เอเจนซีส์ – เมื่อวานนี้(6)San francisco Chronicle สื่อสหรัฐฯ รายงานถึงวิกฤตการขาดน้ำในรัฐแคลิฟอร์เนียเข้าสู่ขั้นร้ายแรงที่สุดเมื่อเมืองฟอร์ตแบรกก์ (Fort Bragg) ริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกถือเป็นเมืองแรกในรัฐแคลิฟอร์เนียกำหนดใช้มาตรการวิกฤตน้ำฉุกเฉินร้ายแรงระดับ 3 กำหนดให้ภัตตาคารและร้านอาหารทุกแห่งในเมืองแห่งนี้ใช้แต่ แก้วพลาสติก และจาน รวมไปถึงส้อมและมีดที่ใช้แล้วทิ้ง เพื่อไม่ต้องใช้น้ำล้างภาชนะเหล่านี้
San francisco Chronicle สื่อสหรัฐฯ รายงานในวันอังคาร(6)ว่า เมืองเมืองฟอร์ตแบรกก์ (Fort Bragg) ริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกในรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ออกคำสั่งบังคับใช้ในวันที่ 30 กันยายนล่าสุด กำหนดให้ภัตคารและร้านอาหารทุกแห่งในเมืองแห่งนี้ใช้แต่ แก้วพลาสติก และจาน รวมไปถึงส้อมและมีดที่ใช้แล้วทิ้ง เพื่อไม่ต้องใช้น้ำล้างภาชนะเหล่านี้ เมื่อพบว่าแหล่งน้ำจืดสำคัญของเมือง แม่น้ำโนโย (Noyo) มีระดับต่ำกว่าปกติ จนทำให้น้ำเค็มจากมหาสมุทรแปซิฟิกไหลบ่าเข้ามาผสมในระบบประปาของเมือง และทำให้ทางสภาเมืองฟอร์ตแบรกก์ต้องออกมาตรการวิกฤตน้ำฉุกเฉินร้ายแรงระดับ 3 สู้กับภัยแล้งในรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งอยู่ติดมหาสมุทรแปซิฟิก แต่กลับไม่สามารถนำน้ำมาใช้เพื่อบริโภคและทำการเกษตรในรัฐได้
นอกจากนี้ในคำสั่งเดียวกันนี้ สภาเมืองฟอร์ตแบรกก์ยังออกคำสั่งให้ชาวเมืองทุกคน และธุรกิจที่ตั้งอยู่ในเมืองแห่งนี้ต้องลดการใช้น้ำลงอีก 30% เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาการใช้น้ำในช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา
ซึ่งจากคำสั่งนี้ San Francisco Chronicle ชี้ว่า ประชาชนชาวฟอร์ตแบรกก์จะไม่สามารถใช้น้ำประปาล้างรถ รดน้ำสนามหญ้าหน้าบ้าน หรือต้นไม้บริเวณสนามหญ้าหลังบ้านได้ และรวมไปถึงธุรกิจภัตาคารและโรงแรมภายในเมืองฟอร์ตแบรกก์ ต้องใช้ภาชนะและอุปกรณ์ทุกอย่างเป็นประเภทใช้แล้วทิ้งเท่านั้นเพื่อที่ไม่ต้องใช้น้ำในการล้างจัดเก็บทุกวัน รวมไปถึงการให้บริการน้ำดื่มแก่ลูกค้าเท่าที่ร้องขอ และที่สำคัญที่สุดสำหรับลูกค้าที่มาพักในโรงแรมเมืองฟอร์ตแบรกก์พึงทราบว่า มาตรการประหยัดน้ำของสภาเมืองแห่งนี้กำหนดให้โรงแรมทุกแห่งลดความถี่ในการซักรีด “ผ้าคลุมโต๊ะในร้านอาหารของโรงแรม ผ้าเช็ดปากกันเปื้อน ผ้าปูที่นอน และผ้าเช็ดตัว” สื่อสหรัฐฯเผย
อย่างไรก็ตาม San Francisco Chronicle รายงานว่า ชาวเมืองฟอร์ตแบรกก์และบรรดาธุรกิจร้านค้าที่ได้รับผลกระทบมีเวลาจนถึงวันนี้(7)ที่จะยอมรับข้อกำหนดนี้
ด้าน ลินดา รัฟฟิง (Linda Ruffing) ผู้จัดการเมืองฟอร์ตแบรกก์ ให้สัมภาษณ์ด้วยท่าทีกังวลว่า “แม่น้ำโนโย” แหล่งน้ำสำคัญที่สุดของเมืองนี้อยู่ในขั้นวิกฤต เพราะน้ำเค็มไหลเข้ามาปนจนใช้การไม่ได้ ระดับน้ำอยู่ต่ำเกินไป เราอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว และเราต้องประหยัดน้ำให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”
แต่อย่างไรก็ตาม รัฟฟิงชี้ว่า ในกรณีที่ประกาศกำหนดให้เสิร์ฟไวน์ในแก้วพลาสติกใช้แล้วทิ้ง รวมไปถึงจานอาหารและส้อมและมีดนั้น เธอจะนำเรื่องนี้ไปหารือในที่ประชุมสภาเมืองฟอร์ตแบรกก์อีกครั้งในการประชุมอังคารหน้า(13)
ซึ่งหนึ่งในเสียงเรียกร้องจากเจ้าของภัตตาคารในเมืองแห่งนี้ จิม เฮิร์สต์ (Jim Hurst) หุ้นส่วนภัตตาคารสุดหรูประจำเมือง Silver’s at the Wharf ขนาบแม่น้ำโนโยที่มีลูกค้าแน่นตลอด กล่าวด้วยความหงุดหงิดว่า “ลูกค้าอาจใช้มีดพลาสติกหั่นเนื้อฟิลเลย์ก้อนเล็กได้ แต่ไม่มีทางที่จะใช้หั่นสเต็กเนื้อก้อนใหญ่หนักครึ่งกิโลฯได้”
และเฮิร์สต์กล่าวต่อว่า “นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายยังต้องเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นผลกระทบที่เห็นตรงหน้า ในความรู้สึกผมเอง ผมคิดว่ายังมีวิธีอื่นที่จะประหยัดน้ำได้”
แต่อย่างไรก็ตาม รัฟฟิงผู้บริหารเมืองกล่าวว่า ปัญหาคือถึงแม้ว่า ชาวเมืองฟอร์ตแบรกก์จะเลิกรดน้ำสนามหญ้า ไม่ใช้เวลานานใต้ฝักบัว หรือหยุดการล้างรถเพื่อลดค่าใช้น้ำที่ต้องจ่ายออกไปในแต่ละเดือน และรวมไปถึงการประหยัดน้ำจาก 500,000 แกลอนต่อวัน ก่อนที่จะมีมาตรการออกมาให้จำกัดการใช้ 400,000 แกลอนต่อวัน ซึ่งในความคิดของเธอ ทุกคนในเมืองนี้ได้ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้เพื่อการประหยัดแล้ว แต่ยังไม่สามารถทำให้น้ำที่มีอยู่จำกัดส่งไปให้ประชาชนในเมืองนี้ได้ใช้อุปโภคและบริโภคได้
“ผู้ใช้น้ำจำนวนมากจะไม่สามารถลดการใช้น้ำลง 30% ตามข้อกำหนดได้ เพราะคนจำนวนมากพยายามทุกวิธีแล้วในการลดการใช้ เป็นต้นว่า เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำ” รัฟฟิงกล่าว และเสริมต่อว่า ทางเมืองกำลังหาหนทางแก้ไขใหม่เป็นต้นว่า หาแหล่งน้ำเพิ่ม
ซึ่งผู้จัดการเมืองฟอร์ตแบรกก์ชี้ว่าแต่อย่างไรก็ตาม อ่างเก็บน้ำแหล่งใหม่ที่มีความสามารถในการจัดเก็บ 15 ล้านแกลอนจะยังไม่สามารถนำมาใช้ได้จนกระทั่งในปี 2016
ด้านแม่น้ำโนโยถือเป็นแหล่งน้ำสำคัญของเมือง และเป็นช่องทางการขนส่งไม้ของโรงเลื่อยใหญ่ประจำเมือง The Georgia Pacific lumber mill ซึ่งปิดตัวลงในปี 2002 จากป่าเรดวูด ซึ่งแม่น้ำสายนี้ในปัจจุบันเป็นแหล่งผลิตน้ำดิบให้ป้อนการผลิตน้ำประปาให้กับเมืองฟอร์ตแบรกก์ราว 40%
แต่ทว่าล่าสุดเนื่องจากน้ำเค็มหนุนเข้าแทรก ทำให้ไม่สามารถนำน้ำมาผลิตได้ ทำให้เมืองฟอร์ตแบรกก์ต้องหันมาใช้แหล่งน้ำธรรมชาติ 2 แห่ง นิวแมน กัลช์(Newman Gulch) และวอเตอร์ฟอล กัลช์ ( Waterfall Gulch) ในเมืองมาใช้ทำน้ำประปาแทน ซึ่งเพียงพอในการผลิตได้แค่ 400,000 แกลอนต่อวันเท่านั้น
และรัฟฟิงยังกล่าวต่อว่า “ทางเรากังวลกับเรื่องนี้มาก เพราะระดับน้ำในแม่น้ำโนโยไม่เคยต่ำเท่านี้มาก่อน โดยในขณะนี้ทางเรากำลังประเมินถึงความเป็นไปได้ที่แหล่งน้ำนี้อาจจะแห้งขอดก่อนฝนจะมาเยือน”