บีบีซีนิวส์ - รายงานที่ร่วมจัดทำโดยองค์กรชำนัญพิเศษด้านแรงงานของยูเอ็นระบุ แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลของไทยซึ่งส่วนใหญ่คือลูกหลานของแรงงานต่างด้าวที่ถูกบังคับใช้แรงงานบนเรือประมงไทยนั้น มีความเสี่ยงได้รับบาดเจ็บในการทำงานมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ กว่าเท่าตัว พร้อมเรียกร้องรัฐบาลไทยให้ความคุ้มครองแรงงานอย่างเท่าเทียม โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติหรือสถานะทางกฎหมาย
รายงานฉบับนี้ที่จัดทำโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) และ มูลนิธิเอเชีย (เอเชีย ฟาวน์เดชัน) ยังระบุว่า แรงงานเด็กในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลต้องทำงานกับไฟ แก๊ส หรือเปลวไฟ และปรากฏว่าแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมนี้ 19.4% ได้รับบาดเจ็บในสถานที่ทำงาน ขณะที่มีแรงงานเด็กในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพียง 8.4% ที่ได้รับบาดเจ็บขณะทำงาน
ก่อนหน้านี้ กลุ่มสิทธิมนุษยชนหลายกลุ่มได้กล่าวหาอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยใช้แรงงานทาส อาทิ กลุ่มฮิวแมนไรต์วอตช์ ที่รายงานว่าคนงานกัมพูชาและพม่าถูกลักลอบพาเข้าเมืองไทยและบังคับใช้แรงงานบนเรือประมง และลูกหลานของแรงงานเหล่านี้คือแรงงานเด็กส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลของไทย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก
เมาริซิโอ บัสซี รักษาการผู้อำนวยการไอแอลโอประจำประเทศไทย กัมพูชา และลาว กล่าวว่า แรงงานเด็กเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้จริงๆ ในยุคศตวรรษที่ 21 แต่โชคร้ายที่ปัญหานี้ยังคงเป็นอาการของความท้าทายด้านธรรมาภิบาลในตลาดแรงงานทุกวันนี้ ควบคู่ไปกับสภาพที่แรงงานผู้อ่อนแอและครอบครัว ยังคงขาดทางเลือกอันเสรีอย่างแท้จริง
รายงานฉบับนี้ยังมีข้อเสนอแนะมากมาย เป็นต้นว่า การเรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้ความคุ้มครองแรงงานอย่างเท่าเทียม โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติและสถานะทางกฎหมาย การขอให้ผู้ซื้อต่างชาติติดต่อกับพวกซัปพลายเออร์โดยตรง เพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานระหว่างประเทศรวมถึงมาตรฐานด้านแรงงาน