เอเอฟพี - รัสเซียได้ทำการยื่นวีโต้คัดค้านมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันพุธ (29 ก.ค.) เรื่องจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมาพิจารณาหาผู้รับผิดชอบการยิงเที่ยวบิน MH17 จนตกในภาคตะวันออกของยูเครน
สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคง 11 ชาติจากทั้งหมด 15 ชาติ ได้โหวตเห็นชอบกับมตินี้ ที่ถูกร่างขึ้นมาโดย ออสเตรเลีย , เบลเยียม , มาเลเซีย , เนเธอร์แลนด์และยูเครน ขณะที่ แองโกลา , จีน , เวเนซุเอลา เป็น 3 ชาติที่งดออกเสียง
การประชุมเริ่มต้นด้วยการสงบนิ่งไว้อาลัยเพื่อเป็นเกียรติให้กับผู้เสียชีวิต 298 ราย จากเหตุการณ์เครื่องบินตกในวันที่ 17 กรกฎาคม 2014
มตินี้ได้รับการสนับสนุนโดยอังกฤษ ฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ซึ่งกล่าวหากลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนฝักใฝ่รัสเซียว่าเป็นผู้ยิงเครื่องบินโบอิ้ง 777 ด้วยจรวดภาคพื้นดินสู่อากาศ "บุ้ค" ที่ได้มาจากแดนหมีขาว
รัสเซียได้ปฏิเสธความเกี่ยวข้องพร้อมทั้งกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือกองทัพยูเครน ซึ่งเมื่อวันพุธ "วิตาลี ชูร์คิน" เอกอัครราชทูตและเป็นผู้แทนถาวรของรัสเซียประจำสหประชาชาติ ได้พยายามปกป้องการกระทำของรัสเซีย
ชูร์คินบอกว่า เจ้าหน้าที่สืบสวนของรัสเซียถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงบริเวณพื้นที่จุดตกอย่างเท่าเทียมกับชาติอื่น โดยวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการดำเนินการแบบปกปิดข้อมูล
"อะไรที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่มีการลำเอียงในการสืบสวนแบบนี้" ชูร์คิน กล่าวต่อคณะมนตรีฯ พร้อมทั้งตำหนิการโฆษณาชวนเชื่อที่แสนอุกอาจผ่านสื่อต่างๆ
ชาติมหาอำนาจตะวันตกในคณะมนตรีฯ รวมถึงออสเตรเลียและเนเธอร์แลนด์ที่มีพลเรือนอยู่บนเครื่องบินลำนั้นมากที่สุด พากันตำหนิรัสเซียสำหรับการยื่นวีโต้คัดค้านมติคณะมนตรีฯ ในครั้งนี้
พวกเขายืนกรานว่า การยื่นวีโต้ของรัสเซียนั้นไม่อาจจะหยุดยั้งความพยายามที่จะจัดตั้งกระบวนการยุติธรรมในระดับสากลเพื่อลงโทษคนผิด
"มันช่างน่าอนาถใจที่รัสเซียใช้สิทธิพิเศษที่ได้รับ มาทำลายสันติภาพและความมั่นคงของนานาชาติ" ซาแมนธา เพาเวอร์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ กล่าว
เพาเวอร์ระบุ สหรัฐอเมริกาเชื่อมั่นอย่างหนักแน่นว่าผู้ก่ออาชญากรรมนี้จะมิอาจปิดบังตัวตนและรอดพ้นการลงโทษไปได้
"ไม่มีวันรอดไปได้และจะไม่มีการละเว้นโทษด้วย" เพาเวอร์ กล่าว
จูลี บิชอป รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย ชาติที่มีพลเรือน 39 ราย เสียชีวิตจากเที่ยวบิน MH17 ได้เข้าร่วมประชุมคณะมนตรีฯ และตำหนิรัสเซียอย่างรุนแรง
"ในโลกที่กลุ่มก่อการร้ายและพวกองค์กรที่ไม่ใช่รัฐ เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกที นึกไม่ถึงเลยว่าคณะมนตรีความมั่นคงจะต้องหันหลังให้กับการจัดการพวกที่ยิงเครื่องบินพาณิชย์ การวีโต้ครั้งนี้มีส่วนทำให้เกิดเรื่องที่เลวร้าย บรรดาข้อแก้ตัวและการปกปิดสร้างความสับสนของสหพันธรัฐรัสเซีย ควรจะได้รับการปฏิบัติอย่างดูแคลนถึงที่สุด" บิชอป กล่าว
บิชอปได้รับปากกับครอบครัวและเพื่อนของบรรดาผู้เสียชีวิตว่า ออสเตรเลียจะเดินหน้าทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าผู้กระทำความผิดอันแสนป่าเถื่อนนี้จะถูกจัดการ
บิชอปบอกด้วยว่า ออสเตรเลียและชาติสมาชิกอื่นๆ ที่ร่วมทำการสืบสวน จะตัดสินใจใช้กลไกการดำเนินคดีที่เป็นทางเลือกอื่น เพื่อให้แน่ใจว่าความจริงจะถูกเปิดเผยและพวกที่ลงมือก่อเหตุนั้นจะถูกนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ด้านนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย "โทนี แอบบอตต์" ก็ได้กล่าวไปในทิศทางเดียวกับรัฐมนตรีของเขา โดยเรียกการวีโต้ของรัสเซียว่าเป็นการกระทำที่อุกอาจมาก
"จากการกระทำ รัสเซียได้แสดงให้เห็นเต็มที่เลยว่าไม่สนใจถึงสิทธิ์ของบรรดาครอบครัวผู้ตาย ที่จะได้รับรู้ว่าใครเป็นคนลงมือก่อเหตุ รวมถึงการได้เห็นคนร้ายเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม" แอบบอตต์ ระบุในคำแถลง
เบิร์ท โคเอนเดอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้แสดงออกถึงความผิดหวังอย่างสุดซึ้ง พร้อมทั้งบอกว่า เขานึกถึงบรรดาครอบครัวของผู้เสียชีวิตที่ตั้งความหวังไว้กับการจัดตั้งศาลไต่สวนพิเศษนี้
ทั้งนี้ ผู้โดยสารบนเที่ยวบิน MH17 เส้นทางอัมสเตอร์ดัม-กัวลาลัมเปอร์ ส่วนใหญ่เป็นชาวดัตช์
MH17 ถูกยิงตกจากท้องฟ้าเหนือพื้นที่การควบคุมของกลุ่มกบฏในภาคตะวันออกของยูเครน ช่วงที่มีการสู้รบกันอย่างหนักระหว่างกองกำลังฝ่ายรัฐบาลยูเครนกับกบฏแบ่งแยกดินแดนฝักใฝ่รัสเซีย
พาฟโล คลิมคิน รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ได้กล่าวหารัสเซียแบบตรงๆ เลยว่า "ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะคัดค้านมตินี้ เว้นเสียแต่ว่าคุณจะเป็นผู้กระทำผิดเสียเอง"
"ศาลไต่สวนพิเศษนี้มันเกี่ยวกับการค้นหาความจริง ถ้าคุณกลัวความจริง คุณก็อยู่ผิดข้างแน่นอน" คลิมคิน กล่าว
ก่อนที่จะมีการโหวตเสียงกัน รัฐมนตรีคมนาคมของมาเลเซียได้วิงวอนต่อคณะมนตรีฯ ให้ผ่านมติ พร้อมทั้งบอกว่า ศาลไต่สวนพิเศษนี้เป็นที่พึ่งที่ดีที่สุดในการมอบความยุติธรรมให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต
"ผู้ที่ต้องเดินทางทางอากาศทั้งหมดคงจะมีความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น หากผู้กระทำผิดในเหตุการณ์นี้ไม่ถูกจัดการ" เหลียว เตียง ไหล กล่าว