เอเจนซีส์ - เพนตากอนยืนยันในวันพุธ (2 ก.ย.) เรือกองทัพจีน 5 ลำปรากฏตัวครั้งแรกในน่านน้ำสากล บริเวณทะเลเบริง ซึ่งอยู่ระหว่างอะแลสกา กับ รัสเซีย แถมประจวบเหมาะกับช่วงเวลาที่ประธานาบดีบารัค โอบามา เดินทางเยือนมลรัฐของสหรัฐฯแห่งนี้ ด้านทำเนียบขาวระบุเรือรบแดนมังกรเหล่านี้ไม่มีพฤติกรรมข่มขู่คุกคาม ขณะที่นักวิเคราะห์ชี้นี่เป็นการแสดงแสนยานุภาพของจีน และเป็นการปรามอเมริกาให้เลิกกดดันในด้านต่างๆ ก่อนที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะเดินทางเยือนวอชิงตันตอนปลายเดือนนี้
ร.อ.เจฟฟ์ เดวิส โฆษกของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ (เพนตากอน) แถลงในวันพุธว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่อเมริกาพบเห็นเรือกองทัพจีนในทะเลเบริง พร้อมย้ำว่าอเมริกาเคารพเสรีภาพของทุกประเทศที่จะปฏิบัติภารกิจของเรือทางทหารในเขตน่านน้ำสากล ภายใต้กรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ
ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า การปรากฏตัวของเรือเหล่านี้เป็นตัวอย่างการขยายขอบเขตการปฏิบัติภารกิจของกองทัพเรือจีน และยังเกิดขึ้นพร้อมกับการเดินทางเยือนอะแลสกา เป็นเวลา 3 วันของประธานาธิบดีโอบามา ด้วยจุดมุ่งหมายรณรงค์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก
หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัลระบุว่า เรือของจีนอยู่ไม่ไกลจากบริเวณที่โอบามาเดินทางเยือนมากนัก ซึ่งยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า เป็นการจงใจหรือไม่ หรือเพียงเพราะว่า เรือเหล่านี้เพิ่งเสร็จสิ้นจากการซ้อมรบทางทะเลกับรัสเซียก่อนหน้านี้
เจ้าหน้าที่กลาโหมของสหรัฐฯ 2 คนที่ไม่ประสงค์เปิดเผยนาม เผยว่า อเมริกาตรวจพบเรือทั้งห้าลำของจีนซึ่งประกอบด้วยเรือสะเทินน้ำสะเทินบก 1 ลำ, เรือส่งกำลังบำรุง 1 ลำ และเรือรบผิวน้ำ 3 ลำ ตั้งแต่เมื่อหลายวันก่อน และทุกลำไม่ได้กระทำการใดๆ ที่ไม่เป็นมืออาชีพหรือผิดกฎหมาย
ขณะที่ จอช เออร์เนสต์ โฆษกทำเนียบขาว แถลงในทำนองเดียวกันว่า ไม่พบว่า เรือจีนเหล่านั้นมีกิจกรรมที่เป็นการข่มขู่คุกคาม และเสริมว่า เพนตากอนกำลังจับตาการเคลื่อนไหวของเรือทั้ง 5 ลำ แต่ยอมรับว่า ยังไม่รู้วัตถุประสงค์ของเรือเหล่านั้น
ที่ผ่านมา จีนอัดฉีดเงินนับพันล้านดอลลาร์เพื่อปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย โดยในด้านกองเรือนาวีนั้น ปักกิ่งต้องการพัฒนายุทธศาสตร์ “น่านน้ำทะเลลึก” เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองที่ขยายออกไปทุกที ในฐานะประเทศเศรษฐกิจอันดับสองของโลก รองจากสหรัฐฯเท่านั้น
ทางด้าน ดีน เฉิง ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนของ เฮอริเทจ ฟาวน์เดชัน กลุ่มคลังสมองแนวทางอนุรักษนิยมที่มีอิทธิพลสูงในวอชิงตัน แสดงความเห็นว่า การปรากฏตัวของเรือจีนในทะเลเบริงมีเป้าหมายเพื่อส่งสาส์นถึงอเมริกาให้รับรู้ถึงแสนยานุภาพเกรียงไกรของกองทัพจีน และเพื่อให้อเมริกาหยุดกดดันจีนในเรื่องต่างๆ ก่อนที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะเดินทางเยือนวอชิงตันในเดือนนี้ ท่ามกลางเสียงขู่คำรามในสหรัฐฯว่า อเมริกาจะดำเนินการกับการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ที่เป็นฝีมือของแฮกเกอร์จีน
ส่วน ปีเตอร์ ฮัตตัน ผู้อำนวยการสถาบันศึกษากิจการทางทะเลของจีน มองว่า เหตุการณ์นี้ถือเป็นความคืบหน้าสำคัญของกองทัพเรือจีน แต่สำทับว่า ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเนื่องจากระยะหลังมานี้ เรือรบจีนแวะเวียนแถบยูเรเซียบ่อยขึ้นและต่อเนื่อง อาทิ การซ้อมรบกับรัสเซียในทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลญี่ปุ่น นอกจากนั้นจีนยังสนใจในเส้นทางเดินเรือผ่านแถบเหนือของโลก ดังนั้น นับจากนี้ อเมริกาอาจเห็นเรือจีนนอกชายฝั่งอะแลสกาบ่อยขึ้น
ทั้งนี้ จีนเข้าเป็นผู้สังเกตการณ์ถาวรในสภาอาร์กติกนับจากปี 2013 และแสดงชัดเจนว่า สนใจแหล่งพลังงานสำรองในภูมิภาคดังกล่าวอย่างมาก โดยสมาชิกของสภาอาร์กติกประกอบด้วยประเทศที่ตั้งอยู่ในแถบดังกล่าว ได้แก่ แคนาดา เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ รัสเซีย สวีเดน และอเมริกา
ทางด้านแพทริก โครนิน จากเซ็นเตอร์ ฟอร์ นิว อเมริกัน ซีเคียวริตี้ ชี้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นส่วนหนึ่งของแบบแผนในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาในการขยายบทบาททางทะเลของจีนออกมานอกน่านน้ำของประเทศ
ถึงแม้สหรัฐฯ กับจีนมีผลประโยชน์ร่วมกันที่สำคัญหลายอย่าง เช่น ความพยายามในการควบคุมโครงการนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีความไม่ลงรอยชัดเจนในหลายเรื่อง รวมถึงการที่จีนอ้างสิทธิ์อธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด
การเสริมสร้างแสนยานุภาพของจีน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาเครื่องบินขับไล่ล่องหน และระบบขีปนาวุธต่อต้านดาวเทียม ทำให้ประเทศในแถบเอเชีย-แปซิฟิกสั่นสะท้านไปทั่ว โดยเฉพาะนับจาก สีขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีในปี 2013 และเริ่มใช้มาตรการเชิงรุกในกรณีข้อพิพาทด้านดินแดนทางทะเล