เอเจนซีส์ - กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดตัวเลขคาดการณ์จีดีพีของเศรษฐกิจโลกสองปีซ้อน ชี้อัตราเติบโตกำลังมุ่งหน้าสู่สถิติต่ำสุดในรอบ 6 ปี พร้อมกันนี้ยังเตือนว่าการชะลอตัวในจีนมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะฉุดประเทศเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ให้เสียหลักไปด้วย
ในรายงาน “ทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจโลก” (World Economic Outlook) ฉบับล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (9 ต.ค.) ไอเอ็มเอฟคาดว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวเพียง 3.1% ในปีนี้ และ 3.6% ในปีหน้า ซึ่งเป็นการลดลงจากตัวเลขคาดการณ์ที่ให้ไว้ก่อนหน้านี้ 0.2% ทั้งสองปี
รายงานฉบับนี้ยังระบุว่า ถึงแม้พวกประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าส่งสัญญาณให้เห็นถึงการฟื้นตัว ทว่า เศรษฐกิจโลกโดยรวมกลับกำลังมุ่งหน้าสู่อัตราเติบโตต่ำสุดนับจากภาวะถดถอยในช่วงวิกฤตภาคการเงินทั่วโลกเมื่อปี 2009
มอริส อ็อบสต์เฟลด์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์คนใหม่ของไอเอ็มเอฟ แถลงจากกรุงลิมา, เปรู ซึ่งในสัปดาห์นี้จะเป็นสถานที่จัดการประชุมประจำฤดูใบไม้ร่วงปีนี้ของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก โดยชี้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในระยะสั้นอยู่ในระดับพอประมาณและไม่คงเส้นคงวา รวมทั้งมีความเสี่ยงขาลงมากขึ้น
รายงานล่าสุดฉบับนี้คาดหมายว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตได้เพียง 6.3% ในปีนี้ ซึ่งจะถือเป็นสถิติต่ำสุดในรอบ 25 ปี และไอเอ็มเอฟกล่าวว่าการชะลอตัวของแดนมังกร กำลังส่งผลต่อพวกชาติเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ ที่พึ่งพิงความต้องการวัตถุดิบของมหาอำนาจเอเชียรายนี้
ทั้งนี้ ราคาน้ำมัน โลหะ แร่ธาตุ และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ต่างพากันดิ่งลงเป็นแถวตามเศรษฐกิจจีนที่ชะลอความร้อนแรงลง สร้างความปั่นป่วนให้กับพวกประเทศตลาดเกิดใหม่ที่เคยร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกระหว่างเกิดวิกฤตภาคการเงินปี 2008-2009
ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงและถูกไอเอ็มเอฟลดแนวโน้มการเติบโตมากที่สุด คือ บราซิล ไนจีเรีย แอฟริกาใต้ และบราซิล
เศรษฐกิจบราซิลถูกคาดหมายว่าจะถดถอย 3% เลวร้ายกว่าที่ไอเอ็มเอฟทำนายไว้ในเดือนกรกฎาคมถึงสองเท่า ขณะที่รัสเซียมีแนวโน้มถูกลูกหลงสองเด้งจากทั้งราคาน้ำมันขาลงและผลพวงจากมาตรการลงโทษของตะวันตกต่อกรณียูเครน และไอเอ็มเอฟคาดว่า อัตราเติบโตปีนี้จะหดตัว 3.8%
รายงานยังระบุอีกว่า ถึงแม้การชะลอตัวในจีนเป็นไปอย่างสอดคล้องกับการคาดการณ์ของไอเอ็มเอฟ ทว่า ผลกระทบที่เกิดกับประเทศอื่นๆ นั้นกลับหนักหนากว่าที่เคยคิดกัน
นอกจากนั้น แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯยังกลายเป็นปัจจัร่วมโจมตีพวกเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่อีกทางหนึ่ง เนื่องจากจะทำให้นักลงทุนโยกเงินกลับไปลงทุนในอเมริกาที่มีผลตอบแทนดีกว่า และผลที่ตามมาก็คือ ค่าเงินของตลาดเกิดใหม่อ่อนยวบ รวมถึงแนวโน้มความผันผวนในตลาดการเงิน
หนี้ที่เพิ่มขึ้นในตลาดเกิดใหม่ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ตกต่ำ และการเติบโตชะลอตัว เหล่านี้อาจบ่อนทำลายเสถียรภาพทางการเงิน และส่งผลย้อนกลับไปยังอัตราเติบโตอีกทอดหนึ่ง
ในทางกลับกัน ประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้าที่เคยป็นศูนย์กลางวิกฤตการเงินโลกปี 2008-2009 ได้รับการคาดหมายว่าจะฟื้นตัวเล็กน้อยจากการเติบโตเข้มแข็งของอังกฤษและอเมริกา โดยไอเอ็มเอฟคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เมืองลุงแซมปีนี้จะอยู่ที่ 2.6% ขยับขึ้น 0.1% จากรายงานเดือนกรกฎาคม และอยู่ที่ 2.8% ในปีหน้า
กระนั้น การเติบโตของพวกประเทศเศรษฐกิจก้าวหน้า จะอยู่ในภาวะไม่มากมายอะไร โดยเฉพาะยูโรโซน ซึ่งรายงานล่าสุดนี้คาดหมายว่า จะมีอัตราขยายตัว 1.5% ในปีนี้และ 1.6% ในปี 2016 อีกทั้งยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากวิกฤตหนี้กรีซและอุปสงค์ที่อ่อนแอเรื้อรัง รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อต่ำ
รายงานล่าสุดของไอเอ็มเอฟฉบับนี้ยังเตือนถึงความเสี่ยงจากภูมิรัฐศาสตร์จากความขัดแย้งในยูเครนและตะวันออกกลาง รวมทั้งเตือนเกี่ยวกับวิกฤตผู้ลี้ภัยในยุโรปครั้งแรก
อ็อบสต์เฟลด์ทิ้งท้ายว่า วิกฤตผู้ลี้ภัยมีต้นทุนสูงทั้งทางสังคมและการเมือง แต่ในระยะยาวการหลั่งไหลของผู้อพยพจะส่งผลดีต่อยุโรปในแง่ของแรงงาน