xs
xsm
sm
md
lg

'สหรัฐฯ'กับ 'จีน'ใกล้ 'ประจันหน้าทางทหาร'กันในทะเลจีนใต้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: บิลล์ เกอร์ตซ์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

The looming military showdown in the South China Sea
By Bill Gertz
19/10/2015

ใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า กองบัญชาการทหารภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯซึ่งได้รับมอบอำนาจจากคณะบริหารโอบามา จะจัดส่งเรือรบแล่นผ่านเข้าไปภายในระยะ 12 ไมล์ทะเลของเกาะในทะเลจีนใต้ ที่ยังเป็นกรณีพิพาทช่วงชิงกันอยู่แต่จีนอ้างเป็นกรรมสิทธิ์ของตน ทว่ามันจะไม่ใช่นาวาทรงพลานุภาพอย่างเรือบรรทุกเครื่องบิน แต่น่าจะเป็นเพียงเรือโจมตีชายฝั่งที่มีขนาดเล็กกว่ามากมายนัก ในความเห็นของผู้เขียนแล้ว การไม่ส่งเรือรบขนาดใหญ่และเต็มไปด้วยเขี้ยวเล็บของอเมริกัน ออกไปปฏิบัติการแสดงออกซึ่ง “เสรีภาพในการเดินเรือ” เช่นนี้ น่าที่จะเป็นการส่งสัญญาณอันไม่ถูกต้องแก่จีน และแก่รัฐต่างๆ ในภูมิภาคซึ่งกำลังเฝ้ามองสหรัฐฯเพื่อขอความสนับสนุนในการคัดค้านต่อต้านจีนที่เที่ยวแผ่ขยายการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำด้วยเหตุผลทางกฎหมายที่ยังน่าเคลือบแคลง

หลังจากรีรอล่าช้ามาเป็นเวลาหลายเดือน คณะบริหารของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ก็ได้มอบอำนาจให้แก่กองบัญชาการทหารภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ (US Pacific Command) [1] ในการจัดส่งเรือรบแล่นเข้าไปในบริเวณน่านน้ำที่เกิดกรณีพิพาทช่วงชิงกันอยู่ของทะเลจีนใต้ ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ประเทศจีนก็ออกมาทำการข่มขู่คุกคามว่าจะประจันหน้ากับการปรากฏตัวของเรือรบอเมริกันดังกล่าว โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสั่งสมเพิ่มพูนแสนยานุภาพอย่างแข็งกร้าวในภูมิภาคแถบนี้

อย่างไรก็ตาม เป็นที่คาดหมายกันว่ากองทัพสหรัฐฯคงจะไม่จัดส่งเรือบรรทุกเครื่องบิน “ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน” (USS Ronald Reagan) พร้อมด้วยหมู่เรือโจมตีของเรือรบยักษ์ใหญ่ลำนี้ ให้ออกปฏิบัติภารกิจแล่นผ่านเข้าไปภายในน่านน้ำ 12 ไมล์ทะเลของหมู่เกาะพิพาทแห่งใดๆ ที่จีนกำลังอ้างว่าเป็นดินแดนของตน ทั้งนี้เรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้ เพิ่งเดินทางมาถึงท่าเรือประจำแห่งใหม่ของตน ซึ่งก็คือเมืองโยโกสุกะ (Yokosuka) ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมนี้เอง เพื่อเข้าประจำการแทนที่เรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส จอร์จ วอชิงตัน (USS George Washington)

แทนที่จะเป็นหมู่เรือบรรทุกเครื่องบิน คณะบริหารโอบามาน่าที่จะจัดส่งเรือโจมตีชายฝั่ง (Littoral Combat Ship) [2] ซึ่งเป็นเรือชั้นใหม่ที่เข้าประจำการในกองทัพเรือไม่นานนัก และติดเพียงอาวุธขนาดเบา ลำใดลำหนึ่ง ให้ปฏิบัติภารกิจที่ฝ่ายทหารเรียกขานว่า การปฏิบัติการเพื่อ “เสรีภาพในการเดินเรือ” (freedom of navigation ใช้อักษรย่อว่า FON) ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ข้างหน้านี้

การที่ไม่มีเรือรบอเมริกันขนาดใหญ่และเต็มไปด้วยเขี้ยวเล็บ ออกไปปรากฏตัวดำเนินการเอ็กเซอร์ไซส์ตามที่ได้มีการคาดหมายกันไว้อย่างกว้างขวางเช่นนี้ ในความเห็นของผู้เขียนแล้ว น่าที่จะเป็นการส่งสัญญาณอันไม่ถูกต้องแก่จีน และแก่รัฐอื่นๆ ในภูมิภาคซึ่งกำลังเฝ้ามองสหรัฐฯเพื่อขอความสนับสนุนในการคัดค้านต่อต้านจีนที่เที่ยวแผ่ขยายการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำด้วยเหตุผลทางกฎหมายที่ยังน่าเคลือบแคลง

กองทัพเรือสหรัฐฯมีการปฏิบัติการสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือหนสุดท้ายก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยการส่งเรือ ยูเอสเอส ฟอร์ต เวิร์ธ (USS Fort Worth) ซึ่งเป็นเรือโจมตีชายฝั่ง แล่นเรือไปใกล้ๆ หมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Islands) ในบริเวณด้านใต้ของทะเลจีนใต้ ทว่าเรือรบลำนั้นไม่ได้แล่นเข้าไปภายในเขต 12 ไมล์ทะเลของหมู่เกาะพิพาทแห่งใดๆ ซึ่งฝ่ายจีนกำลังดำเนินการสั่งสมทางการทหารอย่างสำคัญอยู่ โดยเพียงแต่มีการจัดส่งเฮลิคอปเตอร์ 1 ลำจาก ยูเอสเอส ฟอร์ต เวิร์ธ ให้บินไปใกล้ๆ เกาะลักษณะดังกล่าวข้างต้นแห่งหนึ่ง

การที่สหรัฐฯตีฆ้องร้องป่าวออกไปล่วงหน้า เกี่ยวกับแผนการของตนที่จะจัดส่งเรือรบล่วงล้ำเข้าไปภายในเขตน่านน้ำ 12 ไมล์ทะเลของหมู่เกาะพิพาท คณะบริหารโอบามาเชื่อว่าจะสามารถลดทอนความขุ่นเคืองทางการทูตใดๆ ที่อาจจะเกิดกับฝ่ายจีนจนเหลืออยู่น้อยที่สุด ทั้งนี้ข้อความทางยุทธศาสตร์ที่สหรัฐฯดูเหมือนตั้งใจที่จะส่งออกไปก็คือ การแล่นเรือเข้าไปจนใกล้ๆ หมู่เกาะพิพาทขนาดนั้น เป็นเพียงการปฏิบัติการตามปกติ และไม่ควรมองว่าเป็นการยั่วยุทางการทหาร อย่างไรก็ตาม จีนดูเหมือนจะไม่ได้เข้าใจข้อความดังกล่าว

มิหนำซ้ำ ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ (chief of naval operations) คนใหม่ของกองทัพเรือสหรัฐฯ พลเรือเอก จอห์น ริชาร์ดสัน (Adm. John Richardson) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วดูเหมือนจะได้บ่อนทำลายความพยายามของสหรัฐฯ ซึ่งมุ่งที่จะหนุนเสริมเพิ่มกำลังใจให้แก่เหล่าพันธมิตรในภูมิภาคด้วยการส่งข้อความทางการเมืองอันแสดงให้เห็นถึงความเด็ดเดี่ยวเอาจริงของฝ่ายอเมริกัน ทั้งนี้ ริชาร์ดสันกลับไปพูดกับพวกลูกเรือบนเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอส โรนัลด์ เรแกน ว่า การปฏิบัติการเพื่อสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือนั้น จะเป็นเพียงการปฏิบัติการตามกิจวัตร “ผมไม่เห็นว่าสิ่งเหล่านี้จะสามารถตีความว่าเป็นการยั่วยุใดๆ ไปได้” เขากล่าวเช่นนี้เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม

แต่อันที่จริงแล้ว ความเห็นเช่นนี้ก็สะท้อนถึงความปรารถนาที่เด่นชัดที่สุดของพวกผู้วางนโยบายของสหรัฐฯในทำเนียบขาว, กระทรวงการต่างประเทศ, ตลอดจนในกระทรวงกลาโหมบางส่วน ซึ่งต้องการที่จะลดทอนน้ำหนักความสำคัญของการปฏิบัติการที่กำลังจะเกิดขึ้นมา พวกเจ้าหน้าที่เหล่านี้ต่างกำลังคัดค้านการดำเนินกิจกรรมทางทหารทุกๆ อย่างในน่านน้ำพิพาทซึ่งอาจทำให้ปักกิ่งหงุดหงิดไม่พอใจ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งแห่งนโยบาย “การทูตต้องมาก่อนเป็นอันดับหนึ่ง” ของประธานาธิบดีโอบามา

คณะบริหารของสหรัฐฯนั้นได้ถูกบีบคั้นกดดันมาเป็นแรมเดือนแล้ว เพื่อให้ส่งเรือรบออกไปปฏิบัติการแล่นเฉียดเกาะพิพาท และสิ่งนี้เองคือสิ่งที่ผู้บัญชาการ (commander) ของกองบัญชาการทหารภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ พลเรือเอก แฮร์รี แฮร์ริส (Adm. Harry Harris) เที่ยววิ่งเต้นขอร้องเป็นการภายใน นายพลเรือสี่ดาวผู้นี้มีความวิตกกังวลว่า ถ้าสหรัฐฯดำเนินการตอบโต้อย่างอ่อนปวกเปียก ต่อสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นการที่จีนอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็จะทำให้สหรัฐฯถูกตีความอย่างผิดๆ ว่ากลัวหงอจนสงบเสงี่ยม ดังนั้น จึงต้องจัดการสำแดงแสนยานุภาพในภูมิภาคนี้เพื่อท้าทายการอ้างกรรมสิทธิ์เหล่านี้ของฝ่ายจีน

แฮร์ริสนั้นต้องการที่จะตีโต้คัดค้านการที่จีนพยายามจะเข้าครอบงำเหนือเส้นทางน้ำระหว่างประเทศอันสำคัญยิ่งนี้ ทั้งๆ ที่ดินแดนน่านน้ำซึ่งแดนมังกรกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์เหล่านี้ ยังคงอยู่ระหว่างการพิพาทช่วงชิงกับชาติอื่นๆ ทั้งนี้ ชาติสำคัญที่ออกหน้าออกตาในการช่วงชิงกับจีน ได้แก่ เวียดนามและฟิลิปปินส์ จนกระทั่งในการไต่สวนรับฟังความคิดเห็นของวุฒิสภาครั้งหนึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว แฮร์ริสจึงมีโอกาสได้เสนอความคิดเห็นของตน เกี่ยวกับหนทางเลือกต่างๆ สำหรับการดำเนินปฏิบัติการเพื่อแสดงเสรีภาพในการเดินเรือภายในน่านน้ำ 12 ไมล์ทะเลของหมู่เกาะที่จีนอ้างกรรมสิทธิ์ และสิ่งที่เขาเรียกร้องจึงไม่ถูกมองเมินถูกเก็บเข้าลิ้นชักต่อไปอีก

กิจกรรมทางการทหารของสหรัฐฯในทะเลจีนใต้ช่วงหลังๆ มานี้ จำกัดตัวอยู่ที่การการรวบรวมข่าวกรองเท่านั้น โดยใช้เครื่องบินตรวจการณ์ทางทะเลแบบ พี-8 (P-8 maritime patrol aircraft) และอากาศยานไร้นักบินแบบ “โกลบอล ฮอว์ก” ซึ่งบินอยู่ในระดับสูง (high-altitude Global Hawk drone) ออกไปปฏิบัติการ ปรากฏว่าอย่างน้อยที่สุดมีอยู่คราวหนึ่งที่จีนได้ใช้สงครามอิเล็กทรอนิกส์ โดยพยายามที่จะก่อกวนระบบอิเล็กทรอนิกส์ของเที่ยวบินของโดรน “โกลบอล ฮอว์ก” ทั้งนี้ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯหลายราย ในอีกด้านเหนึ่ง ยังเกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่ควบคุมทางอากาศในภูมิภาคแถบนั้นของกองทัพปลดแอกประชาชนจีน ได้พยายามออกคำสั่งขับไล่เครื่องบิน พี-8 ของอเมริกันออกไปจากบริเวณนั้น ทว่าไม่ประสบความสำเร็จ

หลังจากที่มีรายงานเปิดเผยออกมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า พวกชาติพันธมิตรของสหรัฐฯในเอเชีย กำลังได้รับแจ้งถึงการตัดสินใจของสหรัฐฯที่จะดำเนินความเคลื่อนไหวทางนาวีในเขตทะเลจีนใต้แล้ว ปรากฏว่าปฏิกิริยาแรกๆ จากฝ่ายจีน ก็คือ กลไกโฆษณาชวนเชื่อของปักกิ่งก็ได้เร่งเครื่องโหมประโคมกันใหญ่

ซินหวา ซึ่งเป็นสำนักข่าวของทางการจีน ระบุในรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 ตุลาคมว่า ความพยายาม “แบบยั่วยุ” ของสหรัฐฯในการล่วงละเมิดอธิปไตยทางทะเลของจีน คือ “การบ่อนทำลาย” สันติภาพของภูมิภาค และเป็น “การสั่งสมทางการทหาร” ในทะเลจีนใต้

ปักกิ่งกระทั่งเปรียบเทียบการปฏิบัติการทางนาวีเพื่อแสดงเสรีภาพในการเดินเรือที่กำลังจะมีขึ้นในเร็ววันนี้ กับวิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาปี 1962 เมื่อตอนที่สหรัฐฯยื่นคำขาดเรียกร้องให้สหภาพโซเวียตถอนขีปนาวุธซึ่งนำไปติดตั้งในคิวบา ซึ่งอยู่ห่างชายฝั่งมลรัฐฟลอริดาเพียงแค่ 90 ไมล์

“อะไรหนอที่ทำให้สหรัฐฯคิดไปได้ว่า จีนสมควรอดทนอดกลั้นและก็จะอดทนอดกลั้น เมื่อเรือรบผิวน้ำของสหรัฐฯแล่นล่วงล้ำเข้าสู่ดินแดนของจีนในทะเลจีนใต้?” สำนักข่าวซินหวาแผดเสียงคำรามในบทวิจารณ์ชิ้นหนึ่ง

พวกเจ้าหน้าที่จีนหลายๆ รายได้พูดสรุปจุดยืนของปักกิ่งต่อการปฏิบัติการทางนาวีของสหรัฐฯที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เอาไว้ในสื่ออื่นๆ ที่เป็นของทางการจีนเช่นกัน โดยที่พวกโฆษกเหล่านี้กล่าวว่า ไม่น่าที่จะเกิดการเผชิญหน้าทางทหารขึ้นมา เว้นแต่ว่าเรือรบสหรัฐฯแล่นเข้ามาในพื้นที่ 12 ไมล์ทะเลแล้วก็ยังคงอยู่ตรงนั้น จุดยืนของจีนจึงดูเหมือนว่าจะไม่คัดค้านการที่เรือจะแล่นผ่านเข้าไปใกล้ๆ ตามที่มีการรับรองกันในทางระหว่างประเทศ แต่ถ้าเรือดังกล่าวลอยลำอยู่ภายในน่านน้ำ 12 ไมล์ทะเลของหมู่เกาะเทียมที่จีนเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ๆ แล้ว เรือรบของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนก็จะใช้กำลังขับไล่ให้ออกไป

“จีนไม่เคยยอมอดทนอดกลั้นต่อการยั่วยุทางการทหารหรือการล่วงล้ำทางการทหารใดๆ ไม่ว่าจากสหรัฐฯหรือจากประเทศอื่นใดๆ ก็ตามที เฉกเช่นเดียวกับที่สหรัฐฯก็ได้เคยปฏิเสธไม่ยอมอดทนอดกลั้นมาแล้ว (ในคราววิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา) เมื่อ 63 ปีก่อน” บทวิจารณ์ของซินหวากล่าว

อย่างไรก็ตาม ในสภาพความเป็นจริงแล้ว สหรัฐฯได้พูดซ้ำแล้วซ้ำอีกว่า ไม่ได้รับรองว่าพวกหมู่เกาะพิพาทเหล่านี้เป็นอาณาเขตทางทะเลของจีน

ดังที่รัฐมนตรีกลาโหม แอช คาร์เตอร์ (Ash Carter) ได้ออกมากล่าวย้ำจุดยืนของสหรัฐฯในสัปดาห์ที่แล้ว ดังนี้: “อย่าได้เข้าใจผิดเป็นอันขาด เราจะบิน, เราจะแล่นเรือ, และเราจะปฏิบัติการในทุกหนทุกแห่งที่กฎหมายระหว่างประเทศอนุญาตให้กระทำได้ เราจะทำเช่นนั้นในเวลาและสถานที่ซึ่งเราเป็นฝ่ายเลือก” เขากล่าวเช่นนี้เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม

จุดยืนที่ขัดแย้งกันของสหรัฐฯและของจีนเช่นนี้กำลังเพิ่มความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดสิ่งซึ่งกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯเรียกด้วยถ้อยคำอันสุภาพเรียบร้อยว่า “การคำนวณอย่างผิดพลาด” โดยหมายถึงการประจันหน้ากันในบางรูปแบบ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การยิงใส่กันของกำลังทางนาวี

ในรายงานที่กำลังจะนำออกเผยแพร่เร็วๆ นี้ ของคณะกรรมการทบทวนทางเศรษฐกิจและความมั่นคงสหรัฐฯ-จีน (US-China Economic and Security Review Commission) อันเป็นคณะกรรมการที่อยู่ภายใต้รัฐสภาอเมริกัน มีการระบุเตือนเอาไว้ว่า การประจันหน้ากันเช่นนี้มีเดิมพันได้เสียกันสูงลิ่วทีเดียว

“ความตึงเครียดระหว่างจีนกับบรรดารัฐผู้อ้างกรรมสิทธิ์รายอื่นๆ เป็นต้นว่า ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม มีศักยภาพที่จะจุดชนวนให้เกิดการปะทะกันด้วยกำลังอาวุธขึ้นมา ซึ่งจะเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของภูมิภาคและเศรษฐกิจของโลก และอาจเกี่ยวข้องพัวพันกับสหรัฐฯ” รายงานประจำปีของคณะกรรมการชุดนี้จะระบุเอาไว้เช่นนี้ ทั้งนี้ตามร่างฉบับหลังๆ ของรายงานฉบับนี้

ยิ่งกว่านั้น การที่จีนเร่งสั่งสมกำลังทหารในหมู่เกาะเหล่านี้ “อาจจะกลายเป็นการเพิ่มพูนสมรรถนะของจีน ในด้านการต่อต้านการเข้าถึง/การปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่ (anti-access/area denial capabilities) ซึ่งมีศักยภาพที่จะท้าทายความสามารถของกองทัพสหรัฐฯในการปฏิบัติการอย่างเสรีในภูมิภาคแถบนี้” รายงานฉบับนี้ระบุ พร้อมกับชี้ต่อไปด้วยว่า การที่จีนมีความประสงค์เข้าควบคุมทะเลจีนใต้เอาไว้ อาจจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อก่อกวนรังควานความพยายามของกองทัพเรือสหรัฐฯในการพิทักษ์คุ้มครองไต้หวัน โดยเฉพาะในกรณีที่ไต้หวันเกิดความขัดแย้งกับแผ่นดินใหญ่ขึ้นมาในอนาคต

รายงานฉบับนี้ยังให้รายละเอียดใหม่ๆ เกี่ยวกับการสร้างสมทางทหารของจีนบนหมู่เกาะสแปรตลีย์ เป็นต้นว่า บนเกาะปะการัง มิสชีฟ รีฟ (Mischief Reef) มีการสร้างทางวิ่งของเครื่องบิน (airstrip) แห่งหนึ่ง รวมทั้งร่องน้ำลึกสำหรับให้เรือรบผ่านได้ (deep-water channel for warships), เกาะปะการัง ซูบิ รีฟ (Subi Reef), มีการก่อสร้างทางทหารทำนองเดียวกัน และก็มีทางวิ่งของเครื่องบินแห่งหนึ่ง, ส่วนที่เกาะปะการัง เฟียรี ครอสส์ รีฟ (Fiery Cross Reef) มีทางขึ้นลงของเครื่องบิน (runway) แห่งหนึ่ง แล้วยังมีการสร้างท่าเทียบเรือแห่งใหม่ๆ ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างและอุปกรณ์สนับสนุน

บนเกาะปะการัง คูอาเทรอน รีฟ (Cuateron Reef) มีการก่อสร้างลานขึ้นลงเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพปลดแอกประชาชนจีนแห่งที่ 2 และมีการติดตั้งอุปกรณ์เซนเซอร์เรียงเป็นแถว, สำหรับที่เกาะปะการัง แกเวน รีฟ (Gaven Reef) มีการจัดตั้งสิ่งปลูกสร้างทางทหารแห่งที่ 2 พร้อมกับติดตั้งอุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร, ที่เกาะปะการัง จอห์นสัน รีฟ (Johnson Reef) กำลังมีการสร้างสิ่งปลูกสร้างทางทหารแห่งที่ 2, คลังเก็บเชื้อเพลิง, และเครื่องสูบน้ำที่สามารถแยกเกลือกับน้ำออกจากกัน ส่วนที่เกาะปะการัง ฮิวส์ รีฟ (Hughes Reef) มีการสร้างท่าเรือแห่งใหม่ ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างทางทหาร

การดำเนินกิจกรรมทางทหารของจีนในทะเลจีนใต้ ถูกบรรยายเอาไว้ในรายงานฉบับนี้ว่า “ใช้วิธีสั่งสมเพิ่มพูนขึ้นอย่างช้าๆ ทีละเล็กทีละน้อย” เป็นการรวบรวมเพิ่มน้ำหนักการกล่าวอ้างกรรมสิทธิ์ทางทะเล ด้วยวิธีกระทำกิจกรรมมากขึ้นทีละนิด ชนิดที่จะไม่ให้กลายเป็นสาเหตุของการเกิดสงครามได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายปี 2013 มีการเปลี่ยนแปลงไปจากวิธีการเช่นนี้ โดยกลับมาดำเนินการถมทะเลอย่างเร่งด่วนอีกครั้งหนึ่ง

การประจันหน้ากันที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ จะเป็นบททดสอบความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่วสำหรับผลประโยชน์ต่างๆ ของสหรัฐฯในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความระมัดระวังตัวต่อการที่จีนกำลังตั้งท่าวางตัวเป็นเจ้ามากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม เมื่อสหรัฐฯไม่ได้นำเอาเขี้ยวเล็บทางการทหารของตนออกมาทำการสาธิตให้เห็นอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย การประจันหน้ากันคราวนี้จึงน่าที่ยุติลงด้วยการที่จีนเป็นฝ่ายได้เปรียบ และยิ่งบ่อนทำลายเสถียรภาพของภูมิภาคนี้อย่างร้ายแรงมากขึ้นไปอีก

บิลล์ เกอร์ตซ์ เป็นนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนหนังสือ ซึ่งติดตามรายงานข่าวด้านกลาโหมและกิจการความมั่นคงแห่งชาติมาอย่างยาวนานหลายสิบปี เขาเขียนหนังสือว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติมาแล้ว 6 เล่ม สามารถติดต่อเขาได้ทางทวิตเตอร์ที่ @BillGertz

หมายเหตุผู้แปล

[1] กองบัญชาการทหารภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐฯ (US Pacific Command หรือ USPACOM) เป็น 1 ใน 6 กองบัญชาการทหารของสหรัฐฯ แบบที่ผสมรวมเอาหน่วยสู้รบเหล่าต่างๆ เข้าเป็นเอกภาพหนึ่งเดียว และก็มีพื้นที่รับผิดชอบตามพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ USPACOM เป็นผู้รับผิดชอบการใช้และการบูรณาการ กองทัพบก, กองทัพเรือ, กองทัพอากาศ, และกองกำลังเหล่านาวิกโยธิน ของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ภายในพื้นที่รับผิดชอบของตน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางด้านความมั่นคงแห่งชาติ ขณะเดียวกับที่พิทักษ์คุ้มครองผลประโยชน์แห่งชาติ เมื่อเปรียบเทียบกับกองบัญชาการทหารที่แบ่งตามพื้นที่ภูมิศาสตร์แห่งอื่นๆ อีก 5 กองบัญชาการแล้ว USPACOM มีพื้นที่รับผิดชอบกว้างขวางที่สุด และอาณาเขตที่รับผิดชอบก็ติดต่อกับ 5 กองบัญชาการอื่นๆ ผู้นำของ USPACOM คือ ผู้บัญชาการ กองบัญชาการทหารภาคพื้นแปซิฟิก มีหน้าที่รายงานต่อประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ผ่านทางรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม และได้รับความสนับสนุนจากองค์ประกอบและกองบัญชาการทหารผสมส่วนแยกหลายๆ หน่วย ได้แก่ กองทหารสหรัฐฯในเกาหลี, กองทหารสหรัฐฯในญี่ปุ่น, กองบัญชาการทหารปฏิบัติการพิเศษภาคแปซิฟิกของสหรัฐฯ, กองเรือภาคแปซิฟิกของสหรัฐฯ, กองกำลังนาวิกโยธินภาคแปซิฟิกของสหรัฐฯ, กองทัพอากาศภาคแปซิฟิกของสหรัฐฯ, และกองทัพบกภาคแปซิฟิกของสหรัฐฯ

พื้นที่รับผิดชอบของ USPACOM ปัจจุบันประกอบด้วยชาติต่างๆ รวม 36 ชาติ ซึ่งเป็นที่พำนักของประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก มีภาษาที่แตกต่างกัน 3,000 ภาษา มีกองทัพที่จัดอยู่ในระดับกองทัพขนาดใหญ่ที่สุดหลายกองทัพ และมีอยู่ 5 ชาติซึ่งเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯโดยที่มีการทำสนธิสัญญาเพื่อกันป้องกันร่วมกัน
(ข้อมูลจาก Wikipedia และเว็บไซต์ของ US Pacific Command)

[2] เรือโจมตีชายฝั่ง (Littoral Combat Ship หรือ LCS) เป็นชั้นของเรือผิวน้ำที่มีขนาดค่อนข้างเล็ก ซึ่งทางกองทัพเรือสหรัฐฯออกแบบขึ้นมาเพื่อการปฏิบัติการในพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง โดยมีแนวความคิดให้เป็นเรือผิวน้ำสู้รบที่สามารถรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่าย, คล่องตัว, และหลบหลีกเรดาร์ได้ มีศักยภาพที่จะยังความปราชัยให้แก่การต่อต้านการเข้าถึง (anti-access) และภัยคุกคามแบบอสมมาตร (asymmetric threats ) ในพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง

ปัจจุบัน กองทัพเรือสหรัฐฯมีเรือ LCS ประจำการอยู่ 2 ชั้นแรก ได้แก่ ชั้น ฟรีดอม (Freedom class ) กับ ชั้น อินดีเพนเดนซ์ (Independence class) ทั้ง 2 ชั้นต่างมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเรือฟริเกตติดขีปนาวุธนำวิถีของกองทัพเรือสหรัฐฯ และมีความคล้ายคลึงกับเรือคอร์เวตต์
(ข้อมูลจาก Wikipedia)


กำลังโหลดความคิดเห็น