xs
xsm
sm
md
lg

“อาเบะ” ดันสุดแรง เมินกระแสต้านกฎหมายให้ส่งทหารไปต่างแดน ฉลุยด่านแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ยาสุกาซุ ฮามาดะ (ที่2จากขวา) ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญด้านความมั่นคงของสภาล่าง ส่งเสียงตะโกนขณะที่เขาถูกพวกสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านถือป้ายรุมล้อม ระหว่างที่คณะกรรมาธิการลงคะแนนรับรองร่างกฎหมายเปิดทางให้ญี่ปุ่นส่งทหารออกไปต่างแดน เมื่อวันพุธ (15)
เอเจนซีส์ - นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นทุ่มสุดตัว ดันร่างกฎหมายแก้ไขนโยบายการทหารที่ปูทางให้กองทัพแดนซามูไรออกรบนอกประเทศครั้งแรกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการสภาล่างสำเร็จในวันพุธ (15 ก.ค.) ท่ามกลางการคัดค้านอย่างหนักจากทั้งในสภาและบนท้องถนน

อาเบะประกาศว่า ฐานะทางด้านความมั่นคงที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นของญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากอเมริกานั้น มีความสำคัญในการเผชิญความท้าทายใหม่ๆ เช่น ความท้าทายจากจีน พร้อมระบุว่า ประชาชนยังไม่เข้าใจสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ และตนจะพยายามมากขึ้นเพื่อแก้ไขความไม่เข้าใจเหล่านี้

ทว่าฝ่ายต่อต้านมองว่า การแก้ไขกฎหมายนี้เป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญฉบับใฝ่สันติซึ่งใช้มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ของญี่ปุ่น และอาจส่งผลให้โตเกียวถูกวอชิงตันดึงเข้าไปเกี่ยวพันกับความขัดแย้งทั่วโลก

ในที่สุดแล้วคณะกรรมาธิการในสภาล่าง ซึ่งฝ่ายรัฐบาลครองเสียงข้างมากอยู่ ก็ลงมติอนุมัติร่างกฎหมายดังกล่าวหลังจากการอภิปรายอย่างดุเดือด อีกทั้งทางสมาชิกฝ่ายค้านพยายามขัดขวางไม่ให้มีการโหวตด้วยการบุกเข้าไปในห้องประชุมคณะกรรมาธิการ พร้อมกับตะโกนและชูป้ายเขียนข้อความต่อต้าน ขณะเดียวกันมีประชาชนนับร้อยประท้วงอยู่หน้าอาคารรัฐสภา หลังจากเมื่อวันอังคาร (14) ที่ผ่านมา มีผู้ประท้วงราว 2 หมื่นคนชุมนุมคัดค้าน

ต่อมาในเย็นวันพุธ มีผู้ประท้วงจำนวนมากโดยที่ผู้จัดระบุตัวเลขว่าราว 60,000 คน ไปชุมนุมกันที่ใกล้ๆ ทำเนียบของอาเบะ ถือแผ่นป้ายและตะโกนคัดค้าน “ร่างกฎหมายเพื่อทำสงคราม” ตลอดจนเรียกร้องให้อาเบะลาออก สำนักข่าวเกียวโดระบุว่า ยังมีการจัดประท้วงในส่วนอื่นๆ ของประเทศด้วย

กระนั้น คาดหมายกันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้จะได้รับอนุมัติอย่างง่ายดายจากที่ประชุมสภาล่างทั้งสภาในสัปดาห์นี้ ก่อนส่งต่อให้สภาสูงพิจารณา

อย่างไรก็ตาม เวลานี้อาเบะกำลังเผชิญความท้าทายทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดนับจากเข้ารับตำแหน่งในเดือนธันวาคม 2012 ซึ่งเขาประกาศฟื้นเศรษฐกิจและส่งเสริมบทบาททางทหารของญี่ปุ่น

คะแนนนิยมของผู้นำฝ่ายบรหารของญี่ปุ่นผู้นี้ ทรุดลงจากความกังวลของผู้มีสิทธิออกเสียง เกี่ยวกับแผนการแก้ไขนโยบายการทหารเพื่อเปิดทางให้กองทัพออกไปปกป้องพันธมิตรที่ถูกโจมตี

ทั้งนี้ ผลสำรวจที่จัดทำโดยหนังสือพิมพ์อาซาฮีที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันจันทร์ (12) พบว่า จำนวนประชาชนที่ไม่ปลื้มอาเบะเพิ่มขึ้นเป็น 42% เทียบกับ 39% ที่ยังคงให้การสนับสนุน และ 56% คัดค้านการแก้ไขกฎหมายคราวนี้

มิโนรุ โมริตะ นักวิเคราะห์การเมืองอิสระชี้ว่า พวกผู้คร่ำหวอดทางการเมืองเริ่มทำนายว่า อาเบะอาจบรรลุเป้าหมายของตน แต่สุดท้ายต้องลาออกจากตำแหน่งเช่นเดียวกับ โนบุสุเกะ คิชิ คุณตาของเขา

คิชิดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นระหว่างปี 1957-1960 และยื่นใบลาออกเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 1960 เพื่อรับผิดชอบความไม่พอใจของประชาชนต่อการที่รัฐบาลผลักดันให้รัฐสภาอนุมัติสนธิสัญญาความมั่นคงญี่ปุ่น-สหรัฐฯฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์คนอื่นๆ เชื่อว่า แม้เสียงสนับสนุนอาจอ่อนลง แต่อาเบะจะยังรักษาเก้าอี้ได้ต่อไป เนื่องจากศัตรูทั้งภายในและภายนอกพรรคยังไร้พลกำลัง

กระนั้น อาเบะยังต้องฝ่าฟันปัญหาอื่นๆ อีก โดยเฉพาะแนวโน้มที่บริษัทคิวชู อิเล็กทริก พาวเวอร์ จะเดินเครื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ใหม่หลังจากปิดไปตั้งแต่เกิดวิกฤตฟูกูชิมะปี 2011 แม้ว่าประชาชนจำนวนมากยังไม่วางใจในความปลอดภัยก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีกระแสไม่พอใจลุกลามขึ้นจากงบประมาณที่บานปลายในการสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2020 และการเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับผู้ว่าการโอกินาวะเรื่องฐานทัพอากาศอเมริกันที่มีแนวโน้มคุกรุ่นถึงขีดสุดในเดือนหน้า

ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น อาเบะจะต้องออกมากล่าวปราศรัยเนื่องในวาระครบรอบ 70 ปีการสิ้นสุดสงครามโลก ซึ่งเป็นที่จับตาของคนทั่วโลก ว่าเขาจะแสดงความเสียใจและขอโทษผู้คนเป็นล้านๆ ในเอเชียที่เป็นเหยื่อความโหดร้ายทารุณของทหารญี่ปุ่นหรือไม่

นักวิเคราะห์จำนวนมากคาดกันว่า อาเบะจะยังคงได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคลิเบอรัล เดโมเครติก ปาร์ตี้ต่ออีก 3 ปี ในเดือนกันยายนนี้

อาสึโอะ อิโตะ นักวิจารณ์การเมืองทิ้งท้ายว่า แม้ผู้คนรู้สึกประดักประเดิดกับรัฐบาลชุดนี้ แต่สิ่งที่ค้ำจุนอาเบะให้อยู่รอดปลอดภัยคือภาวะเศรษฐกิจที่กระเตื้องดีขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น