เอเจนซีส์ - เมื่อวานนี้ (15 ต.ค.) สหภาพยุโรปอนุมัติแผนการข้อเสนอของประธานาธิบดีตุรกี เรเซ็ป ทายยิป แอร์โดกัน ในการแก้ปัญหาผู้อพยพจากตะวันออกกลางไหลเข้าสู่ทวีปยุโรปด้วยการมอบแพ็กเก็จความช่วยเหลือจำนวน 3 พันล้านยูโรให้ พร้อมกันนั้นยังผ่อนผันกฎวีซ่าเชงเก้นเข้าสู่ยุโรปสำหรับนักท่องเที่ยวตุรกีตามข้อเรียกร้อง และมีรายงานว่าอังการาได้เริ่มต้นก่อสร้างกำแพงคอนกรีตยาวร่วม 500 ไมล์ตลอดแนวพรมแดนติดซีเรีย อ้างป้องกันก่อการร้าย และสามารถหยุดการไหลเข้าของผู้อพยพซีเรียผ่านจุดข้ามแดนหลัก บาบ อัล-ซาลามา (Bab Al-Salama) เข้าสู่ยุโรป
บีบีซี สื่ออังกฤษรายงานวันนี้ (16) ว่า ถึงแม้จะมีการอนุมัติแผนการและความช่วยเหลือ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป โดนัลด์ ทัสก์ แถลงผ่านสื่อว่า “ยังคงความรู้สึกกังวลต่อแผนการของตุรกีที่ได้ผ่านการรับรองในครั้งนี้ว่าจะประสบความสำเร็จ แต่อย่างไรก็ตามรู้สึกยินดีต่อความสำเร็จในการบรรลุข้อตกลงแผนการความร่วมมือระหว่างอียูและตุรกี”
สื่ออังกฤษชี้ว่า ในแผนการที่ประธานาธิบดีตุรกี เรเซ็ป ทายยิป แอร์โดกันเสนอต่อสหภาพยุโรปนั้นมีเงื่อนไขอยู่มากมายเรียกร้องให้ทางอียูปฎิบัติตามเพื่อแลกเปลี่ยนการที่อังการาจะช่วยหยุดคลื่นผู้อพยพซีเรียเข้าสู่ยุโรป
ในขณะที่สหภาพยุโรปและตุรกีกำลังหารือถึงการแก้ไขปัญหานั้น ในอีกฟากฝั่งของพรมแดนบัลแกเรียติดตุรกี ผู้อพยพชาวอัฟกันถูกยิงเสียชีวิตหลังจากพยายามที่จะข้ามพรมแดนจากตุรกีเข้าไปยังตุรกีในช่วงดึกวันพฤหัสบดี (15) และทำให้ประธานาธิบดีบัลแกเรีย บอยโก โบริซอฟ (Boyko Borisov) ต้องออกจากที่ประชุมสภาพยุโรปในกรุงบรัสเซลส์กลางคันหลังจากได้รับทราบข่าวนี้ ซึ่งในมติที่ประชุมสหภาพยุโรป ทางอียูได้ตกลงในข้อตกลงตามกรอบ ดังนี้
(1) เร่งกระบวนการอนุมัติวีซ่าเชงเก้นให้กับนักท่องเที่ยวชาวเติร์กที่ต้องการเดินทางเข้ามาในสหภาพยุโรป หากว่าทางอังการาจะสามารถยอมรับทำตามเงื่อนไขบางประการที่อียูกำหนดได้ (2) เร่งกระบวนการเจรจาการสมัครเข้าสมาชิกสหภาพยุโรปของตุรกี
ในเรื่องเกี่ยวกับผ่อนคลายกฎวีซ่าเชงเก้น จากการรายงานของ RT สื่อรัสเซียระบุว่า ทางตุรกีจะต้องนำผู้อพยพเคยที่ผ่านทางตุรกีเข้าสู่ยุโรป กลับไปยังตุรกีอีกครั้ง ซึ่งได้เคยอยู้ในร่างข้อตกลงก่อนหน้านี้ที่เรียกว่า ข้อตกลงเข้าประเทศ หรือ readmission deal แต่ทว่า นายกรัฐมนตรีตุรกี อาห์เหม็ด ดาวูโตกลู แสดงความต้องการให้อียูตกลงคลายวีซ่าเชงเก้นให้กับประชาชนชาวตุรกีอย่างเป็นรูปธรรมเสียก่อนที่จะเริ่มดำเนินการใดๆเกี่ยวกับการลงนามข้อตกลงเข้าประเทศของผู้อพยพ ซึ่งทางผู้นำตุรกีต้องการให้มีการตกลงการผ่อนคลายวีซ่าเชงเก้นไม่เกินครึ่งปีแรกของปี 2016
นอกจากนี้ จากการรายงานของ RT สื่อรัสเซียยังรายงานเพิ่มเติมว่า อังการายังต้องการให้ตุรกีอยู่ใน “รายชื่อประเทศที่ปลอดภัยสำหรับการขอลี้ภัย”
ด้านนายกรัฐมนตรีเยอรมนี อังเกลา แมร์เคิล ได้ให้ความเห็นในเรื่องที่ประชุมอียูอนุมัติแผนฉุกเฉินของอังการาว่า ในที่ประชุมบรัสเซลส์ ทางสหภาพยุโรปตกลงที่จะเริ่มเปิดเจรจากับอังการาในการร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอีกครั้งหลังจากชะงักงันไปนานหลายสิบปี
และผู้นำเยอรมนียังกล่าวต่อว่า สหภาพยุโรปยังตกลงที่จะให้เงินช่วยเหลือแก่ตุรกีจำนวน 3 พันล้านยูโร ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่สมเหตุสมผล เมื่อดูจากการที่อังการาได้ใช้เงินไปแล้วถึง 7 พันล้านยูโรในการช่วยสกัดผู้อพยพไม่ให้เข้าสู่ยุโรป แต่ทว่ากลับได้เงินสนับสนุนจากภายนอกแค่ 1 พันล้านยูโร
ทั้งนี้ ในข้อตกลงแผนการฉุกเฉินสกัดผู้อพยพของอังการา ตุรกีตกลงกับอียูที่จะควบคุมบริเวณพรมแดนให้เข้มงวด ให้การร่วมมือกับกรีซมากขึ้น และยอมให้ตุรกีเป็นหนึ่งในจุดหมายที่พักพิงสำหรับผู้อพยพลี้ภัยจากตะวันออกกลาง
ในความเคลื่อนไหวการควบคุมพรมแดนของตุรกีตามการเรียกร้องของสหภาพยุโรป เดลีเมล์ สื่ออังกฤษรายงานเพิ่มเติมเมื่อวานนี้ (15) อังการาเริ่มต้นลงมือก่อสร้างกำแพงกั้นพรมแดนระหว่างตุรกีและซีเรียความยาวร่วม 500 ไมล์แล้ว โดยอ้างว่าต้องการหยุดการไหลเข้ากลุ่มติดอาวุธ IS จากซีเรียและอิรักเข้ามา ถึงแม้ว่ามีนักวิจารณ์จำนวนหนึ่งให้ความเห็นว่าเป็นการตัดสินใจที่ล่าช้าเกินไป
นอกจากนี้ อังการายังอ้างว่า การสร้างกำแพงปิดพรมแดนจะปิดช่องทางการไหลเข้าของผู้อพยพซีเรียผ่านช่องทางจุดข้ามแดน บาบ อัล-ซาลามา (Bab Al-Salama) ซึ่งเป็นช่องทางหลักของบรรดาผู้อพยพจากอะเลปโปเดินทางเข้าสู่ตุรกีเพื่อผ่านไปยุโรป
โดยเดลีเมล์ชี้ว่า นโยบายการสร้างกำแพงปิดพรมแดนของอังการาเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตายและทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 32 คนที่เมืองซูรัก (Suruc) และในแผนการปิดพรมแดนฝั่งติดซีเรียแล้ว อังการายังกำหนดให้มีการวางกำแพงลวดสนาม การตรวจการทางถนน และใช้โดรนบินตรวจการณ์ตลอดแนวพรมแดน 24 ชม. ที่ทั้งหมดถูกสั่งการควบคุมจากหอบังคับการ