xs
xsm
sm
md
lg

อังกฤษประกาศเร่งจัดลงประชามติเร็วขึ้น ชี้ชะตาอยู่หรือ ไปใน “อียู” ภายใน 12 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนแห่งสหราชอาณาจักร
รอยเตอร์ / เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ - สื่อดังเมืองผู้ดี “ดิ อินดิเพนเดนต์” รายงานในวันเสาร์ (25 ก.ค.) โดยระบุว่าสหราชอาณาจักรจะเร่งจัดการลงประชามติ เกี่ยวกับสถานะการเป็น “สมาชิกภาพ” ของสหภาพยุโรป (อียู) ภายในระยะเวลา 12 เดือน หรือ 1 ปีจากนี้

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอน กำลังทวีความเชื่อมั่นการเร่งจัดลงประชามติในประเด็นดังกล่าวให้เร็วขึ้นน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในการคว้าชัยชนะ ที่ว่ากันว่าจะช่วยเปิดทางให้เกาะอังกฤษได้ก้าวออกจากแผ่นดินใหญ่ของยุโรปที่กำลังถูกรุมเร้าจากทั้งปัญหาเศรษฐกิจ การว่างงาน ปัญหาการเมือง ตลอดจนการไหลบ่าเข้ามาของเหล่าผู้อพยพทั้งจากภูมิภาคตะวันออกกลางและจากทวีปแอฟริกา

รายงานจากหนังสือพิมพ์ดิ อินดิเพนเดนต์ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษนิยมอย่างเดวิด คาเมรอน จะประกาศแผนเร่งจัดการลงประชามติดังกล่าวในระหว่างการประชุมใหญ่ของพรรคฯ ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ และหากแผนการนี้ได้รับการรับรองจากมติของที่ประชุมพรรคฯ ก็คาดว่าจะสามารถเร่งเดินหน้ากระบวนการจัดลงประชามติ ได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปี 2016 เป็นต้นไป

ก่อนหน้านี้ เดวิด คาเมรอน เคยประกาศว่าจะการจัดลงประชามติในประเด็นเดียวกันนี้ภายในปี 2017 หลังไม่พอใจกับความไร้ประสิทธิภาพในการบริหารงาน และนโยบายหลายด้านของอียู โดยเฉพาะนโยบายจัดการปัญหาด้านผู้อพยพ และความล้มเหลวในการรับมือกับวิกฤตหนี้สินของกลุ่มยูโรโซน หรือกลุ่ม 19 ประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโรร่วมกัน

เมื่อไม่นานมานี้ มีการเผยแพร่ผลการศึกษาล่าสุดโดยสถาบัน “แบร์เทิลสมันน์ ชติฟทุง” และสถาบันวิจัย “อิโฟ” ในเยอรมนี ซึ่งชี้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหราชอาณาจักรจะหายไปถึง 14 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นเม็ดเงินสูงถึงกว่า 215,000 ล้านปอนด์ (ราว 10.89 ล้านล้านบาท) หากลาออกจากการเป็น 1 ใน 28 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู)

ดร.ไธส์ เพเทอร์เซน ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสของสถาบันแบร์เทิลสมันน์ ชติฟทุง เผยต่อสถานีโทรทัศน์เพรสส์ ทีวีของอิหร่าน เมื่อช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยระบุว่า การตัดสินใจหันหลัง หรือก้าวออกจากการเป็นสมาชิกอียูของรัฐบาลอังกฤษจะส่งผลกระทบต่อสมาชิกอื่นๆ ของอียูด้วย โดยเฉพาะทางด้านการเงินการคลัง

อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่สมาชิกอื่นของอียูจะได้รับ หากอังกฤษลาออกไปนั้นจะไม่รุนแรงเท่ากับผลกระทบอันเลวร้าย ที่เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรจะได้รับ เนื่องจากการพ้นสถานะสมาชิกอียูจะมีผลให้เมืองผู้ดีต้องสูญเสียสิทธิพิเศษด้านการค้าทั้งปวงที่ได้รับจากอียู ตลอดจนข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ ที่ทำไว้

ด้าน อาร์ท เดอ กอยส์ ประธานและซีอีโอ ของสถาบันแบร์เทิลสมันน์ ชติฟทุง ออกมาระบุว่าหากปรากฏการณ์ “Brexit” ซึ่งหมายถึงการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ เกิดขึ้นจริง จะถือเป็นเรื่องที่น่าเศร้า และจะเกิดความสูญเสียต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ผลการศึกษาล่าสุดในเยอรมนีถูกเผยแพร่ออกมาหลังจากที่รัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนประกาศจะทบทวนบทบาทของอังกฤษ และอาจลาออกจากการเป็นสมาชิกหากอียูยังไม่ดำเนินการปฏิรูปในเชิงโครงสร้างแบบขนานใหญ่







กำลังโหลดความคิดเห็น