เอเอฟพี – อับดุลเลาะห์ อัล-ธานี ผู้นำรัฐบาลลิเบียฝ่ายที่นานาชาติให้การยอมรับ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแบบสายฟ้าแลบกลางรายการที่ถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์เมื่อวานนี้ (11 ส.ค.) หลังการเจรจาสันติภาพระหว่าง 2 ขั้วการเมืองในลิเบียเริ่มขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง
นายกรัฐมนตรี อัล-ธานี ถูกประชาชนที่โกรธแค้นตั้งคำถามกล่าวโทษรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ปัญหาความขาดแคลนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า รวมถึงสถานการณ์ความมั่นคงในดินแดนส่วนที่รัฐบาลชุดนี้ควบคุมอยู่
“ถ้าการลาออกของผมจะช่วยแก้ปัญหาได้ งั้นผมก็ขอประกาศลาออกตรงนี้เลย” อัล-ธานี กล่าวขณะให้สัมภาษณ์สดผ่านสื่อทีวี พร้อมย้ำว่าตนจะยื่นหนังสือลาออกต่อรัฐสภาในวันอาทิตย์นี้(16)
อัล-ธานี ซึ่งเคยรอดตายมาได้อย่างหวุดหวิดหลังรถยนต์ของเขาถูกคนร้ายกราดกระสุนใส่ขณะแล่นออกจากอาคารรัฐสภาเมื่อเดือนพฤษภาคม ยังถูกติเตียนว่าปล่อยให้คนในรัฐบาลมีการทุจริตคอรัปชัน
ลิเบียตกอยู่ในสภาพไร้ขื่อแปหลังจากพันเอก มูอัมมาร์ กัดดาฟี ถูกโค่นล้มไปเมื่อ 4 ปีก่อน
ปัจจุบันนี้ ลิเบียมี 2 รัฐบาลคู่อริที่พยายามแก่งแย่งอำนาจปกครอง ขณะที่กลุ่มติดอาวุธต่างๆ ก็พยายามฉกฉวยผลประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันที่มีอยู่มหาศาล เหตุจลาจลวุ่นวายที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศแห่งนี้กลายเป็นแหล่งซ่องสุมของกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์ไปในที่สุด
รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ อัล-ธานี ต้องย้ายไปตั้งฐานปฏิบัติการอยู่ที่เมืองตอบรูกทางภาคตะวันออกติดพรมแดนอียิปต์ หลังจากที่เครือข่ายอิสลามิสต์สามารถบุกยึดกรุงตริโปลีได้เมื่อปีที่แล้ว
ก่อนที่ อัล-ธานี จะประกาศสละตำแหน่งไม่กี่ชั่วโมง คณะผู้แทนจาก 2 ขั้วการเมืองในลิเบียได้ร่วมวงเจรจาสันติภาพที่นครเจนีวาซึ่งมีองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้การสนับสนุน โดยหวังว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์ขึ้นได้
แบร์นาดิโน ลีออน ผู้แทนพิเศษยูเอ็น เรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายบรรลุข้อตกลงจัดตั้งรัฐบาลสมานฉันท์ ซึ่งอาจเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้การหยุดยิงมีผลบังคับใช้อย่างยั่งยืน
เบงกาซีซึ่งเป็นเมืองหลักในภาคตะวันออกของลิเบียต้องเผชิญเหตุปะทะรายวันระหว่างกลุ่มติดอาวุธที่สนับสนุนและต่อต้านรัฐบาล อัล-ธานี
เดือนที่แล้ว ผู้แทนทั้ง 2 ฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงสันติภาพชั่วคราวซึ่งมุ่งหมายที่จะฟื้นคืนเสถียรภาพแก่ลิเบีย ทว่ากลุ่มผู้นำในสภาแห่งชาติลิเบีย (จีเอ็นซี) ที่กรุงตริโปลีกลับประกาศคว่ำบาตร โดยชี้ว่าเป็นข้อตกลงที่ “ไม่น่าพอใจ”
ลีออน ให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าววานนี้(11)ว่า บุคคลสำคัญของทั้ง 2 ฝ่ายยอมเดินทางมาร่วมเจรจาที่เจนีวา “โดยไม่มีข้อยกเว้น”
ลีออน ได้เสนอกรอบเวลาให้ทั้ง 2 ฝ่ายเจรจาตกลงเรื่องการตั้งรัฐบาลสมานฉันท์ให้สำเร็จก่อนการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติในเดือนกันยายน แต่ก็ยอมรับว่ากระบวนการดังกล่าวมีความซับซ้อนและอาจเป็นไปได้ยาก
โมฮัมเหม็ด อาลี อับดัลลาห์ อัดดารัต สมาชิกสภาแห่งชาติในกรุงตริโปลีและหัวหน้าพรรค เนชันแนล ฟรอนท์ ระบุว่า จีเอ็นซีจะไม่ยอมรับข้อตกลงใดๆ ก็ตามยังคงตำแหน่งนายทหารระดับสูงให้แก่ พล.อ. คอลีฟา ฮัฟตาร์ ผู้บัญชาการทหารของรัฐบาลลิเบียในเมืองตอบรูก
“จะไม่มีข้อตกลงใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าหาก พล.อ.ฮัฟตาร์ จะได้เป็นผู้บัญชาการกองทัพลิเบียต่อไป” อัดดารัต กล่าว
“บุคคลที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดวิกฤตการเมืองและการทหารในลิเบีย ไม่สมควรเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา”
ฮัฟตาร์ วัย 72 ปี เคยเป็นนายพลระดับสูงในรัฐบาลพันเอก มูอัมมาร์ กัดดาฟี ก่อนจะย้ายไปอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ และทำงานให้กับสำนักงานข่าวกรองกลาง (ซีไอเอ) เป็นครั้งคราว ตามข้อมูลจากสื่ออเมริกัน
เขาเดินทางกลับไปยังลิเบียเมื่อปีที่แล้ว และรับตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพของรัฐบาลลิเบียที่นานาชาติให้การสนับสนุน
ฮัฟตาร์ ประกาศจะบดขยี้อิสลามิสต์ให้สิ้นซาก และวิงวอนให้ชาติตะวันตกสนับสนุนกองกำลังของเขาด้วย