เหตุการณ์หนุ่มวัยรุ่นผิวขาวบุกเข้าไปยิงคนตาย 9 ศพภายในโบสถ์เก่าแก่ของชาวแอฟริกัน-อเมริกันในเมืองชาร์ลสตัน มลรัฐเซาท์แคโรไลนา เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ทำให้ชาวอเมริกันหลายคนอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เหตุใด “ลัทธิเหยียดผิว” จึงยังไม่ตายไปจากสังคมประชาธิปไตยอย่างสหรัฐฯ และล่าสุดก็ได้นำมาสู่กระแสต่อต้านธงสมาพันธรัฐ หรือ Confederate flag ซึ่งมีประวัติผูกพันไปถึงการต่อสู้ยุคสงครามกลางเมืองและระบบทาส
ดีแลนน์ รูฟ มือปืนผิวขาววัย 21 ปี ซึ่งถูกจับกุมและโดนข้อหาหนัก 9 กระทงฐานฆาตกรรมสมาชิกกลุ่มศึกษาพระคัมภีร์ไบเบิลในโบสถ์เอมานูเอล เอ.เอ็ม.อี มีประวัติเขียนข้อความเหยียดเชื้อชาติลงในสื่อออนไลน์หลายครั้ง และยังถ่ายรูปคู่กับธงสมาพันธรัฐมาอวดลงสื่ออินเทอร์เน็ต
โดยปกติแล้ว ผู้ที่นิยมชมชอบธงชนิดนี้จะแขวนหรือประดับธงไว้บนเสื้อ เนื่องจากเห็นว่าเป็นสัญลักษณ์แทนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของรัฐเซาท์แคโรไลนา และเพื่อเป็นการรำลึกถึงประชาชนหลายแสนคนในรัฐฝ่ายใต้ที่เสียชีวิตในสงครามกลางเมืองช่วงปี ค.ศ. 1861-1865
ในมุมกลับกัน ผู้ที่ต่อต้านธงสมาพันธรัฐกลับมองว่า ธงชนิดนี้สื่อถึง “ระบบทาส” ที่เคยรุ่งเรืองในอดีต และกลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้ที่ปลุกระดมการแบ่งแยกสีผิวและเกลียดกลัวคนต่างชาติในสหรัฐอเมริกา
นิกกี ฮาลีย์ ผู้ว่าการหญิงแห่งรัฐเซาท์แคโรไลนา ได้ออกมาเรียกร้องให้สมาชิกสภาท้องถิ่นแห่งรัฐปลดธงสัญลักษณ์ดังกล่าวออกจากอาคารที่ทำการของรัฐในเมืองโคลัมเบีย หลังจากที่ธงชนิดนี้เคยปลิวสะบัดอยู่ที่นี่มานานถึงครึ่งศตวรรษ
“ถึงเวลาแล้วที่เราจะเอาธงนี้ออก” ฮาลีย์ ซึ่งสังกัดพรรครีพับลิกัน เปิดแถลงข่าวที่เมืองเอกของรัฐเซาท์แคโรไลนา ซึ่งอยู่ห่างจากโบสถ์คนผิวสีในเมืองชาร์ลสตันที่ถูกหนุ่มหัวรุนแรงกราดยิงประมาณ 160 กิโลเมตร
“ธงนี้แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของอดีต แต่ไม่ใช่ตัวแทนอนาคตของรัฐที่ยิ่งใหญ่แห่งนี้”
การถกเถียงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองต่างเชื้อชาติกำลังเป็นประเด็นทางสังคมที่ร้อนแรงในสหรัฐฯ หลังเกิดคดีตำรวจผิวขาวยิงสังหารคนดำหลายต่อหลายครั้ง ซึ่งทำให้เกิดขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองภายใต้สโลแกน “Black lives matter” หรือ “ชีวิตคนผิวสีมีความหมาย”
คาร์ล สมิธ หนุ่มผิวสีวัย 29 ปีในเมืองชาร์ลสตัน ระบุว่า “ธงอย่างเดียวที่เราควรจะใช้ก็คือธงชาติสหรัฐฯ... ทำไมพวกคุณถึงสนับสนุนธงที่สร้างความแตกแยก มากกว่าธงที่ทำให้ผู้คนร่วมกันเป็นหนึ่ง”
อย่างไรก็ดี โฆษกกลุ่ม Sons of Confederate Veterans ซึ่งยกย่องเกียรติภูมิของทหารที่เสียชีวิตในสงครามกลางเมืองภาคใต้ เตือนว่าทุกฝ่ายไม่ควรด่วนตัดสินใจเรื่องนี้เร็วเกินไป
“มันเป็นเวลาที่แย่ที่สุดที่เราจะมาคิดเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์... ระบบทาสไม่ใช่ตราบาปของรัฐทางใต้ แต่ถือเป็นตราบาปของชาติอเมริกันทั้งหมด เพราะมันคือรากฐานความเจริญรุ่งเรืองของวอลล์สตรีทและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในทุกวันนี้”
ภาคธุรกิจสหรัฐฯ ก็เริ่มมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อกระแสสังคม โดยบริษัทค้าปลีก วอลมาร์ท และ เซียร์ส โฮลดิงส์ ได้ประกาศถอดสินค้าทุกรายการที่มีรูปธงสมาพันธรัฐออกจากชั้นวาง
โฆษกวอลมาร์ท ชี้ว่า บริษัทไม่ต้องการให้สินค้าที่จำหน่ายสร้างความไม่พอใจต่อคนกลุ่มใด
“เราได้สั่งถอดสินค้าทุกชนิดที่มีรูปธงสมาพันธรัฐอเมริกาออกจากระบบจัดวาง ทั้งหน้าร้านและเว็บไซต์” ไบรอัน นิค โฆษกวอลมาร์ท ระบุในคำแถลง
ด้าน เซียร์ส โฮลดิงส์ ซึ่งเป็นเจ้าของเครือซุปเปอร์มาร์เก็ตเซียร์ส (Sears) และเคมาร์ท (Kmart) ไม่ได้จำหน่ายธงสมาพันธรัฐอเมริกาอยู่แล้ว แต่ได้มีมาตรการเพิ่มเติมโดยถอดสินค้าของบุคคลที่ 3 ที่วางจำหน่ายในตลาดสินค้าออนไลน์ของทางบริษัทออกด้วย
สังคมแห่งการเหยียดผิว
ประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อวิทยุเมื่อวันจันทร์(22 มิ.ย.)ว่า เหตุกราดยิงโบสถ์คริสต์ที่รัฐเซาท์แคโรไลนาสะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐฯ ยังไม่พ้นจากการเป็นสังคมเหยียดผิว และถึงขั้นเอ่ยคำต้องห้ามคือ “นิโกร” (nigger) ซึ่งเป็นคำเรียกดูถูกคนผิวสี และยังถือเป็นคำหยาบคายที่สุดคำหนึ่งในภาษาอังกฤษ เพื่อเน้นถึงความเลวร้ายของอาชญากรรมความเกลียดชังที่อเมริกากำลังเผชิญอยู่
“เรายังขจัดปัญหานี้ไม่ได้” โอบามา บอกกับพิธีกร มาร์ก มารอน แห่งสถานีวิทยุพ็อดแคส WTF
“แค่เราไม่พูดคำว่านิโกรในที่สาธารณะเพราะมันไม่สุภาพ ยังไม่ใช่มาตรวัดว่าสังคมของเราเหยียดผิวอยู่หรือไม่”
คำต้องห้ามคำนี้อยู่คู่ประวัติศาสตร์สหรัฐฯ มาอย่างยาวนาน แต่แทบจะไม่มีใครเอ่ยมันในที่สาธารณะ โดยเฉพาะบรรดานักการเมือง แต่ โอบามา ตัดสินใจพูดคำนี้ออกสื่อเพราะต้องการให้กระทบใจคนอเมริกัน จนนำไปสู่การทบทวนจิตสำนึกของตนเอง
โจช เออร์เนสต์ โฆษกทำเนียบขาว ออกมายอมรับว่า ถ้อยคำที่ประธานาธิบดีใช้โต้แย้งในสถานการณ์เช่นนี้ถือว่ามีผลยั่วยุพอสมควร แต่ก็ยืนยันว่า โอบามา ไม่รู้สึกเสียใจเลยที่เลือกใช้คำนี้