เอเจนซีส์/ASTVผู้จัดการออนไลน์ – หลังจากเหตุการณ์บุกกราดยิงโบสถ์เอมมานูเอล แอฟริกัน เมโธดิสต์ เอพิสโคพาล( Emanuel African Methodist Episcopal )อันเก่าแก่ในชาร์เลสตัน( Charleston) รัฐเซาท์แคโรไรนา ทำให้ล่าสุดประธานาธิบดีบารัค โอบามาให้สัมภาษณ์สดผ่านรายการวิทยุเมื่อเย็นวานนี้(22)ถึงปัญหาสงครามเหยียดผิวในสหรัฐฯ โดยใช้คำต้องห้าม N-Word ที่เรียกแอฟริกันอเมริกัน “ไม่ใช่คน” ในคำอธิบายว่า สหรัฐฯยังไม่ได้แก้ปัญหาการกีดกันสีผิวให้หมดไป และความเกลียดชังคนผิวดำอยู่ใน DNA ของอเมริกันที่ส่งผ่านระหว่างรุ่นต่อรุ่น ในขณะที่ล่าสุดในวันเดียวกัน ผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไรนา นิกกี ฮาเลย์ (Nikki Haley) ได้ออกมาเรียกร้องให้สภาท้องถิ่นรัฐเซาท์แคโรไรนาได้ร่วมเปิดการประชุมลงมติอนุญาตให้ปลดธงคอนเฟดเดอเรต (Confederate flag)หรือธงสมาพันธรัฐทางใต้ ออกจากเหนือที่ทำการรัฐ รวมไปถึงที่ทำการรัฐสภาเซาท์แคโรไลนา
บีบีซี สื่อังกฤษ และ NBC News รายงานเมื่อวานนี้(22)ว่า เมื่อวานนี้(22) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บารัค โอบามา ได้ให้สัมภาษณ์สดผ่านรายการวิทยุถึงปัญหากีดกันสีผิวซึ่งนำไปสู่เหตุกราดยิงกลางโบสถ์เอมมานูเอล แอฟริกัน เมโธดิสต์ เอพิสโคพาล( Emanuel African Methodist Episcopal )อันเก่าแก่ในชาร์เลสตัน( Charleston) รัฐเซาท์แคโรไรนา ก่อนหน้านี้ โดยโอบามายืนกรานว่า “การกีดกันสีผิวยังคงหยั่งรากลึกและเติบโตอย่างมั่นคงในอเมริกา” และอเมริกาไม่ได้แกปัญหานี้จบสิ้นไปในช่วงสงครามกลางเมืองที่นำไปสู่การเลิกทาสเหมือนที่หลายๆคนเข้าใจ
“การเหยียดหยามทางสีผิวยังคงมีอยู่ เรายังคงไม่ได้แก้ปัญหานี้ให้หมดไป และไม่ใช่เป็นเพียงเพราะว่า เพียงแต่พยายามทำตัวให้สุภาพโดยไม่ใช้คำเรียกที่จงใจ “ระบุว่าแอฟริกันอเมริกันไม่ได้ถูกจัดเป็นมนุษย์เท่านั้น” หรือที่เข้าใจโดยทั่วไปว่า เป็น N-Word โดยทั่วไป เพราะสิ่วนั้นไม่ได้ตัดสินว่า ความต้องการกีดกันทางเชื้อชาตินั้นยังคงอยู่หรือไม่” โอบามาให้ความเห็น
และประธานาธิบดีสหรัฐฯยังกล่าวต่อไปว่า “มันไม่ใช่แค่การเปลี่ยนการเหยียดทางสีผิว สังคมอเมริกันไม่สามารถลบแผลอักเสบฝังลึกให้หายได้ภายในเพียงแค่ชั่วข้ามคืน ไม่สามารถทำได้กับทุกสิ่งที่เกิดขึ้นจริงเมื่อ 200-300ปีมาแล้วอย่างแน่นอน"
โดยโอบามาให้สัมภาษณ์กับนักจัดรายการวิทยุออนไลน์พอดแคสชื่อกระฉ่อนฝีปากกล้าในสหรัฐฯ มาร์ก มารอน( Marc Maron)
โอบามากล่าวต่อไปว่า ถึงแม้ว่าสถานการณ์ความเกลียดชังระหว่างสีผิวจะดีขึ้นในช่วงเวลาที่เขาเกิด จากการที่โอบามาถือกำเนิดในแม่ที่เป็นอเมริกันผิวขาว และพ่อเป็นนักเรียนแอฟริกันผิวดำ แต่ทว่าโอบามายืนยันว่าความเกลียดชังผิวสีติดอยู่ใน DNA ของชาวสหรัฐฯที่ส่งผ่านรุ่นต่อรุ่น
NBC News รายงานเพิ่มเติมว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯยังแสดงความห่วงใยอย่างมากต่อปัญหาการครอบครองอาวุธปืนในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในสิทธิของพลเรือนสหรัฐฯที่จะสามารถจะกระทำได้นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ แต่ทว่าอิทธิพลของ NRA องค์กรอาวุธปืนแห่งชาติสหรัฐฯนั้นมีอิทธิพลมากจนไม่สามารถทำให้กฏหมายควบคุมการครอบครองอาวุธเข้าสาสภาและออกเป็นกฎหมายสำเร็จ หลังเกิดเหตุสังหารโหดนิวทาวน์ รัฐคอนเนกติกัต ปี 2012 ที่มีเด็กนักเรียนชั้นประถมและครูจำนวนไม่ต่ำกว่า 20 คนถูกสังหารโหดอย่างเลือดเย็น
“ผมจะบอกอะไรให้ว่าในช่วงเหตุเกิดโรงเรียนประถมแซนดีฮุก นิวทาวน์ เกิดเหตุ และมีเด็กประถมตัวเล็กๆร่วม 20 ชีวิตถูกสังหารโหด แต่สภาคองเกรสกับไม่ทำอะไร และนั่นเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกขยะแขยงอย่างบอกไม่ถูก ผมรู้สึกขยะแขยกเอามากๆ” ประธานาธิบดีสหรัฐฯเปิดใจผ่านการให้สัมภาษณ์สด
อย่างไรก็ตามบีบีซี สื่ออังกฤษวิเคราะห์ว่า ถึงแม้ในการให้สัมภาษณ์แบบเจาะใจของประธานาธิบดีสหรัฐฯจะใช้คำพูดที่ตรงและแรงในการแสดงจุดยืนในเรื่องปัญหาสีผิวในอเมริกา แต่ทว่าโดยทั่วไปแล้ว โอบามายังคงสงวนท่าทีในเรื่องนี้ โดยเมื่อเขาให้สัมภาษณ์อีกครั้งในภายหลังที่ทำเนียบขาว ประธานาธิบดีสหรัฐฯยังคงเน้นประเด็นปัญหาการควบคุมอาวุธปืนมากกว่าที่จะแตะเรื่องปัญหาการเหยียดหยามทางสีผิว
ในขณะเดียวกันสื่ออังกฤษยังวิเคราะห์ไปถึงธงคอนเฟดเดอเรต ซึ่งเป็นธงสัญลักษณ์ของรัฐทางใต้ที่ใช้เพื่อประกาศความต้องการมีทาสในการครอบครองเพื่อแยกตัวออกจากสหรัฐฯ และไดแลนน์ รูฟ (Dylann Roof) มือปืนผิวขาววัย 21 ปีใช้ธงสัญลักษณ์ร่วมในการก่อเหตุ ซึ่งบีบีซีชี้ว่า โอบามาไม่ได้กล่าวถึงธงเจ้าปัญหานี้ในการให้สัมภาษณ์ แต่ทว่าในวันศุกร์(19)ก่อนหน้านี้ โอบามาเลี่ยงที่จะออกความเห็นโดยตรง โดยกล่าวเพียงว่า ธงคอนเฟดเดอเรตสมควรที่จะถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์มากกว่าที่จะนำออกมาใช้ในปัจจุบัน
โดยในสหรัฐฯโดยเฉพาะในรัฐทางใต้ จะเห็นมีการประดับธงแสดงความต้องการมีทาสประดับอย่างเป็นทางการ และมีบางรัฐ เช่น รัฐมิสซิสซิปปี ได้รวมเอาสัญลักษณ์ของธงคอนเฟดเดอร์เรตรวมอยู่เป็นธงประจำรัฐ ในขณะที่รัฐเซาท์แคโรไลนาเลือกจะประดับธงนี้อย่างเป็นทางการร่วมกับธงชาติสหรัฐฯและธงประจำรัฐที่เป็นรูปต้นไม้
และยังไม่นับรวมไปถึงสัญลักษณ์ธงเฟดเดอเรต หรือธงสมาพันธรัฐทางใต้ ถูกผลิตขึ้นอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเนกไทสำหรับสวมใส่ และรวมไปถึงสติกเกอร์ติดกันชนรถเพื่อประกาศเจตจำนงของเจ้าของรถที่นิยมมากในรัฐเทกซัส เหมือนกับที่นักจัดรายการวิทยุในแอเอ คาเรล ได้กล่าวว่า ชาวอเมริกันผิวขาวในรัฐทางใต้ไม่เคยยอมรับว่า พวกเขาได้แพ้แล้วในสงครามกลางเมือง และสงครามนั้นได้จบสิ้นแล้ว แต่ทว่าสหรัฐฯมีประธานาธิบดีที่ปราดเปรื่องเช่น อับราฮัม ลินคอล์น ที่ต้องการรวมทุกรัฐให้ยังคงเป็นประเทศสหรัฐฯโดยไม่แม้แต่จะกล่าวว่า การตั้งตัวเป็นอริกับรัฐบาลกลางของบรรดารัฐทางใต้ และประกาศแยกตัวนั้นแท้จริงแล้ว คือการ “เป็นกบฏ และทรยศ” ต่อแผ่นดินอเมริกา แต่ทว่าลินคอล์นกลับถือ เป็นการตัดสินใจของประชาชนของรัฐที่ต้องการต่อต้านกับรัฐบาลกลางเพื่อแสดงจุดยืนของตนเอง จากสาเหตุที่ว่า แต่ละรัฐในอเมริกากำเนิดเป็นรัฐมาก่อนที่จะเป็นประเทศสหรัฐฯ และดังนั้นอำนาจรัฐจึงเกือบจะมีอำนาจเทียบเท่ากับรัฐบาลกลางสหรัฐฯที่คนทั่วไปเรียกว่า วอชิงตัน เพราะพวกเขา เช่น ประชาชนรัฐเทกซัสเห็นว่า วอชิงตันอยูไกล และเหตุใดจึงต้องมีอิทธิพลเหนือชีวิตความเป็นอยู่ของเขาเมื่อเทียบกับรัฐที่อยู่ใกล้ชิดกว่า อีกทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลประจำรัฐมีหน้าที่แยกจากกันสิ้นเชิง
นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯในยุด บารัค โอบามา ประชาชนรัฐเทกซัสเดือดดาลต่อผลการเลือกตั้ง และรวมตัวลงรายชื่อส่งไปยังวอชิงตันเพื่อขอประกาศแยกตัวเป็นรัฐอิสระไม่ขึ้นกับสหรัฐฯอีกต่อไป และในช่วงนั้นบัมเปอร์สติกเกอร์จะติดให้เห็นโดยทั่ว ไม่ว่าจะเป็น ธงโลนสตาร์ประจำรัฐ ข้อความ และอื่นๆ
และที่มากไปกว่านี้ จากการรายงานของสื่อต่างๆจะพบว่า สงครามระหว่างสีผิวในอเมริกาดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะนับตั้งแต่บารัค โอบามาขึ้นมารับตำแหน่ง และยังเป็นผู้นำสหรัฐฯเพียงคนเดียวที่ถูกขุดคุ้ยถึงชาติกำเนิด และศาสนาที่นับถือจากทางฝ่ายรีพับลิกัน และประชาชนที่ไม่ต้องการเห็นคนผิวสีนั่งอยู่ในทำเนียบขาว
โดยโอบามาถูกเรียกร้องให้แสดงใบสูติบัติว่าเกิดในรัฐฮาวายจริง รวมไปถึงยังมีหลายฝ่ายเคลือบแคลงว่าเขาเป็นคริสเตียนจริงหรือไม่ จากการที่มีชื่อกลางคือ ฮุสเซน และในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯโดยเฉพาะในสมัยที่ 2 มีชาวอเมริกันผิวสีจำนวนมากต้องจบชีวิตจากฝีมือระบบกระบวนการยุติธรรมสหรัฐฯนับตั้งแต่คดีเทรวอน มาร์ติน วัยรุ่นผิวสีรัฐฟอลริดาในปี 2012 มาจนถึงล่าสุดเหตุการณ์กราดยิงรัฐเซาท์แคโรไลนา ซึ่งที่ผ่านมาประธานาธิบดีสหรัฐฯหลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงปัญหานี้มาโดยตลอด และในปีแรกของการเข้ารับตำแหน่ง เขาไม่ได้ไปเข้าร่วมการประชุมเกี่ยวกับปัญหาสีผิว ทั้งๆที่ประชาชนแอฟริกันอเมริกันฝากความหวังไว้เมื่อครั้งการเลือกตั้งปี 2009
และเมื่อวานนี้(22) สื่ออังกฤษยังรายงานถึง การเรียกร้องของนิกกี ฮาเลย์ (Nikki Haley) ผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนา สภาท้องถิ่นรัฐเซาท์แคโรไรนาได้ร่วมเปิดการประชุมลงมติอนุญาตให้ปลดธงคอนเฟดเดอเรต ออกจากเหนือที่ทำการรัฐ รวมไปถึงที่ทำการรัฐสภาเซาท์แคโรไลนา
โดยฮาเลย์ได้กล่าวว่า “ขอให้ปลดธงอันเป็นสัญลักษณ์แบ่งแยกพวกเราออกไป” เพื่อขอให้สภารัฐเซาท์แคโรไลนาลงมือหาฉันทามติสนับสนุนข้อเรียกร้องนี้อย่างเป็นทางการ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ เธอยืนกรานที่จะให้ธงเจ้าปัญหานี้ยังคงอยู่ต่อไป
อย่างไรก็ตาม กลุ่มลูกหลานทหารคอนเฟดเดอร์เรชันในสงครามกลางเมืองประกาศจะสู้ต่อไปเพื่อทำให้ธงผืนนี้ยังสามารถปลิวไสวเหนือที่ทำการหน่วยงานรัฐบาลรัฐเซาท์แคโรไลนาต่อไปได้
ทั้งนี้บีบีซีรายงานว่า มีประชาชนชาวเซาท์แคโรไรนาที่ได้นำดอกไม้มาวางที่โบสถ์ในจุดเกิดเหตุกล่าวว่า “ชาวผิวสีในรัฐเซาท์แคโรไลนาทุกคนที่ได้พบต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ธงคอนเฟดเดอร์เรตต้องถูกปลดลง เพราะเป็นการหวนให้รำลึกถึงความโหดร้ายช่วงความเป็นทาสในยุคนั้น”
ซึ่งในสมัยนั้น “ทาสแอฟริกันอเมริกันถูกจัดให้เป็นสัตว์เลี้ยงที่คล้ายมนุษย์ สามารถผลิตลูกและนำไปขายต่อ นายผิวขาวสามารถข่มขืนทาสได้”
ในขณะเดียวกันยังมีอีกบางส่วนที่แสดงความเห็นยังคงต้องการให้มีธงคอนเฟดเดอร์เรตประดับเพราะเชื่อใน “เกียรติยศแห่งรัฐทางใต้” เพราะถือว่าธงผืนนี้เป็นการแสดงสัญลักษณ์ของทางใต้ที่ยิ่งใหญ่ และเกิดขึ้นจริงในประวิติศาสตร์ถึงแม้ว่าจะต้องเกี่ยวโยงกับเรื่องที่โหดร้ายก็ตาม