xs
xsm
sm
md
lg

เอเอฟพีอ้างนักวิชาการ “เสื้อแดง” โบ้ยบึ้มราชประสงค์ไม่ใช่ฝีมือพวกเดียวกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พนักงานออฟฟิศย่านใจกลางกรุงเทพฯในวันอังคาร(18ส.ค.) จุดเทียนไว้อาลัยแก่เหยื่อผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดบริเวณพระพรหมเอราวัณ แยกราชประสงค์ เมื่อวันจันทร์(17ส.ค.)
เอเอฟพี - เอเอฟพีเผยแพร่รายงานเกี่ยวกับเหตุระเบิดที่บริเวณศาลพระพรหม เอราวัณ ระบุสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งของไทยคุ้นเคยกับความรุนแรงเป็นอย่างดี แต่ขอบเขตความโหดเหี้ยมของการโจมตีใจกลางกรุงเทพฯ เมื่อวันจันทร์ (17 ส.ค.) ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ พร้อมอ้างนักวิชาการ “เสื้อแดง” ให้ความเห็นว่าวิธีการทำงานของคนร้ายห่างไกลจากเหล่าผู้ปลุกปั่นติดอาวุธของประเทศ

รายงานของเอเอฟพีในวันอังคาร (18 ส.ค.) ระบุว่า เหตุระเบิดเมื่อค่ำวันจันทร์ (17 ส.ค.) ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนอย่างน้อย 20 ศพ ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติที่อัดแน่น ณ ศาลพระพรหม เอราวัณ บริเวณแก่นกลางด้านการค้าของกรุงเทพฯ ก่อความสับสนแก่เหล่านักสังเกตการณ์หลายคน เนื่องจากเหตุโจมตีด้วยระเบิดที่สังหารหมู่ผู้คนมากมายเช่นนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเมืองหลวงของไทย

สื่อชั้นนำแห่งนี้รายงานต่อว่า ปฏิบัติการตามล่ากำลังดำเนินอยู่ในวันอังคาร (18 ส.ค.) ด้วยผู้ต้องสงสัยสำคัญ คือ ชายวัยรุ่นรายหนึ่งสวมเสื้อยืดสีเหลือง ซึ่งถูกกล้องวงจรปิดจับภาพไว้ได้ขณะที่วางกระเป๋าเป้ไว้ที่จุดเกิดเหตุไม่กี่นาทีก่อนการระเบิด

เอเอฟพีระบุว่า มีการสำรวจความเชื่อมโยงของเหตุระเบิดกับกลุ่ม 2 กลุ่ม ได้แก่ กบฏมุสลิมจากภาคใต้ของประเทศ และพวกหัวรุนแรงจากฝ่ายเห็นต่างทางการเมือง “เรื่องที่แปลกของเหตุระเบิดครั้งนี้คือมันไม่ตรงกับวิธีปฏิบัติการของกลุ่มใด ไม่ว่าจะทั้งพวกก่อความไม่สงบมุสลิม หรือกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร” ซาคารี อาบูซา ผู้เชี่ยวชาญด้านเหตุความไม่สงบทางภาคใต้ของไทยบอกกับเอเอฟพี “ในความเป็นจริง ผมคิดว่าคุณไม่สามารถตัดประเด็นใดออกไปได้”

รายงานของเอเอฟพีบอกว่า พวกกลุ่มก่อความไม่สงบต่อสู้เพื่ออำนาจในการปกครองตนเองใน 3 จังหวัดที่มีชาวมุสลิมเป็นชนกลุ่มใหญ่ ตามแนวชายแดนมาเลเซีย ที่ถูกผนวกเข้ากับไทยเมื่อ 1 ศตวรรษก่อน โดยมีผู้คนในพื้นที่ดังกล่าวมากกว่า 6,400 ศพ ส่วนใหญ่เป็นพลเรือน ต้องสังเวยชีวิตในเหตุความไม่สงบในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม พลเอก อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบอกว่า การโจมตีไม่น่าจะเป็นฝีมือของพวกก่อความไม่สงบทางภาคใต้ เพราะว่าระเบิดที่ใช้ไม่ตรงกับยุทธวิธีของคนเหล่านี้

เอเอฟพีระบุในรายงานต่อว่า อีกด้านหนึ่งพวกนักรบในกลุ่ม “คนเสื้อแดง” เหล่าผู้สนับสนุนของอดีตรัฐบาล โปรดปรานดวลปืนริมทาง หรือใช้รถเป็นพาหนะขับกราดยิงเข้าใส่คู่อริทางการเมือง โดยเหตุนองเลือดเลวร้ายสุดนับตั้งแต่พวกเขาปรากฏตัว คือ มีผู้คนมากกว่า 90 ชีวิต ถูกสังหารและได้รับบาดเจ็บหลายร้อยคนระหว่างปฏิบัติการเข้าปราบปรามของกองกำลังความมั่นคงต่อการชุมนุมของคนเสิ้อแดงในกรุงเทพฯเมื่อปี 2010

อย่างไรก็ตาม เอเอฟพีอ้างความเห็นของนายปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ นักวิชาการฝ่ายเสื้อแดง ที่หลบหนีหมายจับของทางการไทย บอกว่า คนเสื้อแดง ไม่น่าจะเป็นผู้ลงมือโจมตีศาลเจ้าทางศาสนาในชาติที่พลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ “หากตัดสินจากขอบเขตของการจู่โจมแล้ว ผมไม่คิดว่าการโจมตีนี้จะกระพือขึ้นจากปัญหาการเมืองภายในของไทย”

บางส่วนคาดเดากันว่า เป้าหมายของการโจมตีศาลพระพรหม เอราวัณ ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีน บางทีอาจเป็นความพยายามตอบโต้ปักกิ่ง หลังจากเมื่อเดือนที่แล้ว ไทยบังคับเนรเทศผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์มากกว่า 100 คน

เหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งมีขึ้นท่ามกลางความสัมพันธ์อันอบอุ่นระหว่างรัฐบาลไทย และปักกิ่ง เรียกเสียงประณามอย่างกว้างขวางจากนานาชาติ และการประท้วงรุนแรงในตุรกีที่เล่นงานสถานกงสุลไทยในอิสตันบูล

อย่างไรก็ตาม เอเอฟพีบอกว่า ในขณะที่กลุ่มนักรบอิสลามิสต์ระดับสากลปฏิบัติการโจมตีพื้นที่อื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างเช่น เกาะบาหลีของอินโดนีเซียในปี 2002 คร่า 202 ศพ แต่พวกเขาก็ไม่เคยวางไทยเป็นเป้าหมายลำดับต้น ๆ ส่วนพวกนักรบอุยกูร์จากมณฑลซินเจียง ซึ่งคร่ำครวญว่าถูกเลือกปฏิบัติทางศาสนาและวัฒนธรรม ก็ไม่เคยดำเนินการโจมตีในไทยเช่นกัน

เอเอฟพีอ้างนักวิเคราะห์อีกคน ซึ่งถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับคนเสื้อแดงเช่นกัน โยงไปที่ประวัติศาสตร์อันยาวนานของอำนาจมืดในกลุ่มก๊กต่าง ๆ ภายในกองทัพไทย “หากคุณต้องการรู้ว่าใครอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ คุณจำเป็นต้องถามว่าใครกันที่มีความสามารถเช่นนี้” พอล แชมเบอร์ส ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยจากสถาบันศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเอเอฟพี


กำลังโหลดความคิดเห็น