xs
xsm
sm
md
lg

“กรีซ” เปิดธนาคารอีกครั้ง-ใช้ภาษีใหม่วันจันทร์ โพลชี้คนเยอรมันยังค้านอุ้มเอเธนส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<b><i>พนักงานทำความสะอาดใช้น้ำฉีดล้างทางเท้าบริเวณหน้าสาขาของธนาคารแห่งหนึ่งในกรุงเอเธนส์ เมื่อวันอาทิตย์ (19 ก.ค.) ภายหลังถูกสั่งปิดทำการมาเป็นเวลา 3 สัปดาห์  ธนาคารของกรีซจะเริ่มเปิดทำการใหม่ในวันจันทร์ (20 ก.ค.) ถึงแม้มาตรการจำนวนมากในเรื่องการควบคุมเงินทุน จะยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ </b></i>
เอเจนซีส์ – กรีซตระเตรียมความพร้อมเมื่อวันอาทิตย์ (19 ก.ค.) เพื่อติดเครื่องระบบเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ของตนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยจะเปิดทำการธนาคาร รวมทั้งใช้อัตราภาษีใหม่กับสินค้าและบริการจำนวนมากในวันจันทร์ (20) ขณะที่นายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส ก็จัดการปรับ ครม. ด้วยการปลดผู้ที่โหวตต้านมาตรการรัดเข็มขัดออกไป อย่างไรก็ตาม อดีตขุนคลัง ยานส วารูฟากิส วิจารณ์ว่าเงื่อนไขใหม่ๆ อันเข้มงวดจากฝ่ายเจ้าหนี้ จะกลายเป็นความหายนะของการบริหารเศรษฐกิจมหภาคครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่วนโพลล่าสุดในเยอรมนี ประเทศเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดของกรีซ ชี้ว่าผู้ตอบคำถามกว่าครึ่งไม่เห็นชอบการช่วยเหลือเอเธนส์รอบใหม่ และเกือบ 50% คิดว่าควรปล่อยกรีซออกไปจากยูโรโซน

ธนาคารต่างๆ ในกรีซเตรียมที่จะเปิดทำการอีกครั้งในวันจันทร์ (20) หลังจากปิดมาเป็นเวลา 3 สัปดาห์ ซึ่งประมาณการกันว่าได้สร้างความเสียหายให้แก่เศรษฐกิจของกรีซประมาณ 3,000 ล้านยูโร ในรูปของการสะดุดติดขัดของตลาดและของการส่งออก

ชาวกรีกที่ทุกข์ยากเพราะวิกฤตมาเป็นแรมปี ยังจะต้องแบกรับราคาสินค้าและบริการจำนวนมากที่ขยับขึ้นไป ตั้งแต่น้ำตาล, โกโก้, ไปจนถึงถุงยางอนามัย, ค่าโดยสารรถแท๊กซี่, และค่าจัดงานศพ เนื่องจากถูกปรับเพิ่มภาษีเป็น 23% จากเดิมเคยเสียอยู่ที่ 13% ถึงแม้มีความพยายามที่จะปลอบใจ ด้วยการลดภาษีซึ่งเก็บจากยา, หนังสือ, และหนังสือพิมพ์ ลงมาเหลือ 6.0% จากเดิม 6.5%

ในตอนนี้ชาวกรีกสามารถจะถอนเงินจากธนาคารได้ครั้งละ 420 ยูโรต่อสัปดาห์ จากช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมาถอนได้วันละ 60 ยูโร ถึงแม้จำนวนรวมไม่ได้แตกต่างจากเดิม แต่คาดว่าจะทำให้แถวรอคอยบริเวณหน้าเครื่องเอทีเอ็มหดลงไป

กระนั้น มาตรการควบคุมเงินทุนจำนวนมากก็ยังคงบังคับใช้อยู่ รวมทั้งการห้ามไม่ให้โอนเงินไปยังธนาคารต่างประเทศ และการห้ามเปิดบัญชีใหม่
<b><i>นายกรัฐมนตรี อเล็กซิส ซีปราส ของกรีซ (ด้านหลัง ที่3จากขวา) และประธานาธิบดีโปรโคปิส ปัฟโลปูโลส (ด้านหลัง ที่4จากขวา) สนทนากันในระหว่างพิธีสาบานตนทางศาสนา ของผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีใหม่  ณ ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงเอเธนส์เมื่อวันเสาร์ (18 ก.ค.) </b></i>
เมื่อวันเสาร์ (18) นายกรัฐมนตรีซีปราส ประกาศปลดปานาจิโอติส ลาฟาซานิส ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงาน รวมถึงรัฐมนตรีช่วยอีก 2 คน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ส.ส.พรรคไซรีซา 39 คนที่แตกแถวและลงคะแนนคัดค้านร่างกฎหมายปฏิรูปที่จำเป็นต่อการขอรับความช่วยเหลือก้อนใหม่จากเจ้าหนี้เมื่อปลายสัปดาห์ที่แล้ว

ปานอส สกูร์เลติส พันธมิตรใกล้ชิดของซีปราส ที่ย้ายจากกระทรวงแรงงานไปคุมกระทรวงพลังงานแทน กล่าวว่า การปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้เป็นการปรับตัวเพื่อรับสภาพความเป็นจริง แม้ผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า เป็นการสร้างรอยร้าวลึกในบรรดากลุ่มต่างๆ ในพรรคฝ่ายซ้ายไซรีซาของซีปราสก็ตาม

การปรับคณะรัฐมนตรีช่วยให้ซีปราสสามารถนำพันธมิตรในพรรคของตนเอง รวมทั้งจากพรรคร่วมรัฐบาลปีกขวา “อินดิเพนเดนท์ กรีกส์” มาแทนที่รัฐมนตรีขบถ เพื่อแผ้วทางสู่การผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปฉบับต่อไปในวันพุธนี้ (22)

ภารกิจต่อไปของซีปราสคือผลักดันข้อตกลงความช่วยเหลือครั้งใหม่กับพันธมิตรยุโรปในช่วง 2-3 สัปดาห์ต่อจากนี้ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในเดือนกันยายนหรือตุลาคม ตามที่รัฐมนตรีมหาดไทย นิคอส วูตซิส เกริ่นไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ทั้งนี้ ผลสำรวจที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันเสาร์ในหนังสือพิมพ์ฝ่ายซ้ายฉบับหนึ่งบ่งชี้ว่า พรรคไซรีซาจะได้คะแนน 42.5% หากจัดการเลือกตั้งในขณะนี้ หรือเกือบสองเท่าตัวของพรรคนิว เดโมเครซีที่คาดว่าจะได้คะแนน 21.5% และผู้ตอบแบบสอบถาม 70% ยังบอกว่า จะยอมรับข้อตกลงความช่วยเหลือ หากทำให้กรีซยังคงอยู่ในยูโรโซนต่อ
<b><i>นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล กับ รัฐมนตรีคลัง โวล์ฟกัง ชอยเบิล ของเยอรมนี ขณะเข้าร่วมการประชุมรัฐสภาเยอรมนี ในกรุงเบอร์ลิน เมื่อวันศุกร์ (17ก.ค.) ซึ่งที่ประชุมตกลงยอมรับแผนการของรัฐบาลในการเปิดเจรจาให้เงินกู้ก้อนใหม่แก่กรีซแลกกับมาตรการรัดเข็มขัดและปฏิรูปอันเข้มงวด  ทั้งนี้ผลโพลล่าสุดระบุว่าประชาชนเยอรมันกว่าครึ่งกลับไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ </b></i>
ขณะเดียวกัน ที่เยอรมนี ยูกอฟได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเมืองเบียร์ ซึ่งพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 56% คิดว่า แผนการช่วยเหลือกรีซเป็นสิ่งเลวร้าย โดยที่ 1 ใน 10 ของคนกลุ่มนี้ลงความเห็นว่า “เลวร้ายมาก” มีเพียง 2% ที่เห็นว่าดี และอีก 27% บอกว่า ค่อนข้างดี

ผลสำรวจความคิดเห็นชาวเยอรมัน โดยใช้ตัวอย่างจำนวน 1,380 คนคราวนี้ ยังพบว่า คนส่วนใหญ่ไม่ยินดียินร้ายกับการที่รัฐสภาของประเทศโหวตอนุมัติการเปิดเจรจาเพื่อช่วยเหลือเอเธนส์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17) และ 48% อยากเห็นกรีซออกจากยูโรโซน มีเพียง 1 ใน 3 ที่อยากให้กรีซคงอยู่ในระบบเงินตราสกุลเดียวของยุโรปต่อไป

อย่างไรก็ดี ผลสำรวจจากฟอร์ซาที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันศุกร์ระบุว่า ชาวเยอรมนี 53% ต้องการให้สภาสนับสนุนการเจรจาอุ้มกรีซ และ 42% ไม่เห็นด้วย
<b><i>อดีตรัฐมนตรีคลัง ยานิส วารูฟากิส ของกรีซ (ขวา) สนทนากับ ยูคลิด ซากาโลโตส รัฐมนตรีคลังคนปัจจุบัน ระหว่างการประชุมของรัฐสภาในกรุงเอเธนส์เมื่อวันที่ 9 ก.ค.  ในการให้สัมภาษณ์บีบีซีซึ่งนำออกมาเผยแพร่วันเสาร์ (18) วารูฟากิส วิจารณ์ว่าเงื่อนไขใหม่ๆ อันเข้มงวดจากฝ่ายเจ้าหนี้ จะกลายเป็นความหายนะของการบริหารเศรษฐกิจมหภาคครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ </b></i>
นอกจากนั้น เมื่อวันเสาร์ สถานีวิทยุโทรทัศน์บีบีซี ของอังกฤษ ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ยานิส วารูฟากิส อดีตรัฐมนตรีคลังกรีซซึ่งเพิ่งพ้นตำแหน่งไปตอนต้นเดือนกรกฎาคม โดยเขาระบุว่า มาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจกรีซที่เจ้าหนี้กำหนดล่าสุด จะล้มเหลวและกลายเป็นการสร้างความหายนะในการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์

ทั้งนี้ โปรแกรมความช่วยเหลือล่าสุดที่อยู่ระหว่างการผลักดัน กำหนดเอาไว้ว่าเจ้าหนี้จะให้เงินกู้ก้อนใหม่แก่กรีซ 86,000 ล้านดอลลาร์ในระยะเวลา 3 ปี แลกกับมาตรการรัดเข็มขัด การขึ้นภาษี รวมถึงการกันเอาสินทรัพย์ 50,000 ล้านดอลลาร์เข้ากองทุนพิเศษ เพื่อเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ก้อนใหม่

การลาออกจากตำแหน่งของวารูฟากิส ถูกมองว่าเป็นการส่งสัญญาณของกรีซ ในการขอประนีประนอมกับพวกรัฐมนตรีคลังของชาติอื่นๆ ในยูโรโซน เนื่องจากตลอดระยะเวลา 5 เดือนในการเจรจาเพื่อปลดล็อกเงินกู้ วารูฟากิสสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้แก่ที่ประชุมบ่อยครั้ง

วารูฟากิสสำทับว่า ซีปราสจำต้องยอมรับมาตรการปฏิรูปของเจ้าหนี้ทั้งที่ไม่เชื่อมั่น แต่ไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น