xs
xsm
sm
md
lg

“เซเว่น-อีเลฟเว่น” ออสซีตั้งคณะกรรมการสอบแฟรนไชส์ หลังสื่อแฉพนักงานโดนโกงค่าจ้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเอฟพี – บริษัทร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่ เซเว่น-อีเลฟเว่น (7-Eleven) จะจัดตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบข้อกล่าวหาเสื่อมเสียที่ว่าเหล่าแฟรนไชส์ของบริษัททำการปลอมแปลงบัญชีเงินเดือนและจ่ายค่าจ้างพนักงานในออสเตรเลียน้อยกว่าที่ควรอย่างเป็นระบบ

การสืบสวนร่วมโดยบริษัทสถานีวิทยุและโทรทัศน์ออสเตรเลีย (เอบีซี) และแฟร์แฟกซ์มีเดีย ได้เปิดโปงหลักฐานที่ว่าร้านค้าแฟรนไชส์จำนวนมากจากทั้ง 620 สาขาในประเทศมีส่วนพัวพันกับการเอารัดเอาเปรียบพนักงาน

อัลลัน เฟลส์ อดีตประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและการแข่งขันทางธุรกิจของออสเตรเลียอ้างว่า ภายใต้โมเดลธุรกิจของเซเว่น-อีเอฟเว่น ทางเดียวที่บรรดาผู้รับสัมปทานจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้คือต้องโกงลูกจ้างของพวกเขา

“ในความคิดเห็นของผม หนทางเดียวที่ผู้รับสัมปทานจะสามารถอยู่ได้ คือ ด้วยการจ่ายค่าจ้างพนักงานต่ำกว่าที่ควร อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และผมไม่ชอบโมเดลแบบนี้เลย” เขาบอกกับสื่อทั้งสองเจ้า

ภายใต้ข้อตกลงผู้รับสัมปทานของบริษัทนี้ สำนักงานใหญ่จะได้รับกำไรขั้นต้น 57 เปอร์เซ็นต์ และผู้รับสัมปทานจะได้รับส่วนที่เหลือ ทั้งนี้อ้างสถานีโทรทัศน์เอบีซี

จากส่วนกำไรขั้นต้น สำนักงานใหญ่จะแบ่งจ่ายเป็นค่าเช่า แม้ว่าร้านค้าบางแห่งจะเป็นของทางบริษัทเองก็ตาม และค่าเครื่องมืออุปกรณ์ ค่าปรับปรุง รวมถึงค่าสาธารณูปโภค

จากส่วน 43 เปอร์เซ็นต์ที่แฟรนไชส์ได้รับ พวกเขาจะต้องนำไปจ่ายค่าดำเนินธุรกิจอื่นๆ จำนวนมากรวมถึงค่าจ้างพนักงานซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่สำหรับร้านค้าที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงตลอดทั้งสัปดาห์

ในถ้อยแถลงเมื่อค่ำวันจันทร์ (31) บริษัทเซเว่น-อีเลฟเว่น จำกัด ระบุว่าจะจัดตั้งคณะกรรมการอิสระโดยจะมีชาวออสเตรเลียผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งที่ยังไม่ถูกกำหนดชื่อนั่งเป็นประธาน เพื่อตรวจสอบข้อกล่าวหาเรื่องการจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่ควรและเรื่องข้อตกลงของผู้รับสัมปทาน

“คณะกรรมการชุดนี้จะรับพิจารณา ตรวจสอบ และดำเนินการทุกข้อกล่าวหาเรื่องการจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าที่ควร และอนุมัติการจ่ายเงินคืนในจำนวนที่เหมาะสม” วอร์เรน วิลมอต ประธานบริหาร กล่าว

“ความอยู่รอดของระบบเซเว่น-อีเลฟเว่นไม่ได้ต้องอาศัยช่องทางใด รวมทั้งไม่เคยและจะไม่มีวันขึ้นอยู่กับการที่แฟรนไชส์จ่ายค่าจ้างพนักงานต่ำกว่าที่ควร”

“จะไม่มีผู้รับสัมปทานรายใดที่กระทำผิดแล้วหลุดรอดจากความรับผิดชอบ เพราะว่าเราจะลากตัวพวกเขามาจ่ายเงินทุกบาททุกสตางค์คืนให้กับอดีตพนักงานหรือพนักงานปัจจุบัน”

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (Fair Work Ombudsman) ของออสเตรเลียระบุว่า ร้านค้าเซเว่น-อีเลฟเว่นหลายแห่งซึ่งมักจ้างวัยรุ่น ลูกจ้างที่เอาเปรียบได้ง่าย รวมถึงบรรดานักศึกษาต่างชาติ อยู่ในการจับตาของพวกเขามาเป็นเวลาหลายปีแล้ว

นาตาลี เจมส์ ผู้ตรวจการณ์ด้านแรงงานระบุว่า การสืบสวนในปัจจุบันกำลังตรวจสอบว่าสำนักงานใหญ่เป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการฉ้อโกงนี้ด้วยหรือไม่

วิลมอตกล่าวว่า บริษัทเซเว่น-อีเลฟเว่นจะทำงานร่วมกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน “เพื่อช่วยกำหนดขอบข่ายงานและรูปแบบการทำงานของคณะกรรมการอิสระชุดนี้”

อย่างไรตาม เขาโต้แย้งข้อกล่าวหาของเฟลส์ ที่ว่าระบบแฟรนไชส์ของบริษัทไม่สามารถอยู่รอดได้ โดยระบุว่าร้านค้าแต่ละแห่งทำกำไรสุทธิเฉลี่ยต่อปีได้กว่า 165,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (เกือบ 4.2 ล้านบาท) และมีการเติบโตในแต่ละปีมากกว่า 9 เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้จะเป็นเช่นนั้น แต่ทางบริษัทระบุว่าพวกเขาจะซื้อร้านค้าคืนจากผู้รับสัมปทานรายใดก็ตามที่ไม่พึงพอใจกับธุรกิจ


กำลังโหลดความคิดเห็น