xs
xsm
sm
md
lg

ระทึก! เกิดไฟป่าปะทุใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ “เชอร์โนบิล” ทางการยูเครนเอาไม่อยู่ ล่าสุดใกล้ลุกลามเข้าเบลารุส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เอเจนซีส์ / ASTV ผู้จัดการออนไลน์ – ทางการยูเครนสั่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย ตลอดจนเฮลิคอปเตอร์แบบ “Mi-26” และ “Mi-8” เข้าปฏิบัติควบคุมไฟป่าซึ่งปะทุขึ้นใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มหาประลัย “เชอร์โนบิล” ที่ถูกปิดตาย แต่ล่าสุดมีรายงานไฟป่ายิ่งลุกลามหนักขึ้นเข้าประชิดแนวชายแดนที่ติดต่อกับเบลารุส

รายงานข่าวในวันพุธ ( 8 ก.ค.) ซึ่งอ้างคำแถลงของกระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉินของยูเครนระบุว่า ไฟป่าที่ปะทุขึ้นในพื้นที่ป่าไม่ไกลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลได้ขยายการลุกลามออกไปจนเผาผลาญพื้นที่ป่าไปแล้ว มากกว่า 180 เฮกตาร์ (1 เฮกตาร์ = 10,000 ตารางเมตร) ตลอดระยะเวลา 2 วันที่ผ่านมา

ล่าสุดมีรายงานว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นใกล้กับพื้นที่วิกฤตนิวเคลียร์ของยูเครนในครั้งนี้ กำลังลุกลามเข้าใกล้พื้นที่บริเวณรอยต่อแนวชายแดนระหว่างยูเครนกับชาติเพื่อนบ้านอย่างเบลารุสแล้ว โดยเฉพาะที่จุดผ่านแดนใกล้เมืองกลุชโควิชี ซึ่งมีรายงานการพบไฟป่าลุกลามอยู่ห่างจากเส้นแบ่งเขตแดนระหว่างทั้งสองประเทศเพียงแค่ “50 เมตร” เท่านั้น

ประธานาธิบดีเปโตร โปโรเชนโก ผู้นำยูเครนได้สั่งการให้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าควบคุมสถานการณ์ และขอให้ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์เข้าตรวจสอบพื้นที่โดยรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล เพื่อป้องกันผลกระทบใดๆ จากไฟป่าที่อาจส่งผลต่อโรงไฟฟ้าที่เคยเกิดการระเบิดและมีการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีครั้งใหญ่จนต้องถูกปิดตายแห่งนี้

อย่างไรก็ดี ความพยายามในการควบคุมไฟป่าของทางการยูเครนในคราวนี้ ต้องเผชิญกับอุปสรรคสำคัญ คือ กระแสลมที่พัดแรง และสภาพอากาศที่ร้อนและแห้งในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล

ในอีกด้านหนึ่งมีรายงานว่าทางการเบลารุสได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของตนเร่งสร้าง “แนวกันไฟ” และเตรียมความพร้อมรับมือในระดับสูงสุดต่อไฟป่าจากยูเครนที่กำลังลุกลามเข้ามาใกล้ แต่กำชับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานห้ามเข้าใกล้เขตรอยต่อชายแดน หวั่นเกิดการกระทบกระทั่งและสร้างความเข้าใจผิดให้กับทางการยูเครน

ทั้งนี้ อุบัติเหตุการระเบิดที่เกิดขึ้นภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลซึ่งตั้งอยู่ห่างจากชายแดนยูเครน – เบลารุสเพียง 16 กิโลเมตรเมื่อวันที่ 26 เมษายน ปี ค.ศ. 1986 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไป 31 ราย และการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้นตามมา ส่งผลให้มีผู้คนล้มป่วยและเสียชีวิตตามมาในภายหลังอีกเป็นจำนวนมาก

ขณะที่พื้นที่โดยรอบของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ จะต้องถูกปล่อย “ทิ้งร้าง” ต่อไปจนถึงปี 2065 เป็นอย่างน้อยกว่าที่สารนิวเคลียร์ที่ตกค้างอยู่ทั้งหมดจะสลายตัว และกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการเข้าไปตั้งรกรากของมนุษย์อีกครั้ง





กำลังโหลดความคิดเห็น