xs
xsm
sm
md
lg

ผู้อพยพทะลัก “กรีซ” เพิ่มศูนย์รองรับ เยอรมันเผยพร้อมรับปีละ 5 แสนคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ผู้อพยพพากันเลือกเสื้อผ้าที่ได้รับบริจาคจากองค์กรการกุศล ณ ศูนย์รับรองแห่งหนึ่ง ทางตะวันออกเฉียงใต้ของบูดาเปสต์ เมืองหลวงของฮังการี
เอเจนซีส์ - กรีซต้องรีบเปิดศูนย์แห่งใหม่ในวันอังคาร (8 ก.ย.) เพื่อรองรับผู้อพยพนับหมื่นที่ยังคงหลั่งไหลเข้าไม่หยุด หลังจากศูนย์แห่งเดิมอยู่ในสภาพวอลหม่านวุ่นวาย “เกือบจะระเบิด” อยู่แล้ว ขณะที่ประธานอียูเตือน “คลื่น” ผู้อยพยังจะหลั่งไหลเข้าสู่ยุโรปอีกหลายปี ทางด้านเยอรมนีประกาศพร้อมรับผู้ลี้ภัยปีละครึ่งล้าน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ชาติสมาชิกอียูทั้งหมดจะต้องร่วมรับผิดชอบในสัดส่วนที่เป็นธรรม แทนการผลักภาระให้ไม่กี่ประเทศอย่างเช่นออสเตรีย สวีเดน และเยอรมนี

จากการที่ เยียนนิส มูซาลัส รัฐมนตรีการอพยพย้ายถิ่นของกรีซ ยอมรับว่า เกาะเลสบอส ซึ่งประเทศของเขาใช้เป็นสถานที่หลักแรกรับผู้อพยพ กำลังอยู่ในสภาพ “เกือบจะระเบิด” เต็มที ทางการผู้รับผิดชอบของกรีซก็ได้เร่งเปิดศูนย์แห่งใหม่ขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เพื่อดำเนินกรรมวิธีต่างๆ กับผู้อพยพราว 30,000 คนซึ่งสหประชาชาติระบุว่ายังคงติดค้างอยู่ที่เกาะแห่งนั้น ตลอดจนในจุดอื่นๆ ของทะเลอีเจียน โดยที่เอเธนส์ให้คำมั่นว่าจะรีบแก้ปัญหาคอขวด เพื่อจะได้กระจายผู้อพยพต่อไปยังที่อื่นๆ โดยเร็ว

หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง หน่วยยามฝั่งและตำรวจปราบจลาจลจำนวนหนึ่งที่มีกระบองเป็นอาวุธ ได้เข้าควบคุมผู้อพยพราว 2,500 คน บริเวณท่าเรือหลักของเกาะเลสบอส ที่พยายามลงเรือเฟอร์รี่ข้ามไปเอเธนส์

ส่วนที่ฮังการีในวันจันทร์ (7) ผู้อพยพจำนวนมากทะลวงแนวป้องกันของตำรวจใกล้ศูนย์พักชั่วคราว และตั้งท่าเดินเท้าสู่กรุงบูดาเปสต์ก่อนยอมถอยกลับ ขณะที่ตำรวจในเดนมาร์กต้องปิดถนนมอเตอร์เวย์ทางใต้ หลังจากผู้อพยพหลายร้อยคนใช้เป็นเส้นทางเดินเท้าไปยังชายแดนสวีเดน
ตำรวจมาซิโดเนียกระทบกระทั่งกับผู้อพยพขณะที่พวกเขากำลลังรอข้ามแดนจากหมู่บ้านแห่งหนึ่งทางภาคเหนือของกรีซ ทั้งนี้มาซิโดเนียและกรีซ ต่างเป็นประเทศที่ต้องเผชิญกับคล่ืนผู้ลี้ภัยที่ประสงค์มุ่งหน้าสู่สหภาพยุโรป
ด่านชายแดนแห่งอื่นๆ ในยุโรปก็เต็มไปด้วยผู้ยากไร้ที่ทะลักข้ามแดนไม่ขาดสาย ทั้งที่เดินทางจากทางบกผ่านบอลข่าน และแออัดมาในเรือข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

สำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า มีผู้ลี้ภัยจากซีเรียเดินทางถึงมาซิโดเนียถึง 7,000 คนเฉพาะวันจันทร์วันเดียว และ 30,000 คนแออัดอยู่บนเกาะต่างๆ ของกรีซ

สถานการณ์เหล่านี้ตอกย้ำความยากลำบากที่เจ้าหน้าที่ทั่วยุโรปต้องเผชิญในการรับมือคลื่นคนที่หนีสงครามและความยากไร้จากบ้านเกิดในตะวันออกกลางและแอฟริกา

โดนัลด์ ทัสก์ ประธานสหภาพยุโรป (อียู) ชี้ว่า คลื่นการย้ายถิ่นขณะนี้ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและจบลงในครั้งเดียว แต่เป็นจุดเริ่มต้นของคลื่นการอพยพอย่างแท้จริงที่ยุโรปจะต้องเผชิญอีกนานหลายปี ซึ่งยุโรปจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับสภาวการณ์เหล่านี้แทนที่จะโทษกันเอง

ชะตากรรมของผู้อพยพเหล่านี้กำลังได้รับความสนใจและเห็นใจจากทั่วโลกเพิ่มมากขึ้น ไม่เพียงประเทศทางยุโรปตะวันตกอย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศส กระทั่งประเทศในอเมริกาใต้ก็ ประกาศอ้าแขนรับผู้อพยพเป็นจำนวนหลายหมื่นคน

เวเนซุเอลาระบุว่า พร้อมรับผู้อพยพ 20,000 คนเท่ากับที่อังกฤษจะรับใน 5 ปี ขณะที่ประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟฟ์ประกาศว่า บราซิลยินดีต้อนรับผู้อพยพเช่นเดียวกัน และมิเชลล์ บาเชเลต ผู้นำชิลี เผยว่า กำลังดำเนินการเพื่อรองรับผู้อพยพจำนวนมาก ด้านรัฐควิเบกของแคนาดาเผยพร้อมรับผู้อพยพ 3,650 คนในปีนี้
เหล่าผู้อพยพกำลังต่อแถวยาวเหยียดเพื่อลงทะเบียน ณ สนามฟุตบอลที่ดัดแปลงเป็นศูนย์ลงทะเบียน บนเกาะเลสบอสของกรีซ ขณะที่เอเธนส์ต้องรีบเปิดศูนย์แห่งใหม่ในวันอังคาร (8 ก.ย.) เพื่อรองรับผู้อพยพนับหมื่นที่ยังคงหลั่งไหลเข้าไม่หยุด หลังจากศูนย์แห่งเดิมอยู่ในสภาพวอลหม่านวุ่นวาย “เกือบจะระเบิด”
สำหรับอียูนั้น คาดกันว่า ฌอง-โคลด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป จะเปิดเผยในวันพุธ (9) ถึงระบบโควตาภาคบังคับ ซึ่งมีการกระจายแบ่งปันความรับผิดชอบเรื่องผู้อพยพให้แก่ทั้ง 28 ชาติอียู

ประธานาธิบดีฟรังซัวส์ ออลลองด์ของฝรั่งเศส เตือนว่า หากปราศจากนโยบายที่เป็นหนึ่งเดียว ระบบเชงเก้นที่อนุญาตการเดินทางโดยเสรีภายในอียู จะตกอยู่ในความเสี่ยง

กระนั้น ฮังการี สาธารณรัฐเช็ก สโลวาเกีย และโรมาเนีย ยังคงคัดค้านระบบโควตา โดยอ้างว่า ไม่สามารถทำได้จริง หากอียูไม่มีระบบการป้องกันพรมแดนรอบนอก

ทั้งนี้ วิกฤตผู้อพยพทำให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ชาติอียูเกี่ยวกับแนวทางการรับมือ โดยบางประเทศนำโดยเยอรมนีเรียกร้องให้ใช้แนวทางร่วมกัน ขณะที่บางประเทศทางตะวันออกต้องการให้ใช้ไม้แข็งสกัดกั้นผู้อพยพ

รัฐมนตรีคลัง วูล์ฟกัง ชอยเบิล ของเมืองเบียร์ประกาศในวันอังคารว่า เยอรมนีจะใช้พลังอำนาจทางการเงินของตนเพื่อช่วยเหลือคลื่นผู้ลี้ภัย ทั้งนี้หลังจากเมื่อวันจันทร์ (7) รัฐบาลเมืองเบียร์เพิ่งอนุมัติงบประมาณพิเศษ 600,000 ล้านยูโรรับมือวิกฤตผู้อพยพ โดยคาดว่า จะสามารถรองรับผู้ลี้ภัยถึง 800,000 คนในปีนี้ หรือ 4 เท่าตัวของปีที่แล้ว

ทางด้าน ซิกมาร์ เกเบรียล รองนายกรัฐมนตรีเยอรมนีและหัวหน้าพรรคโซเชียล เดโมแครตส์ ซึ่งเป็นพรรคกลาง-ซ้าย ขานรับว่า ด้วยขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของยุโรป เมืองเบียร์พร้อมรับผู้ลี้ภัยปีละ 500,000 คน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ประเทศอื่นๆ ในยุโรปต้องร่วมรับผิดชอบคลื่นผู้อพยพในสัดส่วนที่เป็นธรรม แทนการผลักภาระให้ไม่กี่ประเทศอย่างเช่นออสเตรีย สวีเดน และเยอรมนี


กำลังโหลดความคิดเห็น