xs
xsm
sm
md
lg

“เสื้อเหลืองมาเลย์” ชุมนุมประท้วงไล่นายกฯ นาจิบ วันที่ 2 “มหาเธร์” ออกโรงเข้าร่วม รบ.ฮึ่ม-เกทับระดมเสื้อแดงล้านคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<b><i>ผู้ประท้วงรัฐบาลมาเลเซียจำนวนมาก ออกมาชุมนุมที่บริเวณใกล้ๆ จัตุรัสเอกราช (เมอร์เดกา) ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นคืนที่สองเมื่อวันอาทิตย์ (30 ส.ค.) ถึงแม้มีฝนตกกระหน่ำลงมา เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ลาออก จากกรณีฉาวโฉ่เงินกองทุนของรัฐบาลเกือบ 700 ล้านดอลลาร์ ถูกโอนไปอยู่ในบัญชีธนาคารส่วนตัวของเขา การชุมนุมคราวนี้จัดขึ้นโดยกลุ่มรณรงค์เรียกร้องการเลือกตั้งสะอาดที่ใช้ชื่อว่า “เบอร์ซีห์” </b></i>
เอเจนซีส์ – ชาวมาเลเซียนับแสนใส่เสื้อเหลืองปักหลักประท้วงเรียกร้องนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัค ลาออกเป็นวันที่ 2 ในวันอาทิตย์ (30 ส.ค.) โดยมีอดีตผู้นำ มหาเธร์ โมฮัมหมัด รุดให้กำลังใจทั้งสองวัน ด้านรัฐมนตรีมหาดไทยขู่เอาผิดผู้จัดชุมนุม ขณะที่คนในพรรครัฐบาลคุยระดม “เสื้อแดง” 1 ล้านคนแสดงพลังหนุนนาจิบเดือนตุลาคมนี้ และรองหัวหน้าพรรควิจารณ์มหาเธร์ “ล้ำเส้น”

การชุมนุม 2 วัน คราวนี้ ซึ่งถือเป็นการชุมนุมใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์แดนเสือเหลือง ดำเนินไปอย่างสงบเรียบร้อยเป็นส่วนใหญ่ ถึงแม้ตำรวจประกาศว่าเป็นการชุมนุมโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งปิดเว็บไซต์ของผู้จัดการชุมนุม ตลอดจนสั่งแบนเสื้อยืดสีเหลืองและโลโก้ที่ใช้ในการชุมนุมคราวนี้

รายงานระบุว่า ผู้ชุมนุมหลายพันคนปักหลักพักค้างคืนในบริเวณใกล้จัตุรัสเอกราช ของกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อคืนวันเสาร์ (29) และมีประชาชนอีกจำนวนมากทยอยเดินทางกลับมาสมทบตั้งแต่ช่วงเช้าวันอาทิตย์ ท่ามกลางบรรยากาศคล้ายเทศกาลรื่นเริงที่ผสมผสานทั้งการปราศรัยทางการเมือง ดนตรี การสวดมนตร์ และการถ่ายเซลฟีตามกระแสนิยม โดยกลุ่ม “เบอร์ซี” (คำในภาษามาเลย์แปลว่า สะอาดหมดจด) ซึ่งเป็นกลุ่มรณรงค์ปฏิรูประบบการเลือกตั้งและเป็นผู้จัดการชุมนุมครั้งนี้ ระบุว่า มีผู้ร่วมชุมนุมทั้งสิ้นราว 300,000 คน เพิ่มจาก 200,000 คนเมื่อวันเสาร์ ซึ่งตำรวจให้ตัวเลขเพียง 25,000 คน

นักธุรกิจวัย 40 ปีผู้หนึ่งเผยว่า เข้าร่วมการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความโปร่งใส และปกป้องสิทธิของลูกหลาน เนื่องจากมาเลเซียขณะนี้เต็มไปด้วยปัญหาการทุจริต ซึ่งประชาชนต้องร่วมกันหยุดยั้งนาจิบและล้มล้างรัฐบาล

ทว่า ซาฮิด ฮามิดี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมหาดไทยรับผิดชอบความมั่นคงภายในประเทศ เตือนผู้จัดการชุมนุมว่า อาจถูกดำเนินคดีภายใต้กฎหมายต่อต้านการปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครองและกฎหมายอื่นๆ

ทั้งนี้ สำนักข่าวเบอร์นามาของทางการมาเลเซียรายงานว่า มีผู้ถูกจับกุม 12 คนในเมืองมะละกา เนื่องจากสวมเสื้อยืดสีเหลืองของการชุมนุม อย่างไรก็ดี ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวแล้ว และไม่เป็นที่ชัดเจนว่า มีการตั้งข้อหาใด
<b><i>ผู้ประท้วงรัฐบาลมาเลเซีย สวดมนตร์ขณะร่วมชุมนุมที่จัดโดยกลุ่ม “เบอร์ซีห์” ในกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อคืนวันอาทิตย์ (30 ส.ค.) </b></i>
ทางด้านนาจิบ ได้ประณามการชุมนุมว่า ทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ ทั้งยังเกทับว่า ผู้ประท้วงมีเพียง 20,000 คน ขณะที่ประชาชนมาเลเซียที่เหลือล้วนสนับสนุนรัฐบาล

ท่าทีดังกล่าวของนาจิบได้รับการสนองตอบอย่างทันควันจากจามัล ยูนอส หัวหน้ากลุ่มย่อยในพรรคองค์การสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโน) ของนาจิบ ที่ประกาศว่า จะเกณฑ์ “คนเสื้อแดง” ที่สนับสนุนรัฐบาล 1 ล้านคน ชุมนุมในกัวลาลัมเปอร์ในวันที่ 10 ตุลาคม

ทั้งนี้ นาจิบถูกกดดันอย่างหนักนับจากเดือนที่แล้วที่หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัล เผยแพร่เอกสารการตรวจสอบของทางการมาเลเซียเองซึ่งแสดงให้เห็นว่า กองทุน 1มาเลเซีย ดิเวลอปเมนท์ (1เอ็มดีบี) ของรัฐบาลที่กำลังประสบวิกฤตการเงิน ได้โอนเงินเกือบ 700 ล้านดอลลาร์เข้าบัญชีส่วนตัวของนาจิบตั้งแต่ปี 2013

ทว่า ผู้นำแดนเสือเหลืองยืนยันว่า ไม่ได้ทำผิด และอ้างว่า ตัวเองถูก “สมรู้ร่วมคิดทางการเมือง” เพื่อโค่นล้ม

นอกจากนั้น นาจิบยังปลดรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เรียกร้องให้ตนชี้แจงเรื่องนี้ รวมทั้งปลดอัยการสูงสุดที่กำลังดำเนินการตรวจสอบกองทุน 1เอ็มดีบี ขณะที่รัฐบาลสั่งปิดหนังสือพิมพ์สองฉบับ รวมทั้งบล็อกเว็บไซต์ที่แฉข่าวอื้อฉาวนี้

คณะรัฐมนตรีแดนเสือเหลืองยังพร้อมใจแก้ต่างว่า เงินที่ถูกกล่าวหาว่า โอนเข้าบัญชีนาจิบเป็น “การบริจาคทางการเมือง” จากผู้สนับสนุนในตะวันออกกลาง โดยไม่ให้รายละเอียดอื่นใด
<b><i>อดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮาหมัด แถลงข่าวขณะเขาเดินทางมาร่วมการชุมนุมประท้วงรัฐบาลติดต่อกันเป็นวันที่ 2 เมื่อวันอาทิตย์ (30ส.ค.)
คำอธิบายดังกล่าวถูกอดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮัมหมัด วัย 90 ปี ที่ยังคงมีอิทธิพลอย่างมากในพรรครัฐบาล ประณามว่า “ไร้สาระ” พร้อมเรียกร้องให้นาจิบลาออก เนื่องจากทั้งทุจริตและขาดธรรมาภิบาล

มหาเธร์ยังเดินทางไปให้กำลังใจผู้ชุมนุมในกัวลาลัมเปอร์คราวนี้ทั้งสองวัน สร้างความประหลาดใจสำหรับบางคน เนื่องจากในยุคที่ปกครองประเทศระหว่างปี 1981-2003 เขาใช้ไม้แข็งกับผู้ต่อต้านชนิดไม่มีประนีประนอม

อดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ได้รับการต้อนรับจากพวกผู้ประท้วงประหนึ่งเขาเป็นร็อกสตาร์ ขณะเดินทางไปถึงที่ชุมนุม

ในการแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้นอย่างเร่งด่วน มหาเธร์ได้แถลงขออภัยจากการที่เขามีบทบาทในการช่วยเหลือใน นาจิบ ก้าวผงาดขึ้นสู่อำนาจ และโจมตีกล่าวหานาจิบว่ากำลังใช้อำนาจโดยมิชอบ เพื่อให้ตนเองได้คงอยู่ในตำแหน่งต่อไปและจะได้สามารถหลบเลี่ยงจากการถูกกล่าวหาดำเนินคดีทั้งหลายทั้งปวง

“เขาทราบดีว่าเมื่อเขาหมดอำนาจ เขาจะต้องไปขึ้นศาล ศาลจะวินิจฉัยว่าเขามีตความผิดจริง และเขาจะต้องเข้าคุก” มหาเธร์บอกกับผู้สื่อข่าว

ทางด้าน ฮิสชัมมุดดิม ฮุสเซน รองหัวหน้าพรรคอัมโน ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล กล่าวหาว่า มหาเธร์ “ล้ำเส้น” ในการไปร่วมชุมนุมกับผู้ประท้วงรัฐบาล

นาจิบนั้นยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นภายในพรรคอัมโนของตนเอง รวมถึงแนวร่วมแห่งชาติ (บาริซัน เนชันแนล) ที่มีอัมโนเป็นแกนนำและปกครองประเทศเรื่อยมาตั้งแต่ปี 1957 ทว่าในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังสุดเมื่อปี 2013 นั้น แม้แนวร่วมแห่งชาติยังสามารถครองเสียงข้างมากในสภา แต่ในความเป็นจริงแล้ว บาริซัน เนชันแนล เป็นฝ่ายแพ้คะแนนเสียง หากนับจำนวนเสียงของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง (ป๊อปปูลาร์โหวต) ขณะเดียวกันตัวนาจิบเองก็ตกอยู่ภายใต้ความกดดัน จากการบริหารประเทศภายใต้สภาพที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันขาลง ขยทำให้รายได้ของประเทศลดลง นอกจากนี้ ค่าเงินริงกิตยังทำสถิติต่ำสุดในรอบ 17 ปีในเดือนนี้

กระนั้น การประท้วงครั้งนี้ซึ่งผู้จัดกำหนดให้ยุติในคืนวันอาทิตย์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดงานวันชาติในวันรุ่งขึ้น (31 ส.ค.) คาดกันว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อนาจิบมากนัก ส่วนหนึ่งนั้นเนื่องจากการชุมนุมคราวนี้ขาดผู้นำที่ชัดเจน ขณะที่พวกพรรคฝ่ายค้านของมาเลเซียเวลานี้กำลังแตกแยกรวมกันไม่ติดเนื่องจากขัดแย้งด้านนโยบาย นอกจากนั้น นาจิบยังกุมอำนาจเบ็ดเสร็จในสถาบันสำคัญของประเทศ ทั้งตำรวจ ศาล และรัฐสภา




<b><i>อดีตนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ โมฮาหมัด ยื่นขวดน้ำดื่มให้ สิติ ฮัสมาห์ ภรรยาของเขา ภายหลังการแถลงข่าวขณะเขาเดินทางมาร่วมการชุมนุมประท้วงรัฐบาลติดต่อกันเป็นวันที่ 2 เมื่อวันอาทิตย์ (30ส.ค.) </b></i>
กำลังโหลดความคิดเห็น