xs
xsm
sm
md
lg

หนูเป็นสาวแล้ว! “มาลาลา” ฉลองวันเกิดอายุ 18 ปี-โอดทั่วโลกยังเพิกเฉยต่อชะตากรรม “เด็กซีเรีย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

มาลาลา ยูซาฟไซ เข้าพบนายกรัฐมนตรี ทัมมาน ซาลาม แห่งเลบานอน ที่บ้านพักในกรุงเบรุต วานนี้ (12 ก.ค.)
เอเอฟพี - “มาลาลา ยูซาฟไซ” เด็กสาวชาวปากีสถานที่ถูกกลุ่มตอลิบานยิงศีรษะ และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2014 ฉลองวันเกิดปีที่ 18 ของเธอที่ชายแดนซีเรียเมื่อวานนี้ (12 ก.ค.) พร้อมฝากย้ำเตือนไปยังผู้นำนานาชาติว่าเยาวชนชาวซีเรียกำลังรอความช่วยเหลือจากพวกเขาอยู่

หลังรอดชีวิตจากการถูกพวกตอลิบานทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัสเพราะไม่พอใจที่เธอออกมาเรียกร้องสิทธิในการศึกษาของเด็กผู้หญิง วันนี้ มาลาลาโตเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว และได้เดินทางไปเปิดโรงเรียนสำหรับเด็กหญิงชาวซีเรียกว่า 200 คน ที่ค่ายผู้ลี้ภัยในหุบเขาเบกา ประเทศเลบานอน

โรงเรียนสตรี มาลาลา ยูซาฟไซ จะเปิดสอนหนังสือและทักษะอาชีพต่างๆ ให้แก่เด็กผู้หญิงอายุระหว่าง 14-18 ปี

“ฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ฉลองวันเกิดอายุ 18 ปี พร้อมกับเพื่อนเยาวชนสตรีชาวซีเรียที่กล้าหาญ” มาลาลา แถลง

“ฉันมาที่นี่เพื่อเป็นตัวแทนเยาวชนอีก 28 ล้านคนซึ่งตกเป็นเหยื่อความขัดแย้ง จนไม่มีโอกาสที่จะเข้าห้องเรียนเหมือนคนอื่นๆ... ความกล้าหาญและอุทิศตนของพวกเขาที่จะศึกษาหาความรู้แม้สภาพแวดล้อมจะไม่เอื้ออำนวย เป็นแรงบันดาลใจให้แก่คนทั่วโลก และเรามีหน้าที่ต้องยืนหยัดเคียงข้างพวกเขา”

“วันนี้ฉันขอฝากไปถึงผู้นำทุกคนในประเทศนี้ ภูมิภาคนี้ และทั่วโลกว่า พวกท่านกำลังทำให้ชาวซีเรียผิดหวัง โดยเฉพาะเยาวชนซีเรีย นี่คือโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้า เป็นวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งเลวร้ายที่สุดของโลกในรอบหลายสิบปี”

หลังจากนั้น มาลาลา ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี ทัมมาน ซาลาม แห่งเลบานอนที่บ้านพักของเขาในกรุงเบรุต พร้อมกับบิดาของเธอ และ นูรา จุมบลัตต์ ประธานมูลนิธิคายานี ซึ่งเป็นผู้ออกหนังสือเชิญ มาลาลา มาทำกิจกรรมครั้งนี้

“เด็กๆ ชาวซีเรียได้รับความทุกข์ทรมานที่ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยมานานกว่า 4 ปี และไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ” มาลาลาให้สัมภาษณ์ต่อสำนักข่าวบีบีซี

“แต่ที่เลวร้ายที่สุดก็คือ นานาชาติและผู้นำทั่วโลกยังไม่ใส่ใจชะตากรรมของพวกเขา นี่คือเหตุผลที่ฉันต้องมาฉลองวันเกิดที่นี่ และขอฝากไปยังผู้นำทั่วโลกว่า พวกท่านต้องหันมาสนใจเรื่องนี้ และต้องลงทุนกับปัญหานี้ ไม่เช่นนั้นเราอาจสูญเสียประชากรรุ่นหนึ่งไป”

เลบานอนให้ที่พักพิงแก่ชาวซีเรียที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ลี้ภัยอย่างถูกต้องเกือบ 1.2 ล้านคน แต่ในความเป็นจริงตัวเลขอาจสูงยิ่งกว่านั้น และคลื่นผู้อพยพก็กำลังเป็นภาระหนักสำหรับประเทศเล็กๆ ที่มีพลเมืองของตนเองเพียง 4 ล้านคน เนื่องจากรัฐบาลเลบานอนไม่อนุญาตให้มีการสร้างค่ายผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการเพิ่มเติมอีก ผู้อพยพที่เข้ามาใหม่ต้องกางเต็นท์อยู่กันตามมีตามเกิด

มาลาลา ถูกส่งตัวไปรักษาที่อังกฤษหลังถูกตอลิบานดักยิงบนรถโรงเรียนเมื่อเดือนตุลาคม ปี 2012 เธอและครอบครัวได้รับอนุญาตให้พำนักอยู่ในเมืองผู้ดีอย่างถาวร




กำลังโหลดความคิดเห็น