xs
xsm
sm
md
lg

ยูเอ็นเตือนยอดเหยื่อน้ำท่วมพม่าพุ่ง หลายประเทศเอเชียสำลักฝน-โคลนถล่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<b><i>สภาพรันเวย์ของสนามบิน (ด้านบน) อยู่ท่ามกลางบ้านเรือนที่ประสบอุทกภัยในเมืองกะเล เขตสะกาย ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของพม่าเมื่อวันอาทิตย์ (2 ส.ค.)  </b></i>
เอเอฟพี - ยูเอ็นเตือนน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มในพม่ามีแนวโน้มสร้างความเสียหายรุนแรงขึ้น โดยขณะนี้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 27 คน และส่งผลต่อประชาชนกว่า 150,000 คน ขณะที่ฤดูมรสุมยังสร้างความเดือดร้อนในอีกหลายประเทศของภูมิภาคแถบนี้

รัฐบาลพม่าประกาศให้ 4 พื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตกเป็นเขตภัยพิบัติแห่งชาติ โดยบริเวณที่ประสบภัยพิบัติรุนแรงที่สุดคือรัฐชินและยะไข่ทางตะวันตก เมื่อถึงวันอาทิตย์ (2 ส.ค.) พบผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 27 ราย และมีประชาชนได้รับผลกระทบ 156,000 คน

ความพยายามในการกู้ภัยต้องเผชิญอุปสรรคจากฝนที่ยังตกลงมาอย่างหนักต่อเนื่อง ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลหลายแห่ง

สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรม (โอซีเอชเอ) แห่งสหประชาชาติ แถลงในวันอาทิตย์ (2) ว่า ได้รับแจ้งจากกระทรวงบรรเทาทุกข์และย้ายถิ่นฐานของพม่าว่า มีผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในขณะนี้ 156,000 คน แต่มีแนวโน้มที่ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นสูงมาก เนื่องจากยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ทีมประเมินสถานการณ์ยังเข้าไม่ถึง

โอซีเอชเอสำทับว่า ยอดผู้เสียชีวิตของทางการที่ 27 ราย อาจเป็นตัวเลขประเมินที่ต่ำเกินไปเช่นเดียวกัน

ทางด้านสภากาชาดพม่าระบุว่า บ้านเรือน 300 หลังในยะไข่ถูกทำลายราบหรือได้รับความเสียหาย และประชาชนราว 1,500 คนต้องอพยพไปยังศูนย์หลบภัย
<b><i>ภาพถ่ายจากทางอากาศแสดงให้เห็นน้ำที่ยังคงท่วมบ้านเรือนและไร่นาในเขตเมืองกะแล เขตสะกาย ของพม่า เมื่อวันอาทิตย์ (2) </b></i>
ปัจจุบัน ยะไข่รองรับผู้พลัดถิ่นอยู่แล้ว 140,000 คน ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมโรฮิงญาที่อยู่ในค่ายชั่วคราวริมชายฝั่ง หลังเหตุการณ์ปะทะรุนแรงระหว่างชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้กับชาวพุทธเมื่อปี 2012

สื่อของรัฐบาลพม่ายังรายงานว่า เมืองฮาคา เมืองเอกของรัฐชิน เกิดเหตุดินถล่มในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้บ้านเรือน 60 หลัง ถนนสำคัญหลายสาย และสะพาน 7 แห่งได้รับความเสียหาย

อุทกภัยครั้งรุนแรงนี้ถือเป็นบททดสอบปฏิบัติการบรรเทาทุกข์ของรัฐบาลพม่า

เจ้าหน้าที่กระทรวงสวัสดิการสังคมของพม่าที่ไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อบอกกับสำนักข่าวเอเอฟพีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (1) ว่า เจ้าหน้าที่กู้ภัยไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยหลายแห่ง

พม่านั้นเผชิญฤดูมรสุมเป็นประจำทุกปี แต่บ่อยครั้งที่ฝนและพายุไซโคลนมีความรุนแรงมาก ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มจนกลายเป็นเหตุการณ์ปกติ

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2008 รัฐบาลทหารพม่าถูกวิจารณ์อย่างหนักจากความล่าช้าและไม่พอเพียงในการรับมือพายุไซโคลน “นาร์กีส” ที่ถล่มลุ่มแม่น้ำอิระวดี ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 140,000 ราย
<b><i>ชาวบ้านเดินผ่านพื้นที่น้ำท่วมบริเวณชานเมืองเปชาวาร์ เมืองเอกของแคว้นไคเบอร์ปัคตุนควา ทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของปากีสถาน เมื่อวันเสาร์ (1)  </b></i>
สำหรับในขณะนี้ นอกเหนือจากพม่าแล้ว ฤดูมรสุมยังแผลงฤทธิ์ในอีกหลายประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้

เจ้าหน้าที่ในรัฐมณีปุระทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเปิดเผยเมื่อวันเสาร์ว่า คาดว่า มีประชาชนราว 20 คนเสียชีวิตจากเหตุการณ์ภูเขาถล่มทับหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่อยู่ติดกับชายแดนพม่า หลังจากฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง

ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักยังทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของอินเดีย โดยเฉพาะที่รัฐคุชราตทาง
ตะวันตกที่มีผู้เสียชีวิตถึง 53 ราย

ที่เวียดนาม หน่วยกู้ภัยเร่งให้ความช่วยเหลือเหยื่อโคลนถล่มที่ปนเปื้อนสารพิษจากเหตุน้ำท่วมเหมืองถ่านหินในจังหวัดกว๋างนิง ทางเหนือ ซึ่งเป็นที่ตั้งอ่าวฮาลองที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยรายงานระบุว่า มีผู้เสียชีวิตแล้ว 17 ราย

ปากีสถานเป็นอีกประเทศที่ประสบอุทกภัยรุนแรงในขณะนี้ โดยมีผู้เสียชีวิตแล้ว 81 ราย และประชาชนได้รับผลกระทบเกือบ 300,000 คนในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตอีก 36 รายจากเหตุดินถล่มในเนปาล
<b><i>ชาวบ้านใช้ข้าวของที่มีอยู่มาดัดแปลงเป็นพาหนะเดินทางยามยาก ในเมืองกะเล เขตสะกาย </b></i>





กำลังโหลดความคิดเห็น