เอเจนซีส์ - กรีซสามารถทำความตกลงกับพวกเจ้าหนี้ระหว่างประเทศเกี่ยวกับเงื่อนไขกว้างๆ ของแพกเกจเงินกู้ช่วยชีวิตฉบับใหม่ที่มีระยะเวลา 3 ปี โดยที่คาดหมายกันว่ารายละเอียดสุดท้ายไม่กี่ประเด็นที่ยังเหลืออยู่ จะสามารถเห็นพ้องกันได้ในวันอังคาร (11 ส.ค.) และส่งให้รัฐสภาของทางเอเธนส์อนุมัติได้ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้ทันชำระหนี้ก้อนใหม่ในวันที่ 20 ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง มีการเปิดเผยรายงานการศึกษาของสถาบันเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเบอร์ลิน ระบุว่าเยอรมนีเป็นผู้ที่กอบโกยผลประโยชน์มหาศาลจากวิกฤตหนี้กรีซ ถึงขั้นที่ยังมีกำไรเป็นหมื่นล้าน ถึงแม้ในกรณีที่เอเธนส์ไม่สามารถหาเงินมาใช้คืนได้ก็ตาม
ยูคลิด ซากาโลโตส รัฐมนตรีคลังกรีซ แสดงความมั่นใจระหว่างให้สัมภาษณ์เมื่อเช้าวันอังคาร (11) หลังจากหารือกับเจ้าหนี้ระหว่างประเทศแบบมาราธอน 23 ชั่วโมง โดยระบุว่า ยังเหลือประเด็นยิบย่อยเพียง 2-3 ข้อ
ความมั่นใจดังกล่าวได้รับการตอกย้ำจาก ธีโอโดรอส ไมโฮปูลอส ผู้ช่วยรัฐบาลที่ทวิตว่า การเจรจาเสร็จสิ้นแล้วและเหลือรายละเอียดอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ขณะที่ คณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) และเป็น 1 ในคณะเจ้าหนี้ระหว่างประเทศซึ่งทำการเจรจากับฝ่ายเอเธนส์ ก็ออกมายืนยันถึงความคืบหน้า
“ทางสถาบัน (คณะเจ้าหนี้ระหว่างประเทศ) และทางการผู้รับผิดชอบของกรีซ สามารถบรรลุข้อตกลงในทางหลักการบนพื้นฐานในทางเทคนิค และการเจรจายังกำลังดำเนินต่อไปเพื่อตกลงกันในรายละเอียดขั้นสุดท้าย” อันนิกา เบรดธาร์ดต์ โฆษกฝ่ายกิจการเศรษฐกิจของคณะกรรมาธิการยุโรป แถลง พร้อมกับระบุด้วยว่า คาดหมายกันว่ารายละเอียดเหล่านี้จะสะสางกันให้เสร็จสิ้นได้ภายในวันอังคาร (11)
อย่างไรก็ตาม เธอชี้ว่า ข้อตกลงฉบับนี้ยังจะต้องผ่านการอนุมัติจากคณะผู้แทนระดับสูงขึ้นมา และพวกเจ้าหน้าที่อาวุโสของกระทรวงการคลังจาก 28 ชาติสมาชิกอียู ก็จะจัดการประชุมขั้นตอนต่อไป โดยคาดว่าจะเป็นในวันอังคารเช่นกัน
รายงานระบุว่า เอเธนส์และเจ้าหนี้สามารถตกลงกันได้ในประเด็นขัดแย้งสำคัญ 3 ข้อคือ การจัดการกับหนี้ที่ไม่ก่อเกิดรายได้ของภาคธนาคารของกรีซ การจัดตั้งกองทุนจัดการการจำหน่ายสินทรัพย์ และการผ่อนคลายกฎระเบียบในตลาดก๊าซธรรมชาติ
ทั้งนี้ รัฐบาลกรีซหวังว่า จะนำข้อตกลงความช่วยเหลือก้อนใหม่ระยะ 3 ปีมูลค่า 85,000 ล้านยูโร (93,000 ล้านดอลลาร์) เข้าสู่การพิจารณาอนุมัติของรัฐสภาภายในสัปดาห์นี้ ก่อนการประชุมของรัฐมนตรีคลังยูโรโซ ซึ่งคาดว่า จะมีขึ้นในวันศุกร์ (14)
อย่างไรก็ดี สมาชิกหลายคนในพรรคฝ่ายซ้ายไซรีซาของนายกรัฐมนตรีอเล็กซิส ซีปราส ประกาศคัดค้านข้อตกลงใหม่ฉบับนี้ ซึ่งจะมีการกำหนดมาตรการเข้มงวดในการลดการใช้จ่ายของกรีซเพิ่มเติมขึ้นอีก
เอเธนส์นั้นต้องการบรรลุข้อตกลงอย่างช้าที่สุดในวันที่ 20 เดือนนี้ ซึ่งเป็นวันครบกำหนดชำระหนี้ก้อนที่มีมูลค่ากว่า 3,000 ล้านยูโร คืนให้แก่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ทั้งนี้กรีซจะไม่มีเงินจ่ายแน่ๆ หากไม่ได้รับแพ็คเกจความช่วยเหลือใหม่ฉบับนี้ ซึ่งเป็นเงินกู้ก้อนที่ 3 ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนั้น เอเธนส์ยังต้องฝ่าฟันบททดสอบสำคัญคือปฏิกิริยาจากชาติเจ้าหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมนี ผู้สมทบเงินช่วยเหลือกรีซสองครั้งก่อนมากที่สุด โดยที่เวลานี้เมืองเบียร์ยังคงย้ำความสำคัญในการเจรจาอย่างละเอียดรอบคอบ มากกว่าการตกลงให้ได้อย่างรวดเร็ว
ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อวันจันทร์ (10) ได้มีการเผยแพร่รายงานการศึกษาของสถาบันไลบ์นิซเพื่อการวิจัยทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสถาบันเอกชนที่ไม่หวังผลกำไร โดยรายงานระบุว่า เยอรมนีเป็นผู้ที่ได้ผลประโยชน์จากวิกฤตหนี้กรีซคิดเป็นมูลค่าถึง 100,000 ล้านยูโร (109,000 ล้านดอลลาร์) หรือกว่า 3% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในรูปของการจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรถูกลง เนื่องจากนักลงทุนแห่แหนมาหาเครื่องมือการลงทุนที่ปลอดภัย
เมื่อเปรียบเทียบกับเงินที่เบอร์ลินสมทบเพื่อปล่อยกู้ให้กรีซซึ่งมีจำนวนรวมทั้งหมดราว 90,000 ล้านยูโรแล้ว ย่อมเท่ากับว่า เยอรมนียังคงได้กำไร แม้เอเธนส์ไม่สามารถหาเงินมาชำระคืนให้ก็ตาม
รายงานแจกแจงว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ ทุกครั้งที่ตลาดการเงินได้รับข่าวร้ายเกี่ยวกับกรีซ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีก็จะตกลง ในทางกลับกัน ทุกครั้งที่มีข่าวดี ดอกเบี้ยดังกล่าวก็จะพุ่งขึ้น
สถาบันแห่งนี้ยังระบุในรายงานว่า งบประมาณสมดุลที่วูล์ฟกัง ชอยเบิล รัฐมนตรีคลังเมืองเบียร์เน้นย้ำ พร้อมกับยกเป็นเหตุผลในการยืนกรานคัดค้านการยกหนี้ให้กรีซนั้น เอาเข้าจริงแล้วการที่เยอรมนีจัดทำงบประมาณสมดุลได้ ปัจจัยสำคัญก็เนื่องจากการที่เบอร์ลินจ่ายดอกเบี้ยพันธบัตรถูกลงในช่วงวิกฤตกรีซนี่แหละ