เอเจนซีส์ - อยาตอลเลาะห์ อาลี คามาเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่านระบุในวันอาทิตย์ (27 ก.ย.) แนะซาอุดีอาระเบียควรขอโทษ แทนที่จะกล่าวโทษคนอื่น สำหรับเหตุการณ์เหยียบกันตาย ที่ทำให้ผู้แสวงบุญในพิธีฮัจญ์เสียชีวิตถึง 769 ราย โดยมีชาวอิหร่านเสียชีวิตอย่างน้อย 144 รายและสูญหายอีกกว่า 300 คน โดยก่อนหน้านี้ซาอุฯ ได้ตอบโต้เสียงวิจารณ์ของอิหร่านว่าไม่ควรใช้โศกนาฏกรรมนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
หายนะร้ายแรงที่สุดในรอบ 25 ปี ที่เกิดขึ้นในพิธีกรรมของศาสนาอิสลามครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เมื่อคณะผู้แสวงบุญ 2 กลุ่มใหญ่เคลื่อนขบวนมาบรรจบกันที่ทางแยกในทุ่งมีนา ซึ่งอยู่ห่างจากนครเมกกะเพียงไม่กี่กิโลเมตร เหตุการณ์นี้ทำให้มีผู้เสียชีวิต 769 รายและได้รับบาดเจ็บ 934 คน
สำนักข่าวไออาร์เอ็นเอของทางการอิหร่านรายงานในวันอาทิตย์ โดยอ้างคำกล่าวของคามาเนอีที่ระบุว่า ซาอุดีอาระเบียควรรับผิดชอบและขอโทษต่อโลกอิสลามกับครอบครัวผู้สูญเสีย แทนที่จะโยนความผิดให้ชาติอื่น
ทั้งนี้ ผู้นำอิหร่านวิจารณ์การดูแลความปลอดภัยในพิธีฮัจญ์ของทางการซาอุฯ อย่างรุนแรง พร้อมตั้งคำถามว่า ซาอุดีอาระเบียสมควรเป็นผู้จัดงานแสวงบุญที่มีขึ้นเป็นประจำทุกปีต่อไปหรือไม่
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา อิหร่านเรียกอุปทูตซาอุฯ เข้าพบเป็นครั้งที่สาม นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ผู้แสวงบุญเหยียบกันตาย เพื่อกดดันซาอุฯ ให้ร่วมมือมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ระหว่างร่วมประชุมกับ บัน คี-มุน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ในนิวยอร์ก ประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ของอิหร่าน ยังร้องขอผู้ไกล่เกลี่ยจากยูเอ็น โดยอ้างว่า ซาอุดีอาระเบียไม่ให้ความร่วมมือมากเพียงพอในการค้นหาผู้แสวงบุญที่สูญหายและส่งร่างผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บกลับประเทศ
“ยูเอ็นจำเป็นต้องเตือนซาอุฯ เกี่ยวกับหน้าที่ทางกฎหมายและมนุษยธรรมของตนเอง” ผู้นำอิหร่านย้ำ พร้อมเรียกร้องให้มีการสอบสวนโศกนาฏกรรมครั้งนี้
นอกจากนี้ อาลี จานาตี รัฐมนตรีวัฒนธรรมอิหร่าน ยังเตรียมนำคณะผู้แทนไปยังซาอุฯ เพื่อติดตามชาวอิหร่าน 323 คนที่ยังสูญหาย แต่ทางไออาร์เอ็นเอรายงานว่า คณะผู้แทนชุดนี้ยังไม่ได้รับวีซ่าจากซาอุฯ
คำวิจารณ์ของคามาเนอีมีขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่อาเดล อัล-จูเบียร์ รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุฯ ที่เข้าร่วมการประชุมยูเอ็นอยู่ในนิวยอร์กเช่นเดียวกับรูฮานี ได้ตอบโต้เสียงวิพากษ์จากอิหร่าน ซึ่งเป็นอริสำคัญในภูมิภาค โดยระบุว่า อิหร่านไม่ควรใช้โศกนาฏกรรมเป็นเครื่องมือทางการเมือง
จูเบียร์ยังย้ำว่า ซาอุฯ มีประวัติยาวนานในการทุ่มเททรัพยากรมหาศาลเพื่อดูแลให้ภารกิจการแสวงบุญของผู้ที่เดินทางสู่เมกกะสำเร็จลุล่วงด้วยดี รวมทั้งรับปากว่า จะเปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมดหลังเสร็จสิ้นการสอบสวน รวมทั้งจะลงโทษผู้ที่เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุร้ายแรงครั้งนี้
“เราจะทำให้แน่ใจว่า เราได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นี้และไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นอีก ผมขอย้ำอีกครั้งว่า นี่ไม่ใช่สถานการณ์ที่จะใช้เป็นเกมการเมือง ผมหวังว่า ผู้นำอิหร่านจะมีเหตุผลและใคร่ครวญมากขึ้นถึงผู้เสียชีวิตในโศกนาฏกรรมนี้และรอจนกว่าเราจะได้ผลการสอบสวน” จูเบียร์ กล่าว
การโต้แย้งนี้มีขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างอิหร่านและซาอุฯ เกี่ยวกับความขัดแย้งในเยเมนและซีเรีย ซึ่งทางซาอุฯ มองว่าเป็นความพยายามของอิหร่านที่จะขยายอิทธิพลในตะวันออกกลาง