุธ

นอกจากยกย่องความพยายามในการต่อต้านการก่อการร้ายของรัสเซียนับจากที่ซีเรียเข้าสู่สงครามกลางเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิบัติการโจมตีทางอากาศต่อไอเอสในซีเรียที่เริ่มต้นเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา อัสซาดยังกล่าวว่า ปฏิบัติการทางทหารต้องตามมาด้วยขั้นตอนทางการเมือง

ด้านปูตินขานรับว่า มอสโกเชื่อว่า วิธีแก้ปัญหาระยะยาวคือกระบวนการทางการเมืองที่เปิดโอกาสให้กลุ่มการเมือง ชาติพันธุ์ และศาสนาทั้งหมดมีส่วนร่วม

ปัจจุบัน อเมริกาและรัสเซีย คู่อริจากสงครามเย็น กำลังแข่งกันโจมตีทางอากาศในซีเรีย กระทั่งมีหลายครั้งที่เครื่องบินรบของทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากันในระยะประชิด

รัสเซียและอเมริกาได้เปิดการหารือกันมาหลายรอบ จนในที่สุดก็ได้ข้อสรุปเมื่อวันอังคาร (20) ในการหลีกเลี่ยงการชนกันกลางอากาศเหนือซีเรีย โดยปีเตอร์ คุก โฆษกกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ กล่าวว่า ไม่สามารถเปิดเผยเนื้อหาของข้อตกลงได้ เนื่องจากมอสโกขอร้องไว้ แต่สามารถบอกได้ว่า ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะสื่อสารกันและตั้งศูนย์ฮอตไลน์ภาคพื้นดิน ตลอดจนถึงรับประกันว่า เครื่องบินรบของแต่ละฝ่ายจะรักษาระยะห่างที่ “ปลอดภัย” แต่จะไม่มีการแลกเปลี่ยนแบ่งปันข่าวกรองเกี่ยวกับเป้าหมายการโจมตี

ด้านอนาโตลี แอนโทนอฟ รัฐมนตรีช่วยกลาโหมของรัสเซีย เผยว่า บันทึกความเข้าใจประกอบด้วยกฎและข้อจำกัดในการป้องกันอุบัติเหตุไม่พึงประสงค์ระหว่างเครื่องบินรบของรัสเซียและอเมริกา


กำลังโหลดความคิดเห็น